พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถรอบด้านทั้งศาสตร์การพัฒนาประเทศในทุกด้าน และรวมถึงในด้านศิลปะอย่างการประพันธ์เพลง, การถ่ายภาพ, การออกแบบ รวมไปถึงงานจิตรกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในจิตกรรมเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงฝึกฝนการเขียนภาพด้วยพระองค์เอง จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในช่วงแรก จะมีผู้ที่สนใจงานด้านนี้เท่านั้นที่จะได้ชม ในช่วงที่พระองค์สนพระราชหฤทัยนั้นได้มีศิลปินอาวุโสที่มีชื่อเสียงของไทยคอยถวายคำปรึกษา (โดยในระยะนั้นมีอาจารย์เหม เวชกร อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ , อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ศิลปินที่กล่าวนามมานี้ ต่างก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มี อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ , อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ , อาจารย์จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ , อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ , อาจารย์อวบ สาณะเสน และอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น)
สำหรับการถวายคำปรึกษาในด้านเทคนิคการเขียนภาพ พระองค์มักมีพระราชดำรัสถามเพียงว่า “พอไปได้ไหม” อยู่เสมอตลอดการฝึกฝน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีความสนใจในด้านศิลปกรรม ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ประมาณปี พ.ศ. 2480 – 2488) โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เองและฝึกจากตำราต่างๆ ที่ทรงซื้อด้วยพระองค์เองและมีผู้มาทูลเกล้าฯ ถวาย ยามเมื่อพระองค์สนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใดจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินคนนั้นถึงที่พัก เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตร วิธีการทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สี การผสมสี ตลอดจน เทคนิควิธีการต่าง ๆ เมื่อทรงเข้าพระราชหฤทัยการทำงานของเขาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองโดยบางครั้งไม่ได้เสด็จไปเพียงครั้งเดียว แต่ทรงเสด็จไปหลายๆ ครั้ง จนทรงเข้าใจการสร้างสรรค์งานของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี
ภายหลังที่เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังเมื่อราวพุทธศักราช ๒๕๐๒ โดยพระองค์ใช้เวลาเมื่อว่างจากพระราชภารกิจในตอนค่ำ โดยทรงใช้แสงไฟฟ้าและแสงธรรมชาติ โดยภาพส่วนมากเป็นเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ ซึ่งมักจะเป็นภาพเขียนครึ่งพระองค์เป็นส่วนใหญ่และใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม
จิตรกรรมฝีพระหัตถ์เท่าที่ปรากฎของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
- ภาพเหมือนจริง (Realistic)
- คตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism)
- ศิลปะนามปธรรม (Abstractionism)
ลักษณะผลงานจิตรกรรมของพระองค์ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือ ทรงวาดตามที่พระราชหฤทัยนึกจะวาด มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์ท่านออกมาจากพระจินตนาการของพระองค์เอง จึงมีความเฉพาะตัว เป็นอิสระ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงเคยใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานจิตรกรรมตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงราว ๆ พ.ศ. 2510 ก็มิได้ทรงเขียนภาพอีก เพราะทรงมีพระราชภารกิจด้านอื่นที่ต้องทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่เพื่อประชาชน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรและทรงเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของราษฎร
ที่มา : tsood, Daily Rabbit, Manager