ยืนมองท้องฟ้าอาจจะไม่เป็นเช่นเคย เพราะฤดูร้อนไม่มีเธอเหมือนก่อน แต่ทุกๆ ฤดูร้อนเราจะมีข้าวเหนียวมะม่วงให้รับประทานกันแน่ๆ ก็เพราะนี่คืออาหารหวานประจำหน้าร้อนที่เปรียบดั่งสมบัติของชาติ อยู่คู่ปากคู่ท้องคนไทยทั้งผองมาตั้งแต่จำความได้ แถมยังเป็นของขึ้นหน้าขึ้นตาที่ฝรั่งมังค่าทั่วโลกต่างรู้จักดี ว่านึกถึงข้าวเหนียวมะม่วงอร่อยๆ ก็ต้องที่ไทยแลนด์โอนลี่ แต่กินกันมาตั้งนาน จะมีใครบ้างที่รู้ว่า ข้าวเหนียวมะม่วงมีต้นกำเนิดมายังไง ใครเป็นคนประดิษฐ์คิดค้น และทำไมมันถึงกลายเป็นสุดยอดอาหารหวานประจำประเทศเราได้ อยู่ๆ Mango Zero ก็อยากกินข้าวเหนียวมะม่วง และสงสัยในประวัติความเป็นมาของเจ้าอาหารแสนโอชะจานข้างหน้า เลยจะชวนทุกคนมาค้นหาคำตอบไปพร้อมกันก่อนลงมือทาน ย้อนไปตั้งแต่ราวๆ 5,000 กว่าปีก่อนที่มีการสำรวจตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี นักวิชาการด้านโบราณคดีชื่อก้อง พบว่าสยามประเทศเป็นแหล่งปลูกข้าวมาแต่โบราณ คนไทยทำนาและกินข้าวกันมาช้านานจนกล่าวได้ว่า ข้าวคือ ‘ของมันต้องมี’ ของคนสยามทั้งในยามสงบและยามรบรามาก่อนจะเข้าสมัยสุโขทัยด้วยซ้ำ ซึ่งข้าวที่นิยมปลูกในไทยยุคนั้น มีด้วยกัน 3 ชนิด คือเมล็ดป้อม เมล็ดใหญ่ และเมล็ดเรียง โดยในสมัยอยุธยาช่วงแรกจะนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมกันมาก ก่อนจะเริ่มปลูกข้าวจ้าวในช่วงปลาย ร่ายยาวจนถึงปัจจุบัน และสิ่งใดที่อยู่มานาน สิ่งนั้นก็ย่อมคู่กับการเปลี่ยนแปลงเสมอ – ข้าวก็เช่นกัน ทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียวถูกปรับและเปลี่ยนไปเป็นสารพัดอาหาร คาวหวานปะปน บ้างก็ถูกนำไปปรุงเป็นขนม ไม่ว่าจะข้าวหลาม ข้าวเหนียวตัด หรือข้าวเหนียวมูน ซึ่งขนมเหล่านี้ก็มีทั้งที่ทำแล้วกินเลย หรือนำไปแมตช์กับนู่นนี่นั่นเพื่อสร้างสรรค์มิติแห่งรสชาติให้อร่อยขึ้น ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า ใครเป็นคนต้นคิดให้นำข้าวเหนียวมูนมาทานคู่กับมะม่วงสุก แต่รู้อีกทีมันก็กลายเป็นอาหาร ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’ ยอดนิยมของคนไทยไปแล้ว ถามว่าทำไมถึงเรียกว่า ข้าวเหนียวมูน – พจนานุกรมให้ความหมายอย่างตรงไปตรงมาว่าคือการเอากะทิมาเคล้ากับข้าวเหนียว ซึ่งมูนก็มีความหมายในตัวเองว่าพระจันทร์ ไม่ใช่! หมายถึงการกองๆ สุมๆ เลยอาจติ๊ต่างได้ว่า เป็นการเอาข้าวเหนียวมาวางเป็นกองๆ อยู่ด้านล่างอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจเป็นกะทิ เกลือ น้ำตาล ถั่ว หรือมะม่วง ซึ่งข้าวเหนียวที่เหมาะจะเอามามูน คนก็มักจะเลือกใช้พันธุ์เขี้ยวงูที่ตัวเมล็ดมีลักษณะเรียวยาว เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นถิ่นของภาคเหนือ ส่วนมะม่วงที่กินกับข้าวเหนียวมูน สูตรดั้งเดิมในสมัยก่อนจะนิยมใช้มะม่วงอกร่องที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เคี้ยวคู่กับรสหวานมันของข้าวเหนียวมูนที..อร่อยเหาะ! แต่เพราะปัจจุบัน มะม่วงอกร่องหาซื้อยากขึ้น ราคาสูง แถมยังผลเล็ก ทานไม่สะใจ ผิวเปลือกสีเขียวก็ไม่เหลืองอร่ามอย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ คนเลยหันมาทานคู่กับน้ำดอกไม้ที่ราคากำลังดี ผลสวยและใหญ่เต็มคำมากกว่า ถ้าจะให้อร่อยขึ้น ต้องราดน้ำกะทิให้ฉ่ำๆ เพิ่มความหอมและมัน แล้วโรยถั่วทองที่ด้านบนอาหารเพื่อเติมความกรุบกรอบ สอดแทรกไปกับความนิ่มและเหนียว กินทีเดียวพร้อมกันทั้งมะม่วง ข้าวเหนียว กะทิ และถั่ว บอกเลยว่าอร่อยอย่างงี้! CNN สำนักข่าวเจ้าดัง ถึงกับจัดให้ข้าวเหนียวมะม่วงติดอยู่ในลิสต์ 50 สุดยอดอาหารหวานแสนอร่อยจากทั่วโลก จากการเลือกของนักชิมลิ้นทอง เจน โรส สมิธ (ในลิสต์นี้ ยังมีทับทิบกรอบ เป็นอีกหนึ่งขนมหวานสัญชาติไทยที่ติดอันดับด้วย)* รสชาติที่อร่อยนี่นี้มีประวัติความเป็นมายาวนาน ว่ากันว่าข้าวเหนียวมูนคือขนมที่คนสมัยอยุธยาตอนปลายรับประทานกันอย่างกว้างขวาง แต่หลักฐานที่ชัดเจนกว่าคือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประโยคว่า “ข้าวเหนียวใส่สีโศก” สันนิษฐานว่ากล่าวถึงสีเขียวเข้มจากใบเตยคั้น เอาไว้กินกับไข่ตั้งสังขยา แต่ข้าวเหนียวมูนที่กินกับมะม่วงสุกจริงๆ ก็น่าจะแพร่หลายช่วงปลายรัชกาลที่ 5 – ทั้งนี้ ต้องย้ำอีกทีว่าไม่มีหลักฐานยืนยันการปรากฏตัวของข้าวเหนียวมะม่วงที่แน่ชัด แต่ที่ชัดแท้และแน่นอนคือประโยชน์ของข้าวเหนียวมะม่วง กะทิในข้าวเหนียวมูนจะช่วยดูดซึมวิตามินเอและอีจากมะม่วงได้ดีขึ้น ส่วนเนื้อมะม่วงสุกจะช่วยชะชอให้น้ำตาลจากข้าวเหนียวดูดซึมช้าลง ทั้งยังให้ไฟเบอร์และพลังงานสูง อ้อ…ที่สำคัญ มีความอร่อยสูงด้วย บอกเลยว่า เขียนไปหิวไปจริงๆ ไม่ไหวแล้ว ขอตัวไปกินข้าวเหนียวมะม่วงก่อนนะ #MangoZeries #เรื่องสามันส์ประจำบ้าน #มะม่วงmonth * ที่มา: edition.cnn.com/travel/article/world-50-best-desserts/index.html