พระเมรุมาศคือการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของพวกเรา ซึ่งผ่านกระบวนการสร้างที่พิถีพิถันโดยเหล่าช่างศิลป์จากทั่วประเทศที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน และหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วพระเมรุมาศยังจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมกันถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 รายละเอียดการเข้าชมพระเมรุมาศหลังเสร็จพระราชพิธี กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (กอร.พระราชพิธีฯ) ได้แจ้งกำหนดการ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศ โดยผู้ที่สนใจจะเข้าชมพระเมรุมาศ รวมไปถึงนิทรรศการพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องรู้ก่อนเพื่อความสะดวก และความเป็นระเบียบในการเข้าชมดังนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมงานจะต้องผ่านจุดคัดกรอง 5 จุด ประกอบด้วย ส่วนของประชาชนบริเวณ ท่าช้าง, วงเวียน รด. และ แม่พระธรณีบีบมวยผม ส่วนของพระภิกษุ ผู้พิการ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม เมื่อผ่านจุดคัดกรองแล้ว ประชาชนสามารถเลือกชมมหรสพได้บริเวณทิศเหนือทางสะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งจะจัดในเวลา 18.00 – 22.00 น. หรือ เข้าเต้นท์เพื่อรอเข้าชมนิทรรศการ นิทรรศการเปิดให้เข้าชมได้วันละ 1 แสนคน แบ่งเป็น พระภิกษุสงฆ์ 500 รูป คนพิการ และคนชรา 500 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 8,000 คน นักเรียนนักศึกษา 15,000 คน ประชาชนทั่วไป 80,000 คน เฉลี่ย 4 ตารางเมตร/คน เข้าชมได้รอบละ 5,000 คน การแต่งกายควรแต่งกายสุภาพช่นเดียวกับการเข้าชมวัดพระแก้ว ห้ามใส่เสื้อสายเดี่ยว กางเกงขาสั้น และเสื้อแขนกุด ไม่จำเป็นต้องสีดำ กำหนดเวลาให้ชมบริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศซึ่งเป็นส่วนของโครงการพระราชดำริ คนละ 15 นาที ส่วนในนิทรรศการ 6 อาคารจะให้เวลาคนละ 45 นาที ซึ่งประชาชนสามารถขึ้นชมพระเมรุมาศได้เฉพาะชั้น 1 เท่านั้น ก่อนหมดเวลา 5 นาที เจ้าหน้าที่จะส่งสัญญาณบอก พระที่นั่งทรงธรรมจะปรับเป็นนิทรรศการพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ รวมถึงจิตรกรรม ส่วนอาคารอื่นๆ จะบอกเล่าถึงการจัดสร้าง และส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ พระภิกษุสงฆ์ และคนชรา โดยมีทางเข้าเฉพาะให้กับบุคคลเหล่านี้ นิทรรศการเปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 07.00 – 22.00 น. ของทุกวัน ทั้งนี้ในเวลา 07.00 น. ของวันที่ 2 พ.ย. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการ อ้างอิงข้อมูลจาก prachachat.net, posttoday.com, http://kingrama9.net/Crematory, http://kingrama9.net/Crematory/Detail/1 พระเมรุมาศ คือ? เมรุ ตามความหมายในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์” ซึ่งมีอีกความหมายคือ “เป็นที่เผาศพมีหลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบ สำหรับพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระเมรุมาศ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เรียกว่า พระเมรุ และสำหรับสามัญชนเรียกว่า เมรุ” ในความเชื่อแบบพราหมณ์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ซึ่งสถิตบนเขาพระสุเมรุ อันล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และเมื่อจุติลงมายังมนุษยโลกเป็นสมมติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อเป็นการส่งพระศพ พระวิญญาณกลับสู่เขาสุเมรุดังเดิม (จากหนังสือ “พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุสมัยรัตนโกสินทร์” ของ ศ.น.อ.สมภพ ภิรมย์) คติจักรวาลวิทยาในพระเมรุมาศ คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลในหนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งพระเมรุมาศเป็นการจำลองโลกและจักรวาล โดยเปรียบองค์พระเมรุมาศเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ก่อนๆ โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาล อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะระบุความหมายอย่างแน่ชัดในแบบแผนของพระเมรุมาศทั้งหมด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็สร้างขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จไปงานถวายพระเพลิง การสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพคือการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียบเรียงโดย : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ข้อมูล :หนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพกรมศิลปากร องค์ประกอบของพระเมรุมาศ พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก จำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้น ทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ โดยโครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ ลานอุตราวรรต หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาดทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) ชมกราฟิกจำลองพระเมรุมาศ สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมไทย (1) ชมกราฟิกจำลองพระเมรุมาศ สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมไทย (2) พระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นทางกรมศิลปากรได้ออกแบบมาถึง 8 แบบ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้มีพระกระแสรับสั่งให้การออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ว่า “ไม่ให้เหมือนที่เคยมีมา” และทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด 7 ชั้นเชิงกลอน ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ที่ถูกเลือกคือ ‘นายก่อเกียรติ ทองผุด’ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักงานสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบได้ศึกษาแบบของพระเมรุมาศทรงบุษบกที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศ ของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่พระเมรุมาศทรงบุษบกของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะมีลักษณะพิเศษในหลายๆ ด้านไม่เหมือนที่เคยมีมเป็นการสืบสาน และเกิดการพัฒนาศิลปกรรมงานช่างในหลายแขนง นอกจากนี้การก่อสร้างพระเมรุมาศยังใช้วัสดุบางอย่างทั้งในการก่อสร้าง และการประดับตกแต่งที่เปลี่ยนตามยุคสมัยเช่นการใช้ ไฟเบอร์กลาส มาแทนงานซ้อมไม้ซึ่งเป็นการสร้างชิ้นงานแทนลายแกะสลัก โดยปัจจุบันทำเพียงต้นแบบชิ้นเดียวแล้วนำไปหล่อไฟเบอร์กลาส นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาแล้ว ก็ยังรักษารูปแบบของสิลปะการออกแบบดั้งเดิมไว้ได้เพียงแค่ปรับวัสดุตามยุคสมัย โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็กรูปพรรณนำมาประกอบและยึดกันด้วยน็อต มีตำนวนมากกว่า 40,000 ชิ้น น้ำหนักรวม 800 ตัน ไม่มีการตอกเสาเข็มเป็นรากฐาน อีกทั้งทรงของพระเมรุมาศมีความใหญ่มาก (ข้อมูลจาก : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร, หนังสือสู่ฟ้าเสวยสวรรค์)