ใน พ.ศ. นี้เราต่างก็รู้ดีว่าการจะมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายให้เพียงพอกับแผนในอนาคตได้นั้น แทบจะไม่สามารถทำได้หากมีรายได้เพียงช่องทางเดียว ทุกคนต่างมองหาอาชีพเสริมที่จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้อุ่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะชาว First Jobber ที่ต้องทำงานหาเงินสู้กับค่าครองชีพที่อัพเกรดขึ้นทุกวัน ๆ คอยดึงน้องเงินในกระเป๋าเราออกไปง่าย ๆ จะดีกว่าไหม ถ้าเราลองมาศึกษาวิธีการลงทุนให้น้องเงินช่วยทำงานแทนเราได้บ้าง ? แต่พอพูดถึงคำว่า “ลงทุน” แล้ว คนส่วนใหญ่ก็อาจจะคิดว่าดูเป็นเรื่องซับซ้อน ชวนเข้าใจยาก ต้องมีเงินเยอะ ๆ ก่อนที่จะเริ่มได้ ใครที่คิดแบบนั้นเหมือนกัน มารวมกันตรงนี้ได้เลย วันนี้ Mangozero จะขอสรุปเลคเชอร์กองทุนรวมฉบับเบสิคไว้ให้ศึกษาไปพร้อมกันได้เลยยย กองทุนรวมคืออะไร ? สำหรับกองทุนรวม ถ้าจะนิยามง่าย ๆ ก็คือ กองทุนที่ระดมเงินจำนวนน้อย ๆ จากนักลงทุนมารวมกัน จัดตั้งเป็นกองทุน โดยจะให้เราซื้อเป็นหน่วยลงทุน จากนั้นจะมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพ เข้ามาช่วยนำเงินนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ให้เราแทนตามนโยบายของแต่ละกองทุนที่แจ้งไว้ เพื่อให้ยอดเงินกองทุนเติบโตขึ้นเป็น “เงินปันผล” หรือ “ส่วนต่างกำไร” เป็นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนนั่นเอง การลงทุนในรูปแบบกองทุนรวมนี้ ใช้เงินลงทุนไม่มาก เริ่มต้นได้ตั้งแต่หลักร้อยบาทขึ้นไป ก็สามารถลงทุนได้แล้ว แถมบางกองทุนก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย จึงทำให้การลงทุนในกองทุนรวมนั้นน่าสนใจสำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่ทั้งนี้กองทุนรวมก็มีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบสินทรัพย์ที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุน ถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ก็มักจะตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั่นเอง เงินปันผล = ยอดเงินที่ทางกองทุนจะปันผลกำไรคืนให้ผู้ที่มาร่วมลงทุน (ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละกองทุน) ส่วนต่างกำไร = ราคาของหน่วยลงทุน เมื่อขายคืนในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา กองทุนรวมเหมาะกับใคร ? คนที่อยากลงทุน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คนที่ไม่เวลาติดตามข่าวสาร ไม่มีความรู้เรื่องหุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ คนที่ต้องการออมเงิน เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ลดหย่อนภาษีได้ คนที่มีเงินจำกัด แต่อยากลงทุนให้เงินงอกเงย ประเภทของกองทุนรวม กองทุนรวมแต่ละประเภทมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมนั้นเลือกไปลงทุน แต่ก็แน่นอนว่า ‘High Risk High Return’ ล่ะนะ ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ผลตอบแทนก็ยิ่งสูงเท่านั้น ซึ่งในที่นี้เราจะแบ่งประเภทกองทุมรวมตามประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนรวมนำไปลงทุนให้เห็นกันประมาณ 5 แบบ 1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี มีสภาพคล่องสูง เหมาะกับ : ผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง, ต้องการพักเงินกองทุนหุ้นในช่วงที่ผลตอบแทนไม่ดี 2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, ตั๋วเงินคลัง, บัตรเงินฝากของธนาคาร, ตั๋วสัญญาใช้เงิน, ตั๋วแลกเงิน, หุ้นกู้เอกชน เหมาะกับ : ผู้ที่ลงทุนระยะยาวได้ต่ำถึงปานกลาง 3. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) ลงทุนในตราสารทุนประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, ใบสำคัญแสดงสิทธิ, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 80% เหมาะกับ : ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง, ผู้ที่ชอบการลงทุนหุ้น แต่ไม่มีเวลาบริหารการลงทุน 4. กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment Fund) ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน สินค้าเกษตร ตราสารอนุพันธ์ที่ไม่ใช่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน เหมาะกับ : ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง, ผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม 5. กองทุนรวมผสม (Multi-Asset Fund) กระจายการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ และตราสารทุน เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงของเงินที่ลงทุนมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 80% เหมาะกับ : ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง, ผู้ที่ยังเป็นมือใหม่ ความรู้เรื่องหุ้นยังไม่แน่น แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดูยังไงว่าเมื่อไหร่ได้กำไร-ขาดทุน ? เราสามารถดูผลการดำเนินงานของกองทุนที่สนใจได้จาก ‘มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ’ หรือ Net Asset Value (NAV) NAV คืออะไร? NAV คือ มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุน หลังหักค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนแล้ว โดยจะคิดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตามราคาตลาดของแต่ละหลักทรัพย์ที่กองทุนถือครองในแต่ละวัน (Mark to Market) เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป NAV บอกอะไรได้บ้าง? ตัวเลข NAV นี้ ตัวเลขแสดงราคาซื้อหรือราคาขายคืนของกองทุนรวม หรือที่เรียกว่า ‘NAVต่อหน่วย’ ซึ่งจะสะท้อนให้เราเห็นถึง ผลดำเนินการของกองทุนว่าเติบโตขึ้นไหม ได้กำไรหรือขาดทุน นั่นเอง ตัวอย่างเช่น : กองทุน A ราคาซื้อครั้งแรก 10 บาท/หน่วย ผ่านไป 1 ปี NAV ต่อหน่วยอยู่ที่ 12 บาท/หน่วย แปลว่าเราได้กำไร ขณะที่กองทุน B ราคาซื้อครั้งแรก 10 บาท/หน่วย ผ่านไป 1 ปี NAV ต่อหน่วยอยู่ที่ 8 บาท/หน่วย แปลว่าเราขาดทุนนั่นเอง จะเริ่มซื้อกองทุนต้องเตรียมตัวยังไง ? สำหรับมือใหม่แล้ว ก่อนจะเริ่มซื้อกองทุนซักตัว ลองสำรวจตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมอย่างมั่นใจกันดีกว่า Step 1 : รู้จักตัวเอง เพื่อตามหากองทุนที่ใช่ และเราสุขใจที่จะซื้อ เราก็ต้องตั้งเป้าหมายของตัวเองให้เห็นภาพชัดก่อนว่า เราต้องการเก็บเงินนี้ไปเพื่ออะไร ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ ภายในกี่ปี รวมไปถึงสุขภาพทางการเงินของตัวเองตอนนี้ มีเงินเหลือมาลงทุนได้เท่าไหร่ ที่สำคัญ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” ดังนั้นควรรู้ตัวว่าตัวเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละเป้าหมาย โดยอาจเริ่มจากการเขียนเป้าหมายเงินที่ต้องการใช้ภายในกี่ปี ที่สำคัญลองทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของเราเองไว้ แบบประเมินความเสี่ยง > คลิก Step 2 : เข้าใจภาวะการลงทุน สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจก่อนเริ่มซื้อกองทุนก็คือ การวิเคราะห์ภาพรวมการลงทุนในขณะนั้น ทิศทางเศรษฐกิจเหมาะที่จะลงทุนประเภทต่าง ๆ หรือไม่ เพราะกองทุนที่เราเลือกอาจไม่ได้มีผลตอบแทนที่ดีในทุกภาวะเศรษฐกิจได้ ถ้าเราพอคาดคะเนได้ ก็จะเลือกกองทุนที่ถูกใจได้ง่ายขึ้น เช่น หากอยู่ในภาวะตลาดหุ้นตกต่ำ หากคุณเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจจะเลือกลงทุนกองทุนรวมหุ้นขนาดเล็ก เพื่อรอเสี่ยงรับผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้ ขณะที่ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ไม่พร้อมจะขาดทุน ในภาวะตลาดหุ้มตกแบบนี้ อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทใหญ่ ๆ ก็จะมีความมั่นคงและราคาหุ้นไม่ผันผวนไปตามตลาดเกินไป อุ่นใจกว่า เป็นต้น Step 3 : เลือกกองทุนที่ใช่ ‘กองทุนที่ใช่ ก็เหมือนคนที่ใช่’ จะตัดสินใจไปต่อด้วยกันทั้งที