Mango Zero

กลับมาอีกครั้งกับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ในแคมป์ที่ 2 “กล้าลุย” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ดำเนินการโดยมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

กลับมาอีกครั้งกับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ในแคมป์ที่ 2 “กล้าลุย” ภายใต้คอนเซปต์ “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ดำเนินการโดยมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

แคมป์แรกที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมอย่างแคมป์กล้าเรียนน้อง ๆ ได้รับการปูพื้นฐานเรียนรู้หลักการทำธุรกิจ และสร้างไอเดีย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ไปจนถึงสร้างผลิตภัณฑ์ให้ออกมาดีที่สุด หลังจากจบจากกิจกรรมครั้งนั้น น้อง ๆ ได้กลับไปร่วมกันลงมือทดลอง วางแผน พัฒนาสินค้าที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการไว้ในแคมป์ที่ผ่านมา โดยมีทุนเริ่มต้นที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เตรียมความพร้อมสู่การขายจริงด้วยตนเองในแคมป์ที่ 2 “กล้าลุย

ซึ่งเปิดประสบการณ์ให้น้อง เยาวชนได้นำสินค้าของตนมาขายให้แก่ลูกค้าตัวจริง ที่ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน ทำให้ทั้ง 8 ทีม ได้สัมผัสประสบการณ์จริงของการเป็นผู้ประกอบการ มีการนำเสนอสินค้า 8 ธุรกิจ ด้วยไอเดียสร้างสรรค์ที่ช่วยยกระดับของดีของเด่นในจังหวัดน่านได้อย่างน่าสนใจ พร้อมโอกาสในการลองผิดลองถูกและเรียนรู้การทำงานเป็นทีมที่ช่วยให้พวกเขาฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน

ผลงานของน้อง ๆ ที่ได้นำออกสู่ตลาดในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร และที่ผ่านมาหลังจากจบแคมป์แรก น้อง ๆ ได้พัฒนาตัวเองและก้าวผ่านอุปสรรคอะไรไปบ้าง เรามาร่วมติดตามกันต่อไปได้เลย

เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องกัน 66 วัน โดยมีกำหนดการเข้าแคมป์ 3 ครั้งด้วยกันคือ กล้าเรียนเริ่มต้นปูพื้นฐานการสร้างไอเดียธุรกิจวิเคราะห์ความเป็นไปได้และเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจจริงจากนั้นแต่ละทีมจะกลับไปพัฒนาสินค้าเพื่อนำเข้าสู่ตลาด

ส่วนแคมป์ที่สอง กล้าลุย จะเป็นช่วงเวลาที่จะได้ลุยตลาดจริง เพื่อเรียนรู้จุดเด่นจุดด้อย เพื่อนำกลับไปพัฒนาต่อยอดสินค้า และจะมีช่วงการดำเนินธุรกิจจริงอีกราว 1 เดือน ก่อนที่จะเข้าแคมป์สุดท้ายคือ กล้าก้าว เพื่อสรุปรายงานและนำเสนอผลประกอบการ

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลยสำหรับน้อง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจจริงมาก่อน น้อง ๆ หลายคนต้องผ่านเรื่องราวที่มีทั้งน้ำตา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ แต่แม้จะต้องเจอกับอุปสรรคมากมายและแตกต่างกัน พวกเขาก็ผ่านมาได้เพราะความเป็นนักสู้และไม่ยอมแพ้นั่นเอง เรื่องราวของน้อง ๆ แต่ละทีมจะน่าสนใจอย่างไร ตามพวกเรามาดูกันได้เลย

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 กับแบรนด์: Ten Bites – คุกกี้10 ชาติพันธุ์ (ชนเผ่า)

Ten Bites เป็นคุกกี้ที่ใช้วัตถุดิบจาก 10 ชนเผ่า ที่มีเอกลักษณ์และนำผ้าปักมาผสมผสานกับสินค้าเพื่อให้มีความโดดเด่นมากขึ้น โดยผ้าปักจะเป็นงานฝีมือปักเอง สามารถนำไปใช้งานต่อได้หลากหลายรูปแบบ เช่นนำไปเย็บเป็นหูกระเป๋า ทำเป็นโบว์มัดผม หรือสายคล้องแว่น หรือสายคล้องหน้ากากอนามัย

ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ออกมาสำเร็จได้คือความร่วมมือกันอย่างดี ทุกคนช่วยเหลือกัน สามารถพูดคุยและรับฟังไอเดียของแต่ละคน เพื่อทำให้สินค้าออกมาดีและสมบูรณ์แบบมากขึ้น

โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม กับแบรนด์: มองเดอพี จำหน่ายกาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ และพิซซ่าม้งที่บ่งบอกวัฒนธรรมของชนเผ่า

ในส่วนของกาแฟ จะเป็นกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ของบ้านมณีพฤกษ์ ซึ่งปลูกบนพื้นที่สูงจากน้ำทะเล 1,400-1,600 เมตรหาได้ที่นี่ที่เดียวและเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจของคนในชุมชน ส่วนพิซซ่าม้ง เป็นของชนเผ่าม้งที่แต่ละปีจะทำกินกันแค่ครั้งเดียว นำมายกระดับผลิตภัณฑ์นี้ให้มีมูลค่ามากขึ้น ทำให้คนรู้จักมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้คือความสามัคคีการให้ความร่วมมือและการรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทีมต้องมี แต่ละคนแม้จะอยู่ห่างกันคนละพื้นที่ และบางคนก็มีภารกิจของตัวเอง ทำให้การทำงานล่าช้า แต่สุดท้ายก็ช่วยกันแก้ปัญหา ล้มแล้วต้องลุกให้ไวและเดินไปพร้อมกัน ถึงอุปสรรคจะเยอะ ก็พร้อมลุย

โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน กับแบรนด์: NALANA (นาลานา) – ยกระดับ 6 ของดังน่านให้เป็นที่รู้จัก

แบรนด์ที่เอาขนมทานเล่นที่มีเฉพาะในจังหวัดน่านเท่านั้นมารวมในกล่องเดียว ผลิตจากคนในท้องที่ดั้งเดิม และมีการออกแบบแพ็กเกจจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน

ปัจจัยที่ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าออกมาจนสำเร็จอย่างแรกก็คือ “ทีมเวิร์ค” ทีมมี 5 คน ก็แบ่งทีมเป็น 5 หน้าที่ หัวหน้า, บัญชี, ออกแบบ, ติดต่อประสานงาน และนำเสนอไอเดีย แต่ละคนมีทักษะที่แตกต่างกัน ทำงานประสานกัน และช่วยกันในแต่ละหน้าที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมกันทุกคน

สองคือการวางแผนการทำธุรกิจในแง่มุมต่างๆคำนึงถึงผลดีและผลเสียที่จะได้รับในแง่มุมที่ว่ามันสมเหตุสมผลไหมและจะทำให้ธุรกิจโตขึ้นไหมซึ่งการพูดคุยกันตลอดทำให้มีข้อผิดพลาดน้อย

โรงเรียนสา กับแบรนด์: หลามรวยข้าวหลามแนวใหม่ กินง่าย ส่งได้ หลากหลายรสชาติ

ข้าวหลามถอดเสื้อที่มีความหลากหลายของรสชาติซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนผ่านกระบวนการที่มีคุณภาพและคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพรวมทั้งมีการออกแบบแพ็คเกจให้สามารถจัดส่งได้ทั่วทุกพื้นที่

อุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทะเลาะหรือเกิดปัญหาอะไรขึ้นแค่ทุกคนเชื่อใจและเชื่อในอุดมการณ์ของกันและกันขอให้มีอุดมการณ์เดียวกันก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขถึงแม้ในทีมอาจจะมีปากเสียงกันนิดหน่อยแต่ไม่เคยแตกแยกกันพยายามสู้ไปเรื่อย ๆ

โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม กับแบรนด์: KADO – ซอสจากเนื้ออะโวคาโดแท้กับดอกเกลือสินเธาว์จังหวัดน่าน

จังหวัดน่านนิยมปลูกอะโวคาโดกันมาก จึงอยากจะยกระดับสินค้าผลิตเป็นซอสอะโวคาโดบรรจุในหลอด บีบง่าย และใส่เกล็ดเกลือสินเธาว์ของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นเกลือที่ไม่มีโซเดียมไม่มีผลเสียกับร่างกาย

มีการทดลองไปเรื่อยๆและมีผู้ช่วยคือมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาน่านพัฒนาและปรึกษากับผู้รู้จนได้สูตรสุดท้ายซึ่งฟีดแบคที่ได้รับถือว่าดีและตรงกับความต้องการของทีมด้วย

นอกจากนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคกันมาได้คือการยอมรับว่าแต่ละคนล้วนมีความสามารถที่แตกต่างกันไปและให้ความเชื่อใจกันมีอะไรก็พูดกันตรง ๆ โดยพยายามที่จะเข้าใจกันและให้ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน

โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี กับแบรนด์: ลินายกระดับข้าวแคบสินค้าชุมชนให้กินง่าย เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ทีมทั้ง 5 คน เป็นคนในพื้นที่และชอบกินข้าวแคบกันอยู่แล้ว แต่เพราะว่าข้าวแคบที่กินมาตั้งแต่เด็กมีขนาดแผ่นใหญ่ เวลาจะกินทีต้องทอดก่อน เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้กินง่ายขึ้น และไม่เลอะเทอะ เลยมาจบที่การทำให้มีขนาดเล็กลงและมีหลายรูปแบบ ในส่วนของรสชาติ จากเดิมเป็นรสจืด ก็มีการปรับแต่งใส่เผือกใส่ฝักทอง และมีซอสดิป เพื่ออรรถรสในการกิน

บทเรียนที่ได้รับจากปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าเมื่อเจอปัญหาก็เหมือนกับเราล้มถ้าเราล้มและรีบลุกขึ้นมาไม่ยอมแพ้ก็จะทำให้ได้ทางออกที่ดีเสมอ

ในส่วนของบทเรียนจากการทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม ซึ่งพอทำงานเป็นทีม จากที่ต้องคิดคนเดียว ก็กลายเป็นว่าต้องมาแชร์ความคิดกัน ต้องยอมรับความคิดของกันและกัน ทำให้เห็นว่า การเป็นทีมเวิร์ค เป็นสิ่งสำคัญมาก กับความสัมพันธ์กันในทีม

โรงเรียนปัว กับแบรนด์: มะมื่นบัตเตอร์ – มะมื่นจากป่า สู่เนยถั่วสัญชาติไทย จากใจชาวน่าน

ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเนยถั่วมะมื่น มีทั้งหมด 2 รสชาติ 4 แบบ ได้แก่ ออริจินัลสมูท, ออริจินัลครั้นชี่, โกโก้สมูท และโก้โก้ครั้นชี่

ปัจจัยที่ทำให้ผ่านอุปสรรคมาได้คือความอดทนและความสามัคคีกว่าจะได้เนยมะมื่นมากระปุกหนึ่งทีมช่วยกันแกะมะมื่นเป็นกิโล ๆ เม็ดนึงแกะทีละนิด กว่าจะได้กระปุกนึงจะใช้จำนวนเยอะมาก ถึงแม้จะใช้เวลาไม่นานแต่ต้องค่อย ๆ ทำ ใช้ความอดทนความพยายามและความสามัคคีกันอย่างแรงกล้า ซึ่งก็ต้องคุยกันต้องเชื่อใจกันอย่างมาก ถึงแม้บางครั้งมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่สุดท้ายการเปิดใจให้กัน ก็ทำให้ทุกอย่างลงตัวมาจนทุกวันนี้

โรงเรียนเชียงกลาง ประชาพัฒนา กับแบรนด์:  น้ำพริกสามช่าน้ำพริกสามสไตล์ พร้อมสาหร่ายไกยี

สำหรับกลุ่มนี้ใช้ชื่อน้ำพริกว่า “น้ำพริกสามช่า” ก่อนหน้านี้ทีมคิดจะทำที่ข่วนเล็บแมว แต่ก็เจอกับอุปสรรคใหญ่หลวง ทำให้ต้องมาเปลี่ยนเป็นน้ำพริก นั่นก็คือ ไม่มีเวลามากพอที่จะสามารถวิจัยการใช้งานกับแมว และด้วยเวลาที่มีน้อย จนเหลือเวลาแค่ 4 วันก่อนที่จะเข้ามาแคมป์กล้าลุย จึงเปลี่ยนผลิตภัณฑ์มาเป็น น้ำพริกสามช่า แทน

ถึงแม้จะเสียเวลาไปค่อนข้างมาก แต่ในท้ายที่สุดก็เปลี่ยนความคิดมาขายน้ำพริกแทน ซึ่งก็ยังต้องเจอปัญหาการสั่งผลิตสินค้าแล้วไม่ได้ตามที่ต้องการอีก ทำให้ตอนนั้นรู้สึกท้อมาก แต่สุดท้ายก็มาคิดได้ว่า นี่ยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อสู้กันมาถึงขนาดนี้ก็ต้องฮึดสู้กันต่อไป ตอนนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการทำน้ำพริกกันเอง โดยทำใหม่ทั้งหมดเพื่อให้พร้อมกับการลุยตลาดครั้งแรก

จากการได้ลงมือปฏิบัติ แม้อาจจะต้องเจอกับอุปสรรคติดขัดระหว่างทางไปบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนส่งผลทำให้น้อง ๆ มีทักษะในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่เจอ ต่อยอดไปสู่การปฏิบัติจริงนอกห้องเรียนได้ 

และนั่นก็คือบทเรียนก้าวแรกของการเริ่มต้นทำธุรกิจ ส่วนก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร ติดตามให้กำลังใจพวกเขาได้ในแคมป์สุดท้ายกล้าก้าวถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะเตรียมความพร้อมเยาวชนเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ให้ก้าวออกไปสู่โลกกว้างในอนาคต