ในยุคที่โลกดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน ทุกวงการรวมไปถึงสถาบันการเงินก็ต้องปรับตัว หนึ่งในธนาคารที่ตื่นตัวและปรับปรุงการให้บริการสอดรับกับโลกยุคดิจิทัลและความต้องการของผู้คนที่เติบโตไปตามเทคโนโลยีก็คือธนาคารกสิกรไทย ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุค ATM ซิม จนมาถึงโมบายแบงกิ้ง K PLUS ก็ยังพัฒนาไม่หยุด ล่าสุดมีการนำ AI เข้ามาอยู่ในโมบายแบงกิ้งด้วย นับเป็นการพัฒนาที่ล้ำไปอีกขั้น เพราะครั้งนี้ KBank ติดปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อ ‘KADE’ ให้ K PLUS เพื่อให้โมบายแบงกิ้งนี้ฉลาดขึ้น KADE คืออะไร ‘KADE’ หรือ ‘เกด’ มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘K PLUS AI-Driven Experience’ ปัญญาประดิษฐ์ที่ทีม KBTG พัฒนามาระยะหนึ่งแล้วโดยมี ‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ ประธานกสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป มาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟังด้วยตัวเองเพราะค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องใหม่มากในไทยกับการใส่ AI เข้าไปในโมบายแบงกิ้ง ไม่ใช่แค่การเติมฟังก์ชั่นลงไปในแอปเฉยๆ แต่เพิ่มสมองเข้าไป การเลือกที่จะนำ AI ใส่ในแอปนั้นทำให้ KBank เข้าใกล้กับคำว่า ‘ธนาคารแห่งอนาคต’ ขึ้นไปอีก สอดรับกับสถิติปัจจุบันของ KBank ที่บอกว่าตอนนี้ธนาคารกสิกรไทย มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลถึง 80% ของธุรกรรมทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าตอนนี้โลกหมุนไปทางไหน การเกิดขึ้นของ KADE นั้นเป็นการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ของบริการทางการเงินแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นก้าวกระโดดจากการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไปสู่โลกของบริการทางการเงินที่ฉลาดขึ้นเป็นครั้งแรกของสถาบันการเงินในประเทศไทย ความน่าสนใจของ KADE ก็คือการเก็บทุกข้อมูลทางการเงิน และไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อหาในสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ แล้วเสนอทางเลือกให้ลูกค้าในเวลาที่ลูกค้าต้องการจริงๆ KADE คือผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะที่ช่วยได้ทุกเรื่อง หากเล่าให้เห็นภาพมากขึ้น KADE ก็คือ J.A.R.V.I.S ของโทนี่ สตาร์ค เพียงแต่ยังไม่อัจฉริยะขนาดที่ควบคุมได้ทุกสิ่งหรือเป็นได้ทุกอย่าง แต่ KADE ถูกคิดขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ารู้สึกเสมือนมีคู่หูอัจฉริยะคอยช่วยคิด และนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจด้านการเงินและไลฟ์สไตล์แบบที่บางครั้งเราเองก็ไม่ต้องถาม ความอัจฉริยะของ KADE ที่น่าสนใจและสามารถทำได้มีดังนี้ เรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า รวมไปถึงความต้องการทางการเงินในด้านธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัวผ่านพฤติกรรมการใช้ K PLUS เตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่กำลังจะมาถึง รวมไปถึงเตือนเรื่องอื่นๆ ที่สามารถตั้งค่าได้ให้ KADE ช่วยจดจำ นำเสนอสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละท่านโดยอิงจากร้านค้าใน K PLUS Shop นำเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าที่ KADE มองว่ามีความต้องการ แนะนำการใช้จ่าย และการลงทุนให้กับลูกค้าที่ให้ประโยชน์สูงสุด สอดรับกับสภาพการเงินหรือรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เบื้องหลังความอัจฉริยะของ KADE เบื้องหลังความอัจฉริยะของ KADE นั้นคุณสมคิด เล่าว่า KADE จะทำงานอย่างสมบูรณ์แบบในฐานะคู่หูอัจฉริยะได้ต้องมี 3 องค์ประกอบหลักเพื่อทำให้ KADE ฉลาดและทำงานร่วมกับลูกค้าและ K PLUS ได้อย่างลื่นไหล ความลับเหล่านั้นเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ KBTG คิดและพัฒนาขึ้นมาได้แก่ Machine Intelligence : ระบบการเรียนรู้อัจฉริยะซึ่งคุณสมคิด พูดเรื่องนี้บ่อยมากๆ และเคยบอกไว้เมื่อปีที่แล้วว่าแมชชีนเลิร์นนิ่งจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริการที่สำคัญของธนาคารในอนาคต มาวันนี้ KBank