เวลาจะต้องไปฝึกงานทั้งที เชื่อว่าน้องๆ หลายคนจะมีความรู้สึกหวั่นๆ และประหม่าอยู่นิดๆ เพราะไม่รู้จะต้องเข้าไปเจอกับอะไรบ้าง จะต้องนั่งอยู่แต่ออฟฟิศ คอยถ่ายเอกสาร หรือชงกาแฟอย่างเดียวรึเปล่านะ? แต่ที่ K Capstone ถือเป็นโครงการฝึกงานที่ต้องบอกว่า…เป็นมากกว่าแค่ฝึกงาน ที่เรียกว่าลบภาพการฝึกงานในแบบที่คุ้นเคยออกไป เพราะที่นี่จะเป็นการฝึกงานแบบ Project-Based Learning ซึ่งเป็นการฝึกงานที่น้องๆ ได้ทำโปรเจกต์ธุรกิจขึ้นมา แน่นอนว่าเป็นอะไรที่ท้าทายมาก สำหรับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพราะพวกเขาจะได้เรียนรู้ ทดลอง และสร้างสรรค์ผลงานผ่านแนวคิดใหม่ๆ ของพวกเขา ที่เผลอๆ ไอเดียนี้จะฉีกกรอบการทำธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ ก็เป็นได้…. ความน่าสนใจของการฝึกงานในรูปแบบ Project-Based Learning ของธุรกิจสายการเงินอย่างธนาคารกสิกรไทย ทำให้ทีมงาน mango Zero อดไม่ได้ที่อยากจะเข้าไปพูดคุยกับผู้ริเริ่มโครงการนี้ รวมถึงน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ K Capstone ว่าแท้จริงแล้ว ฝึกงานที่นี่เป็นมากกว่าแค่ฝึกงาน…จริงไหม? โครงการ K Capstone คืออะไร ? ก่อนที่จะไปคุยกับน้องๆ ทีมงาน Mango Zero ขอคุยกับคุณธันม์ทวิน คู่เรืองตระกูล Co-Department Head-Strategic People Solutions Department ถึงที่มาของโครงการนี้ “เริ่มจากสังเกตความสนใจนักศึกษารุ่นใหม่ว่าเขาสนใจอาชีพด้านไหน และพบว่าน้องๆ สนใจมีธุรกิจของตัวเอง จึงทำโปรแกรมการฝึกงานนี้ขึ้นมา ที่ดีไซน์เป็นโปรเจกต์เบสจำลองให้น้องๆ ได้ลองทำธุรกิจ” แล้วต่างกับการฝึกงานทั่วไปยังไง? คุณธันม์ทวิน : ต่างสองแบบครับ คือหนึ่งการฝึกงานทั่วไปคือ จบด้านไหนทำด้านนั้น แต่ที่นี่เรารวมคนจากหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ หรือการตลาด มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ครอสฟังก์ชันกันตามความเข้าใจ ส่วนที่สองการฝึกงานทั่วไปเป็นงานเอกสารทั่วไป ถ่ายเอกสาร แต่พอเราเป็นโปรเจกต์เบส ให้น้องๆ เสนอโครงงาน ถ้าผลงานเข้าตาเราอาจนำไปใช้ทำจริง แน่นอนว่ามาฝึกงานที่นี่ไม่มีชงกาแฟ ถ่ายเอกสาร เพราะให้น้องๆ ทุกคนออกแบบเวลาและจัดการเวลาเอง และนี่คือน้องๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการ K Capstone ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว นั่นก็คือ น้องต้น เลอมาน อูมา จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ , น้องโบว์ดี้ นภสร ปิยะสินชัย จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ทวินซิตีส์ Supply Chain and Operation Management, Marketing และน้องเชอรี่ ธนวรณ เหรียญทิพยะสกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์–ธุรกิจระหว่างประเทศ ได้ข่าวว่าโครงการ K Capstone เขาคัดกันเข้มข้นมาก? น้องต้น : ตอนสมัครก็แอบยากอยู่นะครับ เพราะมี 2 ครั้ง ทั้งข้อเขียนและเวิร์คชอป ตอนแรกคิดว่าไม่ผ่านข้อเขียน แต่ก็ผ่านได้ อย่างตอนข้อเขียนผมมาคนเดียวเพราะเพื่อนๆ ไปสายวิศวะคอมไปทางเขียนโค้ดส่วนผมมาอีกทางซึ่งตอนรู้ว่าติดคือตื่นเต้นมากเพราะต้องทำงานกลุ่มไม่รู้จะเข้ากับเพื่อนได้ไหมแต่ทุกคนเก่งมากสุดท้ายเราก็ติด รู้สึกดีใจระดับยกภูเขาออกจากอก น้องเชอรี่ : ตอนได้คือดีใจมาก ลุ้นมาก แบบนั่งดูโทรศัพท์รอเลยค่ะ พอได้เข้ามาแล้วต้องทำอะไรบ้าง? น้องโบว์ดี้ : ตอนแรกเราก็จะได้ประสบการณ์เรียนรู้จากธนาคารกสิกรที่เขาจัดให้ คือไปเรียนรู้เกี่ยวกับธนาคาร เกี่ยวกับสตาร์ทอัพกับผู้ที่มีประสบการณ์มากมายมาสอนเรา และเราก็ได้ไปเข้าค่ายที่บางประกงด้วยค่ะ พอหลังจากนั้นอาทิตย์ที่สามก็ได้เริ่มทำโปรเจกต์ ได้รับโจทย์ ในช่วงแรกๆ ที่ทำ Enterprise Define แล้วก็จะมีการร่วมกลุ่มกับเพื่อน brainstorm หาไอเดียว่าสิ่งที่เราอยากทำ สิ่งที่เราอินทั้งกลุ่มคืออะไร และพอเราชัดเจนแล้วว่าเราอยากทำสตาร์ทอัพในรูปแบบไหน เราก็แบ่งงานกันทำ ใครถนัดส่วนไหนเราก็แบ่งงานกันทำภายในกลุ่มค่ะ อะไรคือความต่างของการมาฝึกงานที่นี่ น้องโบว์ดี้ : ที่ที่ฝึกมาเหมือนกับเราต้องมานั่งออฟฟิศ เราต้องมานั่งทำงานและฝึกงานในสายที่เราเรียนมา แต่ที่นี่ให้เราทดลองทำในหลายรูปแบบ และได้ลองทำโปรเจกต์จริงที่เป็นโปรเจกต์สตาร์ทอัพ ทำให้ได้ประสบการณ์ในหลายๆ แนว และได้ค้นพบตัวเองจริงๆ น้องเชอรี่ : ก็คือชิลล์มากค่ะ บรรยากาศไม่กดดัน นั่งทำงานตรงไหนก็ได้ ทำร้านกาแฟก็ได้ เดินไปโต๊ะนู้นโต๊ะนี้ นอกสถานที่ได้ พอทำงานฟรีสไตล์แบบนี้ ทำให้ได้เจอผู้คน ความคิดเปิดกว้างขึ้น ยังมีพี่ๆ จาก KBank มาคอยเป็นเมนเทอร์ด้วย? น้องต้น : ทุกๆ อาทิตย์ก็จะมีคนมาแชร์ความรู้ วิธีทำงานว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ที่มีทั้งพี่ๆ จากธนาคารกสิกรและพี่ๆ ในวงการสตาร์ทอัพ มาคอยให้คำปรึกษา วิดีโอคอลปัญหา ปรึกษาได้ว่าโปรเจกต์ที่เราทำเวิร์คไหม น้องเชอรี่ : พี่ๆ เมนเทอร์ดีมากเลยค่ะ พร้อมให้คำปรึกษาเวลาอยากปรึกษาถามได้ตลