#เป็นพระเมื่อพร้อม ความผิดแค่ไหนถึงจะจับสึก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นเรื่องราวอื้อฉาวมากมายที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ แน่นอนว่าบางคนอาจจะตกใจว่าทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ในวงการพระ แต่กลับกันบางคนรู้สึกเฉย ๆ และชินชากับเรื่องพวกนี้ เพราะสุดท้ายแล้วก็เกิดเรื่องราวมาให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ เรียกได้ว่าบางคนก็เอือมระอาจนหมดศรัทธากับวงการพระสงฆ์เลยก็ว่าได้
เมื่อในวงการพระสงฆ์ไม่ได้มีการทำผิดแค่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่จะจับสึก แล้วอย่างนี้จะรู้ได้ยังไงว่าต้องทำความผิดแค่ไหน ทำผิดเรื่องอะไรบ้าง ถึงจะโดนจับสึก ? Mango Zero เลยจะพาทุกคนมาไขข้อข้องใจกัน
ในประเทศไทยบทลงโทษของพระสงฆ์นั้นจะลงโทษตาม ‘พระวินัย’ และ ‘กฎหมายคณะสงฆ์’
‘พระวินัย’ คือ กฎระเบียบข้อบังคับที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันการละเมิด และการกระทำผิดของพระสงฆ์
เมื่อใดกระทำผิดศีล ศีลขาด หรือ อาบัติ ก็จะต้องได้รับบทลงโทษ
อาบัติ = “การตกไปจากความดี”
โดยอาบัติแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ นั่นก็คือ
1. อาบัติเบา
เมื่อทำผิด > สามารถหลุดจากอาบัติได้โดยการแสดงอาบัติ (สารภาพผิด) กับพระรูปใดรูปหนึ่ง
2. อาบัติหนัก ที่ยังแก้ไขได้
เมื่อทำผิด > ต้องอยู่ปริวาสกรรม หรืออยู่กรรม (การติดคุกของพระสงฆ์)
3. อาบัติหนัก ที่แก้ไขไม่ได้
เมื่อทำผิด > ต้องขาดจากความเป็นพระทันที และไม่สามารถกลับมาบวชได้ตลอดชาติ
แน่นอนว่าการจะจับสึกพระรูปใดรูปหนึ่ง ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วนเพื่อความถูกต้องและแม่นยำ เพราะการจับสึกนั้นเปรียบเสมือนโทษประหารชีวิตของมนุษย์
ซึ่งพระรูปนั้นต้องทำผิดอาบัติอยู่ใน ”ระดับที่ 3” เป็นขั้นที่ร้ายแรงมากเพราะไม่สามารถแก้ไขอาบัติได้ หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า “ปาราชิก” นั่นเอง
โดยมีอยู่ 4 ข้อด้วยกันที่เมื่อพระสงฆ์กระทำแล้ว จะต้อง “ปาราชิก” เท่านั้น
- ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับคน สัตว์ หรือศพ
- ห้ามลักขโมยของตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป
- ห้ามฆ่ามนุษย์ ไม่ว่าจะลงมือเองหรือจ้างวานให้ใครทำ
- ห้ามอวดฤทธิ์เดชที่ไม่มีในตน เช่น แสดงพลังวิเศษ
ทั้ง 4 ข้อนี้คืออาบัติที่มีบทลงโทษหนักที่สุด โดยไม่สามารถปลงอาบัติหรือลดโทษลงได้ ทุกคนจะเห็นได้ว่าข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ในทุกวันนี้ก็มีกระทำผิด “ปาราชิก” หลายข้อให้เห็นกันอยู่ทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าพระบางรูปก็ถูกจับสึก แต่..บางรูปก็หลุดรอดพ้นไปได้ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจน
จึงไม่น่าแปลกใจเลยถ้าเราจะเห็นว่าคนไทยสมัยนี้ไม่ค่อยนิยมเข้าวัดกันเหมือนแต่ก่อน ด้วยความที่ข่าวฉาวเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ก็ส่งผลให้ศรัทธาที่มีต่อพระสงฆ์ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน
ซึ่งเราก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีกฎหมายหรือวิธีแก้ไขปัญหาอันไหนบ้างที่ใช้ได้จริง ที่สามารถช่วยลดปัญหาการกระทำผิดของวงการพระสงฆ์ให้น้อยลง และทำให้ผู้คนกลับมาศรัทธาในพระสงฆ์มากขึ้นอีกครั้ง
ที่มา : goodlifeupdate , สอนศีลพระใหม่