แสดงให้เห็นแล้วว่าจะเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้งานอย่างไร AI ของ K PLUS จะสร้างความฉลาดให้กับบริการต่าง ๆ ให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในทุกด้านจริงๆ พร้อมเปลี่ยน K PLUS ให้เป็น K PLUS Intelligence Platform ตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการจะใช้เงินตามข้อมูลที่ AI ตรวจจับได้ก็จะส่งข้อความเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าทันที ถ้าลูกค้าต้องการแค่กดตกลง ไม่เกิน 1 นาทีเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีทันที โดย KADE จะวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วว่าลูกค้าคนนี้ต้องการเงินจริงๆ และเป็นลูกค้าชั้นดี Design Intelligence : KADE ถูกออกแบบด้านการใช้งานอย่างชาญฉลาดและคำนึงถึงพฤติกรรมของลูกค้าเป็นหลักเพราะใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็ต้องเริ่มศึกษาจากความต้องการและรูปแบบชีวิตของลูกค้าให้ลึกซึ้งทำให้สามารถออกแบบ AI ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงๆ และเรียนรู้ได้เรื่อยๆ ได้ตลอด Service Intelligence : องค์ประกอบสุดท้ายที่ทำให้ KADE น่าสนใจมากขึ้นคือความรวดเร็วในการตอบสนองลูกค้า เช่นการนำเสนอสินค้าที่อยู่ใน K PLUS Shop ให้แก่ลูกค้าที่ AI ตรวจเห็นว่าน่าจะสนใจสินค้าประเภทนี้ ปีที่ผ่านมามีการทดลอง Service Intelligence กับสินค้าประเภทการเกษตรไปแล้วพบว่ามีแนวโน้มในทางที่ดี ผู้ขายเองก็สามารถขายของได้ ผู้ซื้อเองก็ตัดสินใจซื้อของได้ง่ายขึ้น อนาคตบริการนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ KADE จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนทุกกลุ่ม KADE ช่วยให้ ‘ทุกคน’ เข้าถึงทุกบริการของธนาคารง่ายขึ้น KADE ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นแค่คู่หูอัจฉริยะของคนบางกลุ่ม แต่ KADE เข้ามาเป็นผู้ช่วยทุกคนที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการจากธนาคาร แต่ไม่สามารถไปธนาคารได้ อาจเพราะเดินทางไม่สะดวก เป็นผู้ค้ารายย่อยที่ไม่เคยเข้าระบบธนาคาร หรือมีความทุพลภาพ จึงเสียสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ อย่างการเข้าถึงการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อต่อยอดธุรกิจ แต่ KADE จะเข้ามาช่วยอุดช่องว่างและเชื่อมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ตามที่ธนาคารโลกเคยบอกไว้ว่าภายในปี 2563 อยากให้ทุกคนเข้าถึงบริการของธนาคารให้ได้ ซึ่ง AKDE จะมาช่วยอะไรบ้าง ช่วยลูกค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าในอดีตหากมีประวัติที่ดีและมีความน่าเชื่อแม้ไม่เป็นเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ก็ถูกเสนอสินเชื่อได้ ช่วยคนพิการสามารถเข้าถึงบริการธนาคารต่างๆ ที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของเจ้าของกิจการที่เปิดร้านใน K PLUS Shop มีบริการสินเชื่อให้กับทุกคน จากการสังเกตภาพรวมของ KADE เรามองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากมายในอนาคตเมื่อ KADE เปิดใช้ อย่างแรกสุดเลยธนาคารยังเป็นแหล่งเงินทุนชั้นดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มุ่งไปข้างหน้า และการนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์สินเชื่อจะทำให้ธนาคารลดความเสี่ยงจากหนี้สูญได้ ถึงจะไม่สามารถระบุได้ว่าจะลดเรื่องหนี้สูญมากแค่ไหน แต่การวิเคราะห์จากข้อมูลจริงของลูกค้าแบบทันทีทันใดก็น่าจะทำให้การันตีได้มากกว่าวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังแบบในอดีต อีกหนึ่งสิ่งที่สังเกตคืออนาคตธนาคารจะเข้าถึงง่ายขึ้นโดยที่ทุกคนไม่ต้องไปธนาคารก็เข้าถึงบริการต่างๆ ได้ และธนาคารจะไม่ใช่แค่ธนาคารแต่จะเป็นหนึ่งในดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างลูกค้าเข้ากับร้านค้าหรือบริการทางออนไลน์ โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางในการช่วยจัดการเรื่องเงินไม่ว่าจะซื้อของ ขายของ กู้เงิน และอื่นๆ ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งนั่นแหละคืออนาคตของโลกดิจิทัลที่ธนาคารกสิกรไทย กำลังจะเป็นในไม่ช้า ภายในปีนี้เมื่อ KADE เปิดให้ใช้งาน เราน่าจะได้เห็นยุคใหม่ของธนาคารไทยแน่นอน