“โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เพราะนี่เป็นความเชื่อส่วนส่วนบุคคล …” ถ้าจะพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยนั้นนับถือกันในเรื่องของยานพาหนะที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ในวันนี้ Mango Zero จะพาคุณไปเปิดประวัติและส่องความเชื่อของคนไทยผ่านเรื่องเล่าสนุก ๆ ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรถ ‘แม่ย่านาง’ แม่ย่านาง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยเราบูชากราบไหว้กันอย่างล้นหลาม เพราะเชื่อกันว่าท่านคือผู้ที่คุ้มครองเราให้รอดพ้นจากภัยอันตรายบนยานพาหนะระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, เครื่องบิน หรือ เรือ ถ้าย้อนกลับไปในอดีตความเชื่อเรื่องแม่ย่านางของคนไทยยังไม่เคยปรากฎขึ้น เพราะในสมัยก่อนนั้นคนไทยมีความเชื่อในเรื่อง “ขวัญ” โดยมีทั้งการทำขวัญสัตว์พาหนะและทำขวัญพาหนะ เพื่อเป็นสิริมงคลในเรื่องของการเดินทางและยังเป็นการกราบไหว้บูชาเทพารักษ์ ที่ได้นำต้นไม้เหล่านั้นมาทำเป็นยานพาหนะซึ่งก่อนหน้านี้อาจมีเทพารักษ์อาศัยอยู่ ความเชื่อของคนไทยในเรื่องแม่ย่านางนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนเป็นหลักในเรื่องของเทพที่คอยคุ้มครองทะเล ‘มาจู่’ และเทพเจ้าองค์นี้ยังได้ปรากฎในหนังสือนารายณ์สิบปาง (ฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ พิมพ์ พ.ศ. 2466) ของอินเดีย ต้นฉบับความเชื่อจากประเทศจีนนั้นจะเรียกเทพองค์นี้กันหลายชื่อมาก ไม่ว่าจะเป็น เทียนเฟย (พระชายาสวรรค์), เทียนโฮ่ว (พระราชินีสวรรค์), เหนียงเหนียง (พระนาง) หรือที่นิยมเรียกว่า “มาจู่” (พระแม่ย่า) ฮกเกี้ยนว่า พระหมาจ่อ หรือ หมาจอ, จีนกลางว่า มาจู่ แต้จิ๋วว่า มาโจ้ว โดยมีความเชื่อกันว่าท่านสถิตอยู่หัวเรือคอยปกปักคุ้มครองผู้เดินทางทางทะเล ซึ่งคนไทยในอดีตก็ได้นำความเชื่อนี้เข้ามาร่วมใช้ เพราะสมัยก่อนการเดินเรือทะเลของไทยอาศัยคนจีนเป็นหลัก จึงมีพิธีเซ่นไหว้มาจู่อยู่ด้วย จนในที่สุดคนไทยได้นำความเชื่อที่เล่ามานี้มาผนวกกับความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ ลงไป พร้อมการกราบไว้บูชาองค์เทพารักษ์จนเกิดเป็นความเชื่อแบบไทย ๆ อย่าง แม่ย่านาง ความเชื่อตามสไตล์คนไทยฉบับนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ที่ในอดีตชาวเรือจะสักการะเทพารักษ์ที่อยู่บริเวณหัวเรือด้วยผ้าสามสี พวงมาลัย รวมไปถึงเครื่องเซ่นต่าง ๆ ในเวลาต่อมาการเดินทางโดยเรือก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ ทำให้คนไทยย้ายแม่ย่านางจากเรือมาไว้ที่คอนโซลรถยนต์ ทำให้จากเดิมที่ท่านเป็นเพียงเทพีประจำเรือ ก็กลายมาเป็นเทพีประจำพาหนะทุกประเภท เหตุนี้เอง จึงเป็นค่านิยมของคนไทยที่เมื่อซื้อรถใหม่ก็จะมีการเรียกแม่ย่านางเข้ามาอยู่ในรถ เพื่อปกปักรักษาและคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย พร้อมการกราบไหว้บูชาตามฉบับไทย ๆ เหมือนเดิม แต่สุดท้ายไม่ว่าจะบูชา นับถือ กราบไหว้อะไร นี่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล และการขับขี่ก็คสรมาพร้อมด้วยสติและความไม่ประมาทถึงจะดีที่สุด ด้วยความเป็นห่วงจาก … Mango Zero ที่มา: SILPA-MAG