สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ขอต้อนรับสู่คอลัมน์คูลทอม’s view นะครับ ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ แค่มุมมองของครูนอกระบบในการศึกษาไทยคนหนึ่ง ที่อยากจะเห็นการศึกษาไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นครับ แต่เอาจริงก็ไม่รู้นะครับว่าการที่ผมมาพล่ามลงทางโซเชียลเน็ตเวิร์กจะส่งผลอะไรได้บ้างหรือเปล่า แต่คิดว่าก็คงกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านได้บ้างนะครับ ผมไม่ได้บอกว่ามุมมองของผมคือสิ่งที่ถูกที่สุด แต่นี่คือสิ่งที่ผมคิดและอยากนำเสนอ ถ้าคุณผู้อ่านมีความเห็นอะไรก็อยากให้มาสนทนากันนะครับ ผมขอประเดิมบทความแรกด้วยเรื่องผลการสอบ admission ประจำปีนี้แล้วกันนะครับ เพราะเพิ่งประกาศผลกันไม่นานมานี้ ช่วงก่อนที่เขาจะประกาศอย่างเป็นทางการว่านักเรียนทั้งประเทศสอบติดคณะอะไรกันบ้าง เขาก็ได้ประกาศพอเป็นน้ำจิ้มออกมาก่อนว่านักเรียนที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศคือ “นายครองพิภพ วิรัตินันท์” โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งน้องได้เลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ขณะที่ผมกำลังชื่นชมยินดีกับน้องอยู่นั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นความเห็นจากคุณผู้หญิงท่านหนึ่งใจความว่า “แอบเสียดายคะแนนน้องที่ได้ที่ 1 เนาะ” ผมเองก็ยังไม่มั่นใจเท่าไรนักว่าคุณผู้หญิงท่านนี้เสียดายอะไร ทำไมต้องเสียดาย เพราะการที่น้องคะแนนสูงจนสามารถเลือกเรียนคณะที่น้องอยากเรียน ควรเป็นเรื่องน่ายินดีนะ แถมคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็เป็นคณะที่ใครหลายคนอยากเข้าเรียนกันเยอะแยะมากมาย ผมเลยไปพิมพ์ถามเขาว่าทำไมต้องเสียดายคะแนนน้อง คำตอบที่ได้รับคือ “น้องคะแนนสูง สามารถเลือกคณะที่สูงๆกว่านี้ได้ แต่ก็เข้าใจค่ะว่าน้องคงชอบทางนี้จริงๆ” หืมมมมมมมมมมมมมมมมมม (ฝากเติม ม ม้าไปอีกสัก 787 ตัว) เดี๋ยวนะครับเดี๋ยว นี่มันปี 2017 แล้วนะครับ เราควรจะก้าวข้ามค่านิยมว่าคณะนั้นสูงกว่าคณะนี้ คณะนี้สูงกว่าคณะโน้นกันได้แล้วนะครับ ผมไม่รอช้า ถามกลับทันทีว่า “คณะที่สูง ๆ กว่านี้ หมายถึงยังไงครับ แล้วคณะนิเทศฯ ต่ำกว่าคณะอื่นยังไงเหรอครับ” แต่คุณผู้หญิงท่านนี้ก็ไม่ได้ตอบผมมา จบการสนทนาไปเสียอย่างนั้น ในภาพรวม บางคณะก็คะแนนสอบเข้าสูงกว่าคณะอื่นจริงครับ แต่อย่าลืมว่านั่นไม่ได้แปลว่าใครจะ “สูง” กว่าใครหรอกครับ ทุกคณะ ทุกสาขาวิชาชีพล้วนมีคุณค่าในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมาบอกว่าใครมีคุณค่ามากกว่าใคร การสอบได้คะแนนสูง แสดงว่าจะมีสิทธิ์ “เลือกคณะอยากเรียน” ครับ ไม่ว่าคณะนั้นจะต้องใช้คะแนนมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้แปลว่าสอบได้คะแนนสูงแล้วต้องไปเลือกคณะที่ต้องใช้คะแนนสูงเท่านั้น เพราะการเลือกเรียนคณะที่ชอบมันสำคัญมากนะครับ ผู้เรียนต้องอยู่กับสิ่งที่เลือกไปอีกนาน อย่างน้อยก็ 4 ปี (ถ้าไม่ตัดสินใจซิ่วไปเรียนอย่างอื่น) ผมว่าถ้าเราได้เรียนสิ่งที่เราชอบ เราก็จะมีความสุขกับการเรียน แล้วเรามีโอกาสจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้มากกว่า แต่ผมก็เข้าใจนะครับว่าเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่มีโอกาสเลือกเรียนสิ่งที่ชอบจริง ๆ ก็ขอให้มองเห็นความดีงามของสิ่งที่เราต้องเรียน ลองค่อย ๆ พิจารณาว่าสิ่งที่เราต้องเรียนนั้นมันจะเอาไปประยุกต์กับการทำสิ่งที่เราชอบได้ไหม บางครั้งเราอาจจะเจอความถนัดอีกอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ การที่น้องครองพิภพตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตามความฝันของตัวเอง นับเป็นเรื่องน่ายินดีมาก ๆ ครับ ยินดีกับน้อง กับครอบครัวของน้อง กับโรงเรียนของน้อง เพราะการที่เด็กสักคนได้เลือกเรียนตามความฝันนั้น เป็นสิ่งที่สร้างความน่ายินดีได้มากกว่าแค่สอบได้คะแนนสูงแล้วต้องไปทนเรียนสิ่งที่ไม่ชอบอีกนะครับ อยากจะบอกคุณผู้หญิงต้นเรื่องที่บ่นเสียดายคะแนนน้องครับว่า ถ้าน้องไม่ได้เลือกเรียนคณะที่อยากเรียนจะน่าเสียดายมากกว่าอีกครับ นึกดูสิครับ ถ้าคะแนนสูงแทบตาย แต่ต้องไปทนเรียนสิ่งที่ไม่ชอบ จะทรมานขนาดไหน สุดท้าย ขอเป็นกำลังใจให้น้องที่ได้เรียนคณะที่ชอบ และขอเป็นกำลังใจให้น้องที่ต้องเรียนในคณะที่ไม่ชอบด้วยนะครับ แล้วครั้งหน้า ผมจะมาเขียนเล่าเรื่องอะไรให้ได้อ่านกันอีกก็ขอฝากติดตามคอลัมน์คูลทอม’s view กันด้วยนะครับ คูลทอม (ครูทอม คำไทย)