Mango Zero

Mango Go Taiwan : ทำความรู้จักไต้หวัน ผ่านมุมมองสาวไทยผู้หลงรักการใช้ชีวิตในไต้หวัน

ถ้าไต้หวันเป็นจุดหมายปลายทางในใจ ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว อยากให้ลองทำความรู้จักกับไต้หวัน ผ่านมุมมองของ แพร-วรรษมณ สาวไทยที่หลงรักในไต้หวัน และเริ่มต้นเดินทางตามความตั้งใจด้วยการไปเรียนต่อปริญญาโท ปัจจุบันทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้ง และอาศัยอยู่ในไทเป

Mango Zero อยากชวนทุกคนแพ็คกระเป๋าแล้วไปเที่ยวทิพย์กับ Mango Go Taiwan พร้อมกันเลยย

ทำไมถึงตัดสินใจที่จะไปอยู่ไต้หวัน?

“เราเป็นติ่งไต้หวันตั้งแต่เรียนม.ปลาย ชอบวง S.H.E ที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ปไต้หวัน หนังสือภาพที่ชอบอ่านก็เป็นศิลปินคนไต้หวันเขียน ซีรีส์ที่ชอบดูก็มาจากไต้หวัน เลยคิดว่าประเทศนี้ผลิตงานได้ตรงใจเราจัง อยากมาอยู่ ก็เลยอยากมาเรียนต่อที่ไต้หวัน แค่นั้นเลย 

แต่ช่วงนั้นคนจะไม่เข้าใจเลยว่าไต้หวันมีอะไรดี ทำไมเราถึงอยากมาไต้หวันนัก สุดท้ายตอนป.ตรีเราก็ได้เรียนมหาลัยในไทยแทน แล้วพอมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ AIESEC ก็เลยเลือกไต้หวัน เพราะความรู้สึกที่อยากลองใช้ชีวิตในไต้หวันที่สะสมมา พอมาอยู่จริง ๆ ก็ยิ่งชอบไต้หวันเข้าไปอีก รู้สึกว่าเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้จริง ๆ เลยตัดสินใจยื่นขอทุนรัฐบาลไต้หวันมาเรียนป.โท ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าจะต้องหางานทำอยู่ที่นี่ต่อเลย

“จริง ๆ เหตุผลที่เราอยากเรียนต่อโทก็เพราะอยากรีบเอาตัวเองออกจากไทยนี่แหละ ตั้งแต่เรียนป.ตรี เราก็รู้สึกว่าประเทศไทยมันยังมีปัญหาที่รอการแก้อยู่อีกเยอะ ไม่งั้นคนรุ่นเราก็น่าจะอยู่กันลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เอาแค่สมัยก่อนเราจะไปเรียนที่จุฬาฯ บ้านเราอยู่แถวดอนเมือง ต้องเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางตอนเช้า 2-3 ชม. ถ้าไม่อยากสายก็ต้องนั่งรถตู้ ต่อรถไฟฟ้า แล้วต่อรถเมล์อีกที จากค่ารถ 25 บาท กลายเป็นเกือบร้อย แต่เซฟเวลาขึ้นมาได้ประมาณครึ่งชั่วโมง มันบ้ามาก ๆ 

ทางเท้าแคบ น้ำกระฉอก สะพานลอยที่มีสายไฟพาดไปมา โครงการพัฒนาเมืองที่เหมือนจะดีแต่สุดท้ายก็ไม่มีการบำรุงรักษาหรือต่อยอด กลายเป็นเอางบไปละลายแม่น้ำ เรารู้สึกไม่ใช่ละตั้งแต่สมัยเรียน

พอเรียนจบมาทำงานเอง ความรู้สึก ‘ไม่ใช่ละ’ ก็ยิ่งชัด ทำไมเงินเดือนเราไม่พอใช้นะ ทั้ง ๆ ที่ก็พยายามประหยัดแล้ว ค่าเดินทางเดือนนึงตั้งหลายพันแน่ะ รถเมล์มี แต่มาบ้างไม่มาบ้าง อยากทำงานตรงเวลาก็ต้องจ่ายแพงขึ้น วันไหนฝนตกก็กลับบ้านไม่ได้เพราะน้ำท่วม ต้องรอฝนหยุด 

