Mango Zero

Sneak Peek! พาชม ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรครั้งใหม่ของ มิวเซียมสยาม เปิดให้เข้าจริง 2 ธ.ค.60

หลังจากที่ปิดเพื่อรีโนเวตไปเมื่อต้นปี 59 มิวเซียมสยามก็พร้อมจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคมนี้แล้ว และครั้งนี้ยังมาในรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเสปต์ ‘ถอดรหัสไทย’ เป็นการเปลี่ยนโฉมนิทรรศการถาวรชิ้นเก่าที่เปิดมาเป็นเวลากว่า 8 ปี นับเป็นการเปลี่ยนแปลงคร้ังยิ่งใหญ่เลยทีเดียว (ใช้เวลาดำเนินการสร้างกว่า 18 เดือน!)

ทางแมงโก้ได้รับเชิญให้ไปร่วมชมนิทรรศการรอบสนีคพีค (พีค พีค พีคคค) พร้อมกับสื่อมวลชนอีกไม่กี่เจ้า ถือว่าพิเศษมากๆ โดยในครั้งนี้เราจะได้ชมทั้งหมด 6 ห้องจาก 14 ห้อง มาดูกันว่าเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง และพีคยังไง!!

‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรครั้งใหม่นี้ มีการปรับให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น จากที่กระแสช่วงหลังนี้เรามักจะมีข้อวิพากษ์กันว่า ‘อะไรคือไทยแท้ ความเป็นไทยอยู่ที่ไหน?’ ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้นี่แหละ ที่จะให้ทุกคนได้มาร่วมเดินชมและตระหนักคิดไปพร้อมๆ กัน ในรูปแบบของตัวเอง โดยเชื่อว่าความเป็นไทยไม่มีถูกผิด ศิลปะเองก็เช่นเดียวกัน อยู่ที่เราจะเลือกคิดในมุมมองที่ต่างกันไป ซึ่งความเป็นไทยอาจเป็นการผสมผสานจากศิลปะหลายๆ ยุค หลายๆ ประเทศ แต่ยังไงก็ตามเมื่อผสมออกมา ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์จนเมื่อเราเห็นเราจะตอบได้ว่านี่แหละ..ความเป็นไทย

 

 

มาชมทั้ง 6 ห้องไปพร้อมกันเลย

1. เลดี้กาก้าสวมชฎา

ห้องนี้จะเล่นกับประเด็นสังคมที่มักมีการวิพากษ์ถึงความเป็นไทย ส่วนตัวเราเองเคยมีโอกาสได้ฟัง TEDxBangkok ในหัวข้อ “ใด ๆ ในโลกล้วนคอลลาจ” – คุณนักรบ มูลมานัสศิลปินภาพคอลลาจ ใน TED นั้นมีการพูดถึงความเป็นไทย ว่าความเป็นไทยคืออะไร และอะไรคือไทยแท้?

จริงๆ แล้วทุกสิ่งก็เกิดจากการคอลลาจทั้งนั้น เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน จนเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งเป็นหลักการคิดเดียวกันกับในห้องนี้เลย ที่จะมีผลงานแสดงให้เราได้วิพากษ์กัน ทั้งละครหลังข่าวอย่าง ‘ข้าบดินทร์’ ที่ถึงเรื่องราวจะเป็นเรื่องไท๊ย ไทย แต่ก็ถูกแสดงโดยพระเอกหน้าตี๋อย่างเจมส์มาร์

หรืออย่างกรณีเลดี้กาก้าที่เคยมาแสดงคอนเสิร์ตที่ไทย และมีการสวมชฎาขึ้นเล่น จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา แน่นอนว่าก็ต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองในแง่ดี นี่ก็เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้ดีที่สุด และเลดี้กาก้าเองก็ไม่ได้ล้อเลียนหรือย่ำยีความเป็นไทยแต่อย่างใด

 

2. ไทยแปลไทย

เพราะเราหาคำจำกัดความ ‘ความเป็นไทย’ ได้ยาก เราเลยต้องมีการถอดรหัสไทยออกมาเพื่อค้นหาที่มาที่ไปของความเป็นไทย เพื่อให้เราเข้าใจความเป็นไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในห้องนี้จะเต็มไปด้วยตู้โชว์และลิ้นชัก ให้เราคนดูได้ค่อยๆ ถอดรหัสความเป็นไทยไปพร้อมๆ กัน ซึ่งวัตถุที่นำมาจัดแสดงทั้งหมดคือสิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัย วัตถุแต่ละชิ้นที่จัดแสดงจะถูกถอดรหัสว่าทำไมสิ่งนี้ถึงมีความเป็นไทย เกิดขึ้นจากใคร เมื่อไหร่ และด้วยเหตุผลใด

