Mango Zero

หมอนทอง VS ชะนี ทุเรียนเหมือนกัน แต่ทำไมไม่เหมือนกัน

ถ้าพูดถึงผลไม้ ทุกคนคงจะต้องนึกถึง ‘ทุเรียน’ ราชาผลไม้ของประเทศไทยกันอยู่แน่ๆ เพราะนอกจากจะอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์และเป็นแหล่งของสารอาหารที่ดีต่อร่างกายอีกด้วย ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมในไทยที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก ก็มีหมอนทอง และชะนี ที่เห็นกันบ่อยๆ

แล้วรู้ไหมว่าสองพันธุ์นี้มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง? รสชาติแต่ละพันธุ์เป็นยังไง? งั้นมาดูกันระหว่าง “หมอนทอง VS ชะนี ทุเรียนเหมือนกัน แต่ทำไมไม่เหมือนกัน” ตามไปดูเลยย

 

หมอนทอง

สายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทย เพราะปลูกง่าย สามารถปลูกได้ทุกภาคที่มีอากาศร้อน มีคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยามากมาย เมื่อสุกแล้ว เราสามารถนำไปแปรรูป ประกอบอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ มากมายเชียวล่ะ

ลักษณะเนื้อ

เนื้อละเอียดและแห้ง มีสีเหลืองอ่อน เส้นใยปานกลาง เมล็ดสีน้ำตาลมีน้อยและลีบ

รสชาติ

หวานมัน กลมกล่อมกำลังดี เมื่อแก่จัดจะหวานมากเป็นพิเศษ

กลิ่น

กลิ่นไม่แรงมาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว 

แคลอรี่

เนื้อทุเรียนหมอนทอง 100 กรัม มีแคลอรี่ประมาณ 165 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมีน้ำตาลประมาณ 21.3 กรัม / หมอนทอง 1 พูอีกด้วย

ราคา

เริ่มตั้งแต่ 120 บาท/กก. 

 

ชะนี 

สายพันธุ์ที่นิยมทานมากอีกเช่นเดียวกัน เป็นที่นิยมปลูกมากในประเทศที่มีอากาศร้อน มีหลายสายพันธุ์ แต่ละส่วนของต้นสามารถเอามาทำยารักษา และสายพันธุ์นี้มักจะถูกเอาไปทำขนมต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน เพราะด้วยกลิ่นที่เฉพาะของพันธุ์นี้นั่นเอง

ลักษณะเนื้อ

เนื้อเนียน ละเอียดเหนียวนุ่มกว่าพันธุ์อื่น มีสีเหลืองปานกลางไปจนถึงเหลืองจัด มีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดใหญ่อยู่ข้างในเนื้อ เมื่อสุกแล้ว เนื้อจะสุกสม่ำเสมอกันทั้งลูก

รสชาติ

หวานจัดจ้าน และมีความมันมาก

กลิ่น

กลิ่นค่อนข้างแรง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

แคลอรี่

เนื้อทุเรียนชะนี 100 กรัม มีแคลอรี่ประมาณ 148 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมีน้ำตาลประมาณ 7.7 กรัม

ราคา

เริ่มตั้งแต่ 90 บาท/กก. 

 

ทุเรียนมาจากไหน? (Fact)

ทุเรียนเป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า Durian (ทุเรียน) มาจากภาษามาเลย์ คือ Duri ที่แปลว่าหนาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักธรรมชาติวิทยาอังกฤษ ‘อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ’ ได้พูดถึงทุเรียนว่า “เนื้อในมันเหมือนคัสตาร์ดอย่างมาก รสชาติเหมือนอัลมอนด์” ถึงกับยกย่องทุเรียนว่าเป็นราชาผลไม้เลยทีเดียว

ซึ่งในไทย ก็มีการจดบันทึกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของ “ลา ลูแบร์” ว่าคนไทยมีทุเรียนกินกันตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยบันทึกได้พูดว่า “เป็นผลไม้ที่ชื่นชอบมากในชมพูทวีป” 

 

ที่มา

kasetprice

kapook

voice online