จ่ายประกันสังคมไปแต่ไม่รู้เลยว่าเกษียณแล้วจะอยู่ได้ด้วยเงินที่ได้กลับมาไหม เราเลยคิดว่ารีบย้ายดีกว่า มันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากอะไร เพราะเราก็โตมากับเรื่องเล่าของที่บ้านว่ารุ่นอากงอาม่าก็ต้องย้ายมาไทยเพราะบ้านเกิดที่เมืองจีนไม่มีข้าวจะกิน โอเคเราอยู่ไทยมีข้าวกิน มีบ้านอยู่ แต่เราย้ายครั้งนี้เพราะเราไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

จุดเริ่มต้นของการไปไต้หวัน

“ไปไต้หวันครั้งแรกตอนปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4 ไปเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษกับโครงการ AIESEC ในไต้หวัน ได้มาทำแคมป์ภาษาอังกฤษที่ National Chiao Tung University อยู่ที่ซินจู๋ ห่างจากไทเปประมาณ 1 ชั่วโมง ตอนนั้นมาอยู่ไต้หวันได้ 1 เดือนครึ่ง วันที่ว่างจากงานอาสาก็ออกเที่ยว”

“พอเรียนจบปริญญาตรี ก็ได้ทุนรัฐบาลไต้หวัน หรือที่นักเรียนไทยในไต้หวันเรียกกันว่าทุน MOE มาเรียนต่อปริญญาโท ที่ National Chengchi University (NCCU) โปรแกรมชื่อว่า IMPIS (International Master’s Program in International Studies) เรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พอเรียนจบแล้วก็หางานทำต่อ”

บรรยากาศการเรียนที่ไต้หวันเป็นยังไง?

“โปรแกรมที่เราเรียน เนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เน้นอ่านเปเปอร์แล้วมา discuss กันในห้อง วิชาส่วนใหญ่ไม่มีสอบแต่จะให้เขียนเปเปอร์กลางภาค ปลายภาคส่ง มีคะแนน Participation ในห้องเรียน ซึ่งก็คือการพรีเซนต์ discussion ต่าง ๆ 

อาจารย์ในโปรแกรมที่เราเรียนส่วนใหญ่เป็นคนไต้หวัน มีคนต่างชาติบ้างนิดหน่อย เช่น อเมริกัน แต่นักศึกษาจะมีความหลากหลายสูงมาก อัตราส่วนคนต่างชาติเยอะกว่าคนไต้หวัน มีทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา 

ตลอดทั้งโปรแกรมสอนเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย แต่เคยได้ยินว่าบางมหาลัยหรือบางโปรแกรมเขาจะสอนภาษาจีนเป็นบางวิชา การบ้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเตรียมอ่านเปเปอร์เพื่อมา discuss หรือทำพรีเซนต์ในห้อง”

วัฒนธรรมองค์กรในไต้หวันเป็นยังไง?

“งานที่เราทำตอนนี้เป็นมาร์เก็ตติ้งให้กับบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันของไต้หวัน 

เราคิดว่าคนไต้หวันค่อนข้างจริงจังกว่าคนไทยมาก ๆๆๆๆ ระหว่างทำงาน แล้วเคยได้ยินว่าบริษัทไต้หวันบางที่ก็ยังทำงานแบบ Traditional อยู่ คือหมดเวลางานแล้วแต่ต้องนั่งต่อเพื่อรอให้หัวหน้ากลับก่อนถึงลุกได้ หรือจะไม่ค่อยมีการคุยหรือเล่นระหว่างการทำงานมากเท่าที่ไทย เวลาเป็นเวลา กฎเป็นกฎ เข้างานต้องเวลานี้ พักเที่ยงเวลานี้ เลิกงานเวลานี้

โชคดีที่บริษัทเราค่อนข้างชิลกว่าบริษัทไต้หวันทั่วไป เลยไม่ได้ถึงกับต้องนั่งรอหัวหน้ากลับบ้าน หรือต้องเคร่งเครียดกับกฎอะไรขนาดนั้น มีการเล่นกันบ้างอะไรบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกได้ว่าออฟฟิศที่ไทยครื้นเครงมากกว่าอยู่ดี”

