“เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับประโยคนี้กันอยู่แล้วแหละ และเมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กตัวเล็กๆ ที่เราเห็นในวันนี้ จะกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขับเคลื่อนสังคมในอนาคต โอกาสในการเรียนรู้เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่เกิดมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เดินในทางที่ชอบและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่พวกเขาต้องการ ในขณะที่เรากำลังเติบโตและเดินตามความฝันของตัวเอง แน่นอนว่าก็ยังมีเด็กบางกลุ่มที่ไม่ได้รับโอกาสนั้น แต่ยังมีองค์กรที่ให้ความสำคัญในการส่งมอบโอกาส เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับชีวิต โครงการ “NAVIGATING HAPPINESS” จาก AP Thailand ร่วมกับมูลนิธิสติ (SATI) เปิดพื้นที่โอกาส ให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้ ได้ค้นพบความสุขในการทดลองทำสิ่งที่ชอบ และได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง จัดคลาสเรียนแบบสร้างสรรค์เพื่อให้น้องๆได้จุดประกายเป้าหมายของชีวิต และนำไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต ในโครงการนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทักษะที่สนใจทั้งหมด 4 ด้าน คือ การแต่งเพลงแร็ป เต้น ถ่ายภาพ และทำอาหาร โดยมีตัวแทนเยาวชนกลุ่มเสี่ยง 4 คน ร่วมด้วย 4 คุณครูชื่อดังที่มาร่วมกันให้โอกาสถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ รวบรวมออกมาเป็นหนังสั้น The World Without Sky โลกของหนูไม่มีท้องฟ้า มาจัดแสดงให้เราได้ชมกันที่ SATI x AP CINEMA หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2019 เมื่อวันที่ 26 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรื่องราวในหนังเป็นอย่างไรบ้าง และในโครงการนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกัน เพลงแร็ปจากการสูญเสีย น้องตอง (นามสมมติ) เด็กชายวัย 14 ปี ตัวแทนเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่เติบโตในย่านที่เต็มไปด้วยยาเสพติดและโสภณี โดยได้เข้าร่วมโครงการมูลนิธิสติหลังจากที่สูญเสียคุณพ่อไป น้องตองได้รับโอกาสมาเรียนร้องเพลงและแต่งเพลงแร็ปโดยถ่ายทอดความรู้สึกจากการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต ได้คุณครูคนแรกอย่างเป้-บดินทร์ เจริญราษฎร์ หรือ เป้ MVL นักร้อง นักแต่งเพลง มาร่วมผลักดันความชอบในดนตรีและการแต่งเพลงแร็ปของน้องตองให้เกิดขึ้นจริง โดยเพลงของน้องตองก็ได้ถูกนำมาเป็นเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ด้วย “ผมดีใจนะ ที่เขาได้มาเจอกับดนตรีก่อนที่จะไปเจอกับสิ่งเร้าอย่างอื่น เพราะผมเชื่อว่าพวกเขาทุกคนสามารถเป็นคนดีได้ ถ้าได้รับการขัดเกลาและถูกชี้แนะไปในทางที่ถูกต้อง” ครูเป้เล่าความรู้สึก ภาพถ่าย สะท้อนความรู้สึก ชัช-ชัชวาล จันทโชติบุตร ช่างภาพมืออาชีพที่มาร่วมให้โอกาสกับน้องๆ ในครั้งนี้ ผ่านการ “บันทึกความรู้สึกด้วยภาพถ่าย” เปิดคลาสสอนถ่ายรูปให้กับเด็กๆ เพราะทางโครงการ และครูชัชเข้าใจเป็นอย่างดีว่าน้องๆ กลุ่มนี้มีกำแพงปิดกั้นตัวเองสูง พวกเขาต้องการพื้นที่ในการสื่อสารที่ไม่ใช่การพูด ซึ่งทำให้โต้ง (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 22 ปี ผู้เคยต้องโทษจำคุกตั้งแต่ยังเด็ก เข้า-ออกสถานพินิจอยู่หลายครั้ง ได้ค้นพบตัวเองว่าชอบถ่ายรูป และมีโอกาสได้นำเสนอผลงานภาพถ่ายของตัวเองออกมาเป็นภาพประกอบโปสเตอร์หนัง The World Without Sky “อยากให้น้องๆ เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นว่าตัวเองก็มีพรสวรรค์ มีความสามารถ และเขาก็ไม่ใช่คนที่ถูกสังคมทอดทิ้ง