แม้จะใช้ชีวิตมาด้วยตัวเองกันเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักตัวเองดีนัก นั่นทำให้แบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI (The Myers–Briggs Type Indicator) หรือ 16 personalities แบบทดสอบทางจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน และเป็นกระแสเป็นพิเศษในตอนนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นแบบทดสอบที่สามารถระบุคุณลักษณะเราได้อย่างแม่นยำ แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้ว ยังมีแบบทดสอบเกี่ยวกับบุคลิคภาพประเภทอื่นๆ แตกต่างกันไปให้เราได้รู้จักกับตัวเองมากขึ้น ซึ่งวันนี้ Mango Zero จะพาทุกคนไปรู้จักกัน แต่ก่อนจะไปเริ่มต้นทำแบบทดสอบตัวอื่นๆ ต้องขอขีดเส้นใต้ไว้ก่อนเลยว่า แบบทดสอบทุกประเภทนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจตัวเองและสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้แปลว่านิสัยเราจะเป็นแบบนั้นจริงๆ 100% เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรยึดถืออย่างเหนียวแน่น แค่เอามาเป็นแนวทางประกอบก็เพียงพอ MBTI (The Myers–Briggs Type Indicator) แบบทดสอบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ พัฒนาขึ้นโดย Isabel Briggs Myers และ Katharine C. Briggs ใช้วัดความฉลาดทางอารมณ์เพื่อเข้าใจถึงลักษณะนิสัยของตัวเอง โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทของการทำงาน ได้แก่ เปิดเผย แสดงตัว (Extroversion) – เก็บตัว (Introversion) ใช้ประสาทสัมผัส (Observant) – หยั่งรู้ (Intuition) ใช้ความคิด (Thinking) – ใช้ความรู้สึก (Feeling) ตัดสิน (Judgement) – รับรู้ (Prospecting) และใช้ตัวแปรทั้ง 8 คือ E I P S T F N J มาจัดเป็นชุด ชุดละ 4 ตัวอักษร ทำให้เกิดเป็นลักษณะบุคลิกภาพทั้งหมด 16 แบบ ซึ่งรูปการทำแบบทดสอบคือ เลือกประโยคที่แสดงถึงความเป็นตัวเองมากที่สุด และผลที่ได้รับจะแสดงออกมาเป็นตัวอักษร 4 ตัว อาทิ ENFP INTF เป็นต้น รูปแบบการนำไปใช้ : เข้าใจลักษณะนิสัยตัวเอง วิธีการทำงาน รูปแบบความสัมพันธ์กับคนอื่น สามารถทำแบบทดสอบได้ที่ https://www.16personalities.com/free-personality-test ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง (The Big Five) เป็นอีกหนึ่งในแบบหนึ่งการจัดกลุ่มบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมจากนักจิตวิทยา วิธีการวัดคือการให้คะแนนจากมากไปน้อย จากนั้นผลจะออกมาเป็นค่าคะแนน ยิ่งค่าคะแนนของแต่ละด้านสูง ยิ่งแปลว่ามีบุคลิกภาพโดดเด่นในด้านนั้น โดยลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างนี้ มีรหัสย่อว่า OCEAN ซึ่งมาจากนิยามของทั้ง 5 คุณลักษณะใหญ่ที่ครอบคลุม ดังนี้ ความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) หมายถึงการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบความท้าทาย และสิ่งที่ไม่เหมือนใคร ความพิถีพิถัน (conscientiousness) หมายถึงการเตรียมพร้อม ใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อย พิถีพิถันกับสิ่งที่อยู่ตรงงาน หรืองานที่ทำ และมักมีการวางแผนล่วงหน้าเสมอ ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) หมายถึงการเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่เขินอายที่จะเป็นคนเริ่มต้นบทสนทนา รักการพบปะผู้คน และคิดก่อนพูด ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) หมายถึงการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น มีความเข้าใจ มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) หมายถึงความสามารถในการเผลิญกับความกดดัน อารมณ์ที่ฉุนเฉียวหรือโต้ตอบไปตามสภาพแวดล้อมง่าย วิตกกังวล และตื่นตระหนก รูปแบบการนำไปใช้ : เข้าใจลักษณะนิสัยตัวเอง แบบไหนที่เป็นจุดแข็ง หรือสิ่งใดที่ควรปรับปรุง สามารถทำแบบทดสอบได้ที่ https://www.truity.com/test/big-five-personality-test DISC PERSONALITY แบบทดสอบทางจิตวิทยาหัวข้อนี้ เน้นไปที่ลักษะและพฤติกรรมในด้านการทำงานเป็นส่วนใหญ่ โดยจะวัดเป็น สามารถวัดพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ได้ 4 แบบ คือ D (Dominance), I (Influence), S (Steadiness) และ C (Compliance) ซึ่งเปรียบเป็นสัตว์ทั้ง 4 ชนิด (หรือที่หลายคนเรียกกันว่า สัตว์ 4 ทิศ) ดังนี้ กระทิง (Dominance) พร้อมพุ่งชนทุกสถานการณ์ มีความเป็นผู้นำสูง ชอบความท้าทาย ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ค่อนข้างเผด็จการ มีความสามารถในการมองภาพใหญ่ได้ดี แต่มักพลาดในรายละเอียดยิบย่อย อินทรี (Influence) ขึ้นชื่อว่านกอินทรี ก็ต้องบินด้วยความว่องไว มีความกระตือรือร้นสูง ชอบการเข้าสังคม มองโลกในแง่ดี รายล้อมด้วยคนรักและเอ็นดู เป็นผู้ที่สร้างสีสันได้เสมอ มักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และอาจไม่มีวินัยในบางครั้ง หนู (Steadiness) ชอบช่วยเหลือผู้อื่น สุภาพอ่อนโยน มักเป็นคนใจเย็น ทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่ตัดสินใจในทันที แต่จะใคร่ครวญและไตร่ตรองก่อนเสมอ เหมาะที่จะเป็นนักประสานงานได้เป็นอย่างดี หมี (Compliance) ช้าแต่ชัวร์ มีความเป็นระเบียบสูงมาก ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความสงสัยเยอะ เพราะไม่ต้องการความผิดพลาด แลต้องการคุณภาพของงานอย่างสูงสุด ค่อนข้างมีความอนุรักษ์นิยม รูปแบบการนำไปใช้ : ใช้ในการทำงาน ดูวิธีการที่เหมาะสมในการการติดต่อและทำงาน รวมไปถึงงานที่เหมาะกับแต่ละคน สามารถทำแบบทดสอบได้ที่ https://discpersonalitytesting.com/free-disc-test/ นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นอีกหนึ่งแบบทดสอบยอดฮิตที่ถูกนำมาใช้ในการทำงาน นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นการแบ่งคนออกเป็น 9 บุคลิกภาพ นั่นก็คือ 1. คนสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) เป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มีศีลธรรม เป็นผู้สอนที่ดี และมีมาตรฐานในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างสูง 2. ผู้ให้ (Giver) เป็นนักช่วยเหลือ ชอบทำงานอาสา เป็นนักประสานงานในทีมได้ดี เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น มักเป็นที่ชื่นชอบโดยทั่วไป 3. นักแสดง (Performer) มีเป้าหมายความสำเร็จที่ชัดเจน หลีกเลี่ยงความล้มเหลว ขยัน มีความรับผิดชอบมาก อาจดูเหมือนเป็นคนบ้างานในสายตาคนอื่น 4. คนโศกซึ้ง (Tragic Romantic) เป็นตัวของตัวเอง มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นคนอบอุ่น มีความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์อ่อนไหวง่าย 5. ผู้สังเกตการณ์ (Observer) เข้าใจอะไรได้อย่างลึกซึ้ง ชอบดูความเป็นไปของสภาพแวดล้อมเงียบๆ ไว้วางใจได้ เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รักษาระยะห่างและแบ่งขอบเขตความสัมพันธ์ต่างๆ อย่างชัดเจน 6. นักปุจฉา (Questioner) สนใจเรื่องราวรอบตัว มีไหวพริบ ชอบช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่น เชื่อถือได้ บางครั้งมีความระแวดระวังมากจนเกินไป ชอบทำความอะไรที่มีความแน่นอน และปรับตัวช้า 7. ผู้เสพสุข (Epicure) กระตือรือร้นเป็นที่หนึ่ง ชอบความสนุกสนาน มีพลังพร้อมทำสิ่งต่างๆ อย่างล้นเหลือ ชอบทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ อยู่นิ่งไม่ได้ และหุนหันพลันแล่นเป็นส่วนใหญ่ 8. ผู้ปกป้อง (Protector) มีความเป็นผู้นำสูง ชอบช่วยเหลือผู้ที่เสียเปรียบ ปกป้องสิทธิของตัวเอง กล้าหาญ ตัดสินใจได้ดี 9. ผู้ประสานไมตรี (Peacemaker) รักความสงบสุข หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง มักไม่เป็นผู้ตัดสินใจ ดื้อเงียบ ไม่ตัดสินคนอื่น โดยทั้ง 9 ลักษณ์นี้ แบ่งออกเป็น 3 หมวดหมู่ใหญ่ นั่นคือ ศูนย์ “ท้อง” ได้แก่ลักษณ์ที่ 8, 9, 1 ใช้สัญชาตญาณเป็นหลักในการตัดสินใจ ศูนย์ “ใจ” ได้แก่ลักษณ์ที่ 2, 3, 4 ใช้อารมณ์เป็นหลักในการตัดสินใจ ศูนย์ “หัว” ได้แก่ลักษณ์ที่ 5, 6, 7 ใช้ความคิดเป็นหลักในการตัดสินใจ รูปแบบการนำไปใช้ : ใช้ในการทำงาน ดูลักษณะนิสัยของเพื่อนร่วมงาน ดูวิธีการที่เหมาะสมในการการติดต่อและทำงาน สามารถทำแบบทดสอบได้ที่ http://bit.ly/EnneagramPersonality และก่อนจะนำไปให้เพื่อนหรือคนอื่น ขอย้ำอีกครั้งว่า แบบทดสอบทุกชนิดนั้น เป็นเพียงเครื่องมือเบื้องต้นในการทำความเข้าใจตัวเอง ควรใช้เพื่อแนวทางในการเรียนรู้ว่าเราและคนอื่นๆ เป็นคนแบบไหนเพียงคร่าวๆ เท่านั้น ไม่ใช่การกำหนดอย่างชัดเจนแบบตรงตามนั้นทุกข้อ เพราะเราทุกคนต่างก็มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใครกันอยู่แล้ว จริงไหม 😉 ที่มา: verywellmind, enneagramthailand