รายได้และสวัสดิการในไต้หวัน

“เราพอใจกับรายได้และสวัสดิการของไต้หวันกว่าที่ไทยมากเลย แน่นอนว่าเงินเดือนสูงกว่าอยู่แล้ว แต่ที่เราพอใจคือรายรับกับรายได้ที่สมดุลกัน เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินแบบประหยัดแล้วประหยัดอีกแต่ก็ยังไม่พอเหมือนอยู่ไทย 

เพราะอยู่ไทยถ้าเราอยากได้คุณภาพชีวิตดี ๆ เหมือนเราต้องเอาเงินแลก อยากเข้าเมืองไว ๆ ใช่มั้ย แทนที่จะนั่งรถเมล์ ก็จ่ายค่าแท็กซี่ ค่ารถไฟฟ้าสิ อยากออกกำลังกายใกล้บ้าน ไปสมัครฟิตเนสสิ เพราะใกล้บ้านไม่มีสวนสาธารณะในระยะเดินถึงเลย 

แต่อยู่ไต้หวันเราไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้มีขนส่งสาธารณะดี ๆ ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะออกกำลังกายใกล้บ้าน ต่อให้ค่ากิน ค่าเช่าบ้านแพงกว่าไทย แต่ส่วนต่างตรงนี้ก็เหลือเฟือให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วก็มีเงินเก็บมากกว่าตอนทำงานอยู่ไทยด้วย

ส่วนสวัสดิการ ต้องพูดถึงระบบประกันสุขภาพบ้านเค้าที่ทุกคนต้องเข้าระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนไต้หวันหรือคนต่างชาติที่อยู่ในไต้หวัน อัตราการจ่ายก็จะต่างกันไปตามรายได้ แต่เงินสมทบเข้ากองทุนที่เราต้องจ่าย บริษัทก็จะช่วยซัพพอร์ตเราด้วย หรือกับคนยากจนหรือรายได้น้อยในไต้หวัน รัฐบาลก็ช่วยจ่ายให้ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ แล้วก็ไม่จำเป็นว่าต้องไปเฉพาะโรงพยาบาลที่มีรายชื่อหรือโรงพยาบาลรัฐฯ เท่านั้น บัตรประกันสุขภาพใบเดียวสามารถใช้ได้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกทุกที่ 

พอคนจะไปที่ไหนก็ได้ มันก็ไม่เกิดภาพที่คนต้องไปรอต่อคิวที่โรงพยาบาลรัฐใหญ่ ๆ ตั้งแต่เช้ามืด ใครที่ไม่อยากรอก็เสียเงินเพิ่มเพื่อไปโรงพยาบาลเอกชน ทุกคนก็กระจายกันไปโรงพยาบาลที่ตัวเองสะดวก หรือแม้แต่คลินิกแถวบ้านก็ใช้ได้”

ชีวิตประจำวันในไต้หวันต่างจากตอนอยู่ไทยยังไง?

“ใครที่เคยมาไต้หวันน่าจะสัมผัสได้ว่าไทเปไม่ได้ต่างจากกรุงเทพฯ ขนาดนั้นเลย แต่ก็จะมีจุดที่คนไทยหลายคนน่าจะรู้สึกเหมือนกันคือเรื่องกิน หนึ่งเลยคือไต้หวันตัวเลือกอาหารน้อยกว่าบ้านเรา อาหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีรสจัดจ้านเท่าที่ไทย 

สองคือร้านอาหารบ้านเขาเปิดปิดเป็นเวลา ตอนเช้า ร้านอาหารที่เปิดก็มีแค่ร้านอาหารเช้า ขายอาหารเบา ๆ น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ แซนด์วิชอะไรงี้ ตอนเช้าอยากกินข้าวมันไก่ เกาเหลา ไม่มีขาย ร้านขายมื้อเที่ยงจะเริ่มเปิดตอน 11 โมง แล้วปิดพักตอนบ่าย 2 เปิดขายอีกทีมื้อเย็นหลัง 5 โมงเย็น 