3. ห้องโมดูลไฮดรอลิค

ห้องนี้จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่มาผสานกับการจัดนิทรรศการแบบไทยๆ เมื่อเข้ามาในห้องเราจะเห็นแท่นไม้ที่กว้างและใหญ่เต็มห้อง และเมื่อโชว์เริ่มขึ้น ไฟจะดับลง แท่นไม้ที่เราเห็นเมื่อเข้ามานั้นจะกลายเป็นเวทีโชว์สุดอลัง เรียกว่าเป็น Live Performance Show ที่สมบูรณ์แบบ

เรื่องราวในห้องนี้จะเล่าเกี่ยวกับความเป็นไทยตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถึงจะเล่าด้วยน้ำเสียงธรรมดาๆ แต่เราในฐานะคนดูกลับรู้สึกซาบซึ้งและคิดว่าถ้าได้มาใหม่อีกครั้งเราจะใช้เวลาในห้องนี้ให้นานๆ เลย

 

4. อะครีลิกซ้อน

ในห้องนี้จะเน้นให้เราเห็นถึงวิวัฒนาการของความเป็นไทยในแบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นพระปรางค์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมไปในแต่ละยุค โดยจะมีคำอธิบายถึงยุคต่างๆ ให้เราได้ศึกษาและทำความเข้าใจกัน

ซึ่งก็จะเห็นว่าในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็จะมีการดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้ร่วมสมัยมากขึ้น และยังเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบที่สนุกสนานดี มีการผสมระบบแมนนวลเข้ามา ซึ่งเป็นการตัดอารมณ์จากเทคโนโลยีในห้องที่ผ่านมา

 

5. Live Kitchen ครัวมีชีวิต

ผ่านห้องที่ดูจริงจังๆ มาแล้ว อาจจะรู้สึกยังไม่ใกล้ตัวมากเท่าไหร่ คราวนี้มาต่อกันที่ห้อง Live kitchen ครัวมีชีวิตกันดีกว่า ในห้องนี้เชื่อว่าทุกคนที่เข้าชมจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว..ก็เพราะมันคือเรื่องอาหาร!

ในห้องนี้จะเป็นเหมือนห้องเรียนฉบับครัว คือเราจะได้เรียนรู้ประวัติที่มาและส่วนประกอบของอาหาร(ที่เราเรียกว่าอาหารไทย)ชนิดต่างๆ เช่นแกงมัสมั่น ทำมาจากอะไร มีที่มามาจากไหน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโซนให้เราได้ถาม-ตอบกับตัวเองด้วย เรียกว่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราอาจยังไม่เคยรู้

อย่างเช่น ‘ปาท่องโก๋’ ที่เราคุ้นเคยกัน จริงๆ มันไม่ได้เรียกว่าปาท่องโก๋นะ.. แต่เรียกว่าอะไรกันล่ะ? ลองไปหาคำตอบกันดู :p

 

6. ย้อนวัยไปหามานะ มานี ปิติ ชูใจ กับห้องเรียน 4 ยุค

ในห้องนี้จะพาพวกเราย้อนกลับไปในชีวิตวัยเรียน (ที่หลายคนอาจจะผ่านมาจนลืมไปแล้ว เอ๊ะ?) เรื่องราวจะเล่าถึงการศึกษาไทยในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคที่นั่งเก้าอี้คู่ ยุคที่ลิ้นชักมีเก๊ะแบบเปิดจากด้านบนได้ ไปจนถึงยุคที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะให้พวกเราได้ใช้งาน

จริงแล้วบรรยากาศมันก็เป็นอะไรที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วเนาะ แต่ห้องนี้คงจะทำให้หลายๆ คนได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาไทยที่เรามักถกเถียงกันเป็นประจำได้ดีมากขึ้น

แถมยังมีชุดนักเรียนให้เราได้หยิบจับมาใส่ แสดงบทบาทย้อนกลับไปวัยเรียนกันด้วย มาย้อนความทรงจำกลับไปสมัยกระดานชอล์กกันเถอะ

ปล. ขอบคุณพี่นายแบบใจดีให้แมงโก้ถ่ายภาพด้วยนะคะ :3

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม Museum Siam