หรือคนที่ถูกผลักไปอยู่ในมุมมืดที่สุด” ครูชัชกล่าว เต้นเพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง ครูอู๋-เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี เป็นอีกหนึ่งคนที่ขนทีมจากโรงเรียนสอนเต้น D-Dance School มาร่วมสานฝันน้องๆ ในส่วนของครูอู๋จะเป็นการเล่าเรื่องราวว่าการเต้นสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ ได้ โดยได้โบว์ (นามสมมติ) เด็กสาวประเภทสองวัย 17 ปีที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับยาเสพติดและการขายบริการมาตั้งแต่เด็ก เป็นตัวแทนวาดลวดลายท่าเต้นในช่วงต้นของหนังเรื่องนี้ “อยากให้สังคมเรามีพื้นที่ของการให้โอกาสซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กๆ เหล่านี้ได้แสดงออกเพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม” ครูอู่กล่าว รวมทั้งยังเชื่อว่าศิลปะจะสามารถช่วยเยียวยาจิตใจ สร้างเป้าหมายชีวิตและคุณค่าให้กับเด็กๆ ได้ อาหาร จุดเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์ คุณครูคนสุดท้ายก็คือ เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ผู้ชนะจาก Top Chef Thailand ในโครงการนี้ เชฟตามได้พาน้องๆ ไปเปิดโลกการทำอาหาร ฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ลงไปบนเมนู และมีตัวแทนของการ “เรียนคิดสร้างสรรค์ผ่านอาหาร” เป็นยุ้ย (นามสมมติ) เยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับโอกาสจากการเรียนทำอาหารที่มูลนิธิสติ จนปัจจุบันได้พัฒนาฝีมือจนกลายเป็นเชฟประจำฟู้ดทรักของมูลนิธิสติ และที่สำคัญคือในงานนี้ ยุ้ยยังเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจสูตรป๊อปคอร์นทั้ง 3 รส สุดครีเอท รสปลาหมึกย่าง ไข่เค็มและนมข้นหวาน และเครื่องดื่มสูตรพิเศษที่แจกให้กับคนที่เข้ามาชมหนังและนิทรรศการได้ชิมกันอีกด้วย! เชฟตามกล่าวว่าการที่ได้เข้าไปสอนน้องๆ ในครั้งนี้ อยากจะให้เด็กๆ รู้พวกเขาสามารถทำอาหารเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองได้ หรืออย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง ก็อยากให้พวกเขาได้มีสมาธิและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สร้างสรรค์ และทุกครั้งที่มาสอน เธอก็สังเกตได้ว่าเด็กๆ ภูมิใจในผลงานของตัวเองทุกครั้ง ซึ่งมันก็ทำให้คนสอนอิ่มใจไปด้วย แบ่งปันโอกาส เริ่มได้ที่ตัวเรา ในปีผ่านมา โครงการนี้ยังพยายามสร้างการตระหนักรู้ถึงสาเหตุของปัญหา ด้วยการสะท้อนเสียงและเรื่องจริงจากเยาวชนกลุ่มเสี่ยงผ่านศิลปินชื่อดังหลากหลาย ที่ยินดีมาร่วมเป็นกระบอกเสียง เช่น ปอย-ตรีชฎา, ก้อย–รัชวิน, ครูเงาะ-รสสุคนธ์, ณัฐ ศักดาทร ในรูปแบบคลิปวิดีโอ เพื่อให้สังคมเห็นถึงปัญหาที่เด็กเหล่านี้เผชิญอยู่ ซึ่งการรับรู้นี้จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ซึ่งทาง AP Thailand ก็ได้เปิดโอกาสให้เราได้แบ่งปันความสุขให้น้องๆ โดยการโพสต์รูปตัวเรากับสัญลักษณ์รอยยิ้มบนมือบน Instagram พร้อมใส่ #NavigatingHappiness โดย 1 โพสต์ เท่ากับ AP Thailand บริจาคเงิน 50 บาท เข้าโครงการ Navigating Happiness และ มูลนิธิสติโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อนำไปสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์นี้ต่อเนื่องไปในอนาคต ทุกคนคงจะเห็นแล้วว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ และเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเปิดพื้นที่ให้โอกาสในการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแก่เด็กๆ เหล่านี้ได้ เพียงแค่เริ่มที่ตัวเราเองอย่างการเปิดใจ ให้โอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกในสิ่งที่รัก มาร่วมแบ่งปันความสุขให้กับน้องๆ ที่ Navigating-Happiness.com