ก็ต้องดูให้ดีให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะงั้นเราจึงควรศึกษาข้อมูลของกองทุนโดยละเอียดก่อน เพื่อเปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อยก่อนจะเจอคนที่ใช่สุด ๆ สำหรับตัวเอง โดยอาจดูจาก ‘หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน (Prospectus)’ และ ‘หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet)’ ซึ่งจะมีข้อมูลที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้ ประเภทของกองทุนรวมและนโยบายการบริหารกองทุนรวม ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เพื่อดูความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) และกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อื่นๆ ที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกัน รายละเอียดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย และค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บ ใครสนใจสามารถศึกษาวิธีอ่าน Fund Fact Sheet เพิ่มเติมได้จากคลิปนี้เลย >> คลิก Step 4 : เปิดบัญชีซื้อขายกองทุน เมื่อเจอกองทุนรวมที่ใช่แล้ว ก็ไปเปิดบัญชีซื้อขายกันได้เลย โดยไปติดต่อขอเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวมกับ ‘บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)’ ที่ดูแลกองทุนนั้น ๆ โดยในการซื้อครั้งแรก เขาก็จะมีให้กรอกคำขอเปิดบัญชีกองทุนรวมและคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่ บลจ. แต่ละแห่ง ซึ่งหลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้ว บลจ. จะออกหลักฐานยืนยันการลงทุนให้ แต่ในครั้งถัดไป หากซื้อเพิ่มหรือขายคืนกองทุนเดิม ก็สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านทางอินเตอร์เน็ต ตู้เอทีเอ็ม และโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครจำได้หมด ไม่ต้องย้อนไปอ่านบางช่วงใหม่ และสามารถลงทุนในกองทุนรวมด้วยตัวเองได้คล่องปรื๋อ ขอปรบมือให้เลย… แต่ถ้าไม่ใช่ ปล่อยให้มืออาชีพเขาช่วยเราง่ายกว่า และไม่ต้องไปหาข้อมูลหลายที่ ไม่ต้องไปธนาคาร ไม่ต้องไปโบร๊กเกอร์ไหน ลงทุนเองได้จบในแอปเดียว มีคนทำข้อมูลสรุปกองทุนมาให้เสร็จสรรพ …. ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง แอป FinVest ที่ KBank, LU International และ Robowealth เพิ่งร่วมกันเปิดตัวไป เพื่อมาช่วย “ติดปีกการลงทุนให้คุณ” ให้ FinVest ช่วย “ติดปีกการลงทุนให้คุณ” ง่ายกว่าเยอะ แอปพลิเคชัน ‘FinVest’ คือ แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการลงทุนที่ทำให้นักลงทุนมือใหม่เข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น เพราะ ‘FinVest’ ได้รวบรวมข้อมูลทั้งความรู้ด้านการลงทุน แนะนำกองทุนน่าสนใจอย่างเป็นกลาง โดยรวบรวมกองทุนดี ๆ ไว้อย่างหลากหลายจาก บลจ. ชั้นนำในไทย 15 บลจ. ให้คุณลงทุนได้แล้ววันนี้ นอกจากนี้ จะมีกองทุนจาก บลจ.ชั้นนำจากทั่วโลกให้เลือกซื้อกันได้ ในช่วงต้นปี 2564 ทั้งที่ปกติการซื้อกองทุนต่างประเทศเองโดยตรงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย (บน FinVest จะซื้อกองทุนที่ลงทุนโดยตรงในแบรนด์ดัง ๆ ระดับโลกอย่าง Apple ก็ทำได้!) แถมยังเปิดบัญชีซื้อขายได้ง่าย ๆ ในมือถือตัวเอง โดยไม่ต้องเดินทางไปเปิดบัญชีซื้อขายให้ยุ่งยาก เพียงกรอกข้อมูลสมัคร ทำแบบทดสอบวัดระดับความเสี่ยงเพื่อให้เลือกกองทุนได้อย่างตรงใจที่สุด จากนั้นเติมเงินเข้า Wallet ในแอป FinVest เท่านี้ก็สามารถซื้อกองทุนที่ชอบได้ทั่วโลกแล้ว พิเศษสำหรับช่วงเปิดตัว เมื่อดาวน์โหลดและเปิดบัญชีลงทุนสำเร็จ รับเงินเข้าบัญชี FinVest 200 บาทเป็นเงินขวัญถุงให้ซื้อกองทุนต่อได้เลย โปรโมชั่นนี้มีตั้งแต่วันนี้ 17 พ.ย. 63 – 31 ธ.ค. 63 เลยนะ ใครสนใจก็เข้าไปลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘FinVest’ เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/377BRjE หรือทาง FinVest Facebook Fan Page: @finvestapp Line id: @finvest หรือโทร 02-026-6222 กันได้เลย