ตอนเรามาแรก ๆ เคยคิดว่ายังไม่หิวเลยไม่กินมื้อเที่ยง พอสัก 4 โมงอยากออกไปหาซื้อข้าว ก็ไม่มีร้านเปิดเลย ต้องรอตอนเย็นเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องร้านสะดวกซื้อ ฟาสต์ฟู้ดอะไรงี้

อีกอย่างคือเรื่องห้องน้ำ ไต้หวันยังมีส้วมหลุมอยู่มาก เพราะเหมือนคนเขาคิดว่าส้วมหลุมเราไม่ต้องไปสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของส้วม แต่เราไม่ชอบส้วมหลุมเลย แล้วบางครั้งพอคนไต้หวันที่ไม่ชอบส้วมแบบนั่งราบ พอไปเจอส้วมนั่งราบเขาก็ยังปีนส้วมกันอยู่ พอเราจะเข้าต่อก็ลำบาก จริง ๆ ก็ไม่ได้เจอคนปีนส้วมบ่อย แต่รู้สึกว่าเจอบ่อยกว่าตอนอยู่ไทย (หัวเราะ) ก็เป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่โดยรวมก็ถือว่าดีกว่าไทยนะ ตามสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่เขาจะมีทั้งส้วมหลุมและส้วมแบบนั่ง มีป้ายบอกชัดเจนว่าห้องไหนเป็นแบบไหน และสะอาดพอที่จะเข้าแบบไม่ตะขิดตะขวงใจ 

สังคม วัฒนธรรม และผู้คนไต้หวันเป็นอย่างไร

“อุตสาหกรรมหลักของไต้หวันคือพวกไอที ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เซมิคอนดักเตอร์ อะไรที่มันดูล้ำมาก ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความเชื่อบางอย่าง ที่ชวนให้รู้สึกเหมือนอยู่ไทยเลย เช่นบริษัทเราที่ทำแอปพลิเคชัน แต่ทุกเดือนจะให้แต่ละแผนกผลัดกันไปไหว้เจ้าที่วัดใกล้ ๆ ออฟฟิศขอให้การทำงานเป็นไปด้วยดีอะไรงี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำจริงจังด้วย 

เราเลยรู้สึกว่าโดยรวมแล้ว สังคมไต้หวันไม่ค่อยได้ต่างจากไทยเท่าไหร่ ยิ่งในไทยเราก็รับวัฒนธรรมจีนเข้ามาเยอะ หรือบางทีก็มีวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน ที่ไต้หวันก็จะคล้าย ๆ แบบนั้นเลย”

สิ่งที่ประทับใจในไต้หวัน

“เราชอบความใจกว้างของสังคมไต้หวัน หลายคนที่มาไต้หวันก็น่าจะเคยเจอเหมือนกันกับความใจดีของคนไต้หวัน อยากช่วยเหลือ ผู้คนเฟรนลี่ และความปลอดภัยสูงมากกกกกก กระเป๋าเงินหายจะได้คืนครบ ลืมของไว้จะได้คืน (ยกเว้นร่ม เจ็บปวดกันมามาก) ลืมปิดกระเป๋าเป้แม้จะสะพายไว้ข้างหลังก็จะไม่มีใครมาล้วงเอาอะไร เผลอ ๆ มีคนมาสะกิดเตือนให้ปิดกระเป๋าดี ๆ อีกต่างหาก”

สิ่งที่ไม่ค่อยประทับใจ และข้อควรระวังในการอยู่ไต้หวัน

Quote : “บางครั้งกับภาคบริการ พอเขาเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะเวลาที่เขารู้ว่าเราเป็นคนไทย บางคนก็ทำเสียงกระโชกโฮกฮากใส่ ก็เหยียดนั่นแหละ อะไรแบบนี้ไม่ได้เจอบ่อย แต่เจอแค่ไม่กี่ครั้งก็จำแล้ว”

“เราไม่ค่อยเจอเรื่องไม่ประทับใจ เพราะคนไต้หวันเห็นหน้าเราปุ๊บเขาก็นึกว่าพวกเดียวกัน หรือถ้ารู้ว่าเป็นคนไทยเขาก็ต้อนรับดี แต่บางครั้งกับภาคบริการ พอเขาเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะเวลาที่เขารู้ว่าเราเป็นคนไทย บางคนก็ทำเสียงกระโชกโฮกฮากใส่ ก็เหยียดนั่นแหละ อะไรแบบนี้ไม่ได้เจอบ่อย แต่เจอแค่ไม่กี่ครั้งก็จำแล้ว 

อีกอย่างคือเอกสารสำคัญต่าง ๆ เวอร์ชันภาษาจีนมักจะมีข้อมูลละเอียดกว่าภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม ข้อมูลบางอย่างมันสำคัญแต่กลับตัดออก หรือเลือกที่จะบอกข้อมูลไม่ครบ ทำให้เราต้องวนไปวนมาแก้ไขหลายรอบทั้ง ๆ ที่ถ้าบอกข้อมูลครบมันก็จบตั้งแต่แรก เรื่องนี้เคยคุยกับคนไทยหรือคนต่างชาติอื่น ๆ ในไต้หวัน หลายคนก็เจอมาเหมือนกัน”

ขอ 3 คำ ให้กับไต้หวัน

“ขออยู่ต่อ”

การเตรียมตัวย้ายไปอยู่ที่ไต้หวัน

“แต่ละคนมากันด้วยคนละเป้าหมาย การเตรียมตัวก็น่าจะต่างกัน ส่วนตัวเราไม่ได้มีแพลนจะขอสัญชาติไต้หวัน เพราะวิธีเดียวที่ทำได้คือแต่งงานกับคนไต้หวันแล้วสละสัญชาติไทย ซึ่งเราไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย แต่ถ้าเรื่องวีซ่าตอนมาเรียนต่อกับทำงาน ถ้าเอกสารครบ มีหลักฐานว่ามีที่เรียนที่ทำงานจริง ทุกอย่างก็ง่ายมาก ๆ 

มองตัวเองในอนาคตที่ไต้หวันไว้อย่างไร

“ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่อยู่เหมือนกันสำหรับเราในตอนนี้ แต่สิ่งที่เราทำได้ในอนาคตอันใกล้คือทำงานในไต้หวันให้ครบ 5 ปี แล้วขอ APRC หรือบัตรผู้พำนักถาวร ซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตในไต้หวันได้ใกล้เคียงคนไต้หวันอีกนิดนึง ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ก็ใกล้เคียงมาก ๆ แล้วล่ะ ถึงตอนนั้นน่าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าเราอยากจะใช้ชีวิตยังไงต่อระหว่างที่อยู่ที่นี่”

แนะนำคนที่อยากมาเรียนต่อหรือทำงานที่ไต้หวัน

“จริง ๆ การมาไต้หวัน ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ได้ยากเลยถ้าเทียบกับอีกหลายประเทศ ตั้งแต่หลายปีก่อนก็มีคนไทยมาทำงานในไต้หวันเยอะมาก เดี๋ยวนี้ก็มีทั้งคนทำงานออฟฟิศ แรงงานแบบถูกกฎหมาย หรือนักเรียน

ไต้หวันเองก็ต้อนรับคนไทยเยอะขึ้นทุกปี ทำให้มีเอเจนซี่เกิดขึ้นเยอะมาก เดี๋ยวนี้บางมหาลัยก็มีออฟฟิศที่ไทยคอยให้คำปรึกษาคนไทยที่อยากมาเรียนต่อด้วยซ้ำ เราว่ายากที่สุดคือตอบตัวเองให้ได้ว่าเราอยากมาทำอะไรในไต้หวัน และเพื่อที่จะทำตรงนั้นให้สำเร็จเราต้องเริ่มทำอะไรบ้าง”

ใครสนใจประเทศไต้หวัน ไม่ว่าจะอยากไปเที่ยว ไปเรียน หรือไปทำงาน อยากรู้จักไต้หวันในมุมมองคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่จริง สามารถติดตาม ได้ที่ YouTube Channel : Prae Hsu และ Twitter : @PraeHsu