คำบางคำคนพูดอาจไม่ได้คิดอะไร แต่อาจเป็นคำที่ทำร้ายจิตใจคนฟังโดยไม่รู้ตัว
‘ถ้าผอมจะสวยกว่านี้อีก
‘ใส่ชุดนี้แล้วอ้วนจัง’
‘ไม่น่าเชื่อว่าเธอจะทำได้’
‘ใช้ของแพงขนาดนี้เลยหรอ’
ถ้าเคยใช้คำพูดเหล่านี้ แม้จะไม่ได้มีเจตนาร้าย ก็ถือว่าเข้าข่าย Microaggression เพราะถ้าคิดให้ดี ทุกประโยคมีคำดูถูกและตัดสินคนฟังอยู่ คนที่เคยเผชิญกับประโยคเคลือบคำชมเหล่านี้ ก็คงจะเข้าใจดีว่าฟังแล้วไม่ได้รู้สึกดีเลย
มาทำความเข้าใจ Microaggression จะได้ไม่เผลอไปทำร้ายจิตใจใครโดยไม่รู้ตัว 🙂
Microaggression คืออะไร
Microaggression ไม่ใช่ความรุนแรงทางกาย แต่เป็นการทำร้ายจิตใจด้วยการใช้คำพูดและการกระทำ รวมไปถึงการด่วนตัดสินคนคนหนึ่งจากภาพลักษณ์ภายนอกที่เราเห็น
เดิม Microaggression ใช้ในบริบทเกี่ยวกับเชื้อชาติหรือชนชาติ และขยายความหมายไปในวงกว้าง ทั้งในเรื่องเพศสภาพ รูปร่าง ความสามารถ และอื่นๆ
คำพูดแบบไหน ที่เรียกว่า Microaggression
อย่างที่บอกว่า Microaggression มีหลายแบบ Mango Zero จะยกตัวอย่างคำพูดที่เป็นการดูถูกและตัดสินผู้ฟัง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
Microaggression ทางความสามารถ
- ‘คุณอาจจะไม่ถนัดทำงานแบบนี้ แต่…’ ไม่ว่าเขาจะเคยทำหรือดูเหมือนไม่ถนัดทำงานแบบใดแบบหนึ่ง ก็ไม่ควรไปตัดสินโดยที่ยังไม่รู้ความจริง เพราะเหมือนเราไปตัดสินความสามารถของคนอื่นจากการรับรู้ของตัวเอง
- ‘เป็นเด็กฝึกงานใช่ไหม หน้าเด็กจัง’ การพูดแบบนี้เป็นการตัดสินผู้ร่วมงานจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยที่ยังไม่ได้เห็นความสามารถของเขา บางคนอาจไม่รู้สึกดีใจที่คนอื่นมองว่าหน้าเด็ก แถมยังอาจเสียความมั่นใจไปเลยก็ได้
Microaggression ทางเพศ
- ‘เธอดูไม่เหมือน Transgender เลย’ ประโยคนี้ดูเผินๆ ก็ดูเป็นคำชม แต่จริงๆ แล้วมันแฝงความหมายว่าเรามีภาพจำ Transgender ในใจ ว่าจะต้องเห็นได้ชัดหรือแตกต่างออกไป
- ‘เธอเป็นผู้หญิงที่ขับรถดีจัง’ สงสัยไหมว่าประโยคที่ดูเป็นคำชมแบบนี้ จะเป็น Microaggression ได้ยังไง เพราะบางครั้งภาพจำบางอย่างฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึก จนเรารู้สึกว่ามันเป็นความจริงโดยทั่วไป ทั้งที่จริงๆ แล้วประโยคนี้มีความหมายแฝงว่าผู้หญิงคนอื่นขับรถไม่ดี
Microaggression รูปลักษณ์
- ‘ผอมไปนะ กินเยอะๆ หน่อย’ เราไม่มีทางรู้เลยว่าการใช้ชีวิตประจำวันของคนหนึ่งเป็นอย่างไร เขาอาจจะไม่ได้อยากผอมเกินไป(ในสายตาคนอื่น) แต่พยายามกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน หรือนั่นอาจเป็นรูปร่างที่เขาภูมิใจ เพราะได้มาจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ควรไปตัดสินรูปร่างของใคร
- ‘ถ้าผอม จะสวยกว่านี้อีก’ แม้จะดูเป็นการแสดงความหวังดี แต่คงไม่มีใครฟังแล้วรู้สึกดีแน่
- ‘ใส่ชุดนี้แล้วดูอ้วนจังเลย’ อาจดีความได้ว่าปกติเธอไม่ใช่คนอ้วนนะ แต่ใส่ชุดนี้แล้วดูอ้วน แต่ไม่ว่ารูปร่างเขาจะเป็นอย่างไร ตราบใดที่เขาแต่งกายถูกกาลเทศะ ก็ไม่ควรไปตัดสินหรือแสดงความคิดเห็นบั่นทอนจิตใจ
หลีกเลี่ยงการแสดง Microaggression
บางความคิดหรือภาพจำบางอย่าง อาจฝังลงไปในจิตใต้สำนึกของเรา ว่ามันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว บางครั้งคนเราจึงไม่ทันได้คิดหรือเอะใจ ว่าสิ่งที่พูดออกไปจะเป็นการตัดสินหรือทำร้ายจิตใจใครหรือไม่
แล้วเราจะทำอย่างไรให้ไม่เผลอไปแสดง Microaggression ใส่คนอื่น
- ไม่ตัดสินคนอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอกหรือสิ่งที่เรารับรู้มาเพียงฝ่ายเดียว
- เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดกลับกันว่าถ้าเราเป็นคนคนนั้น แล้วได้ยินคำพูดเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไร
- เปิดใจ และทำความเข้าใจผู้อื่นความรู้สึกนึกคิดของคนรอบข้างให้มากขึ้น
- แต่ถ้าเผลอพูดหรือทำอะไรที่ทำร้ายจิตใจไป แล้วมาคิดได้ทีหลัง ก็ให้รีบไปขอโทษคนฟัง เพียงแค่ขอโทษจากใจกับสิ่งที่ได้พูดไป โดยไม่ต้องมีข้ออ้างใดๆ โดยเฉพาะการบอกว่า ‘แค่ล้อเล่นน่ะ’ เพราะคนฟังไม่รู้สึกตลกเพราะการพูดเล่นๆ ของเรา อาจทำให้เขารู้สึกแย่จริงๆ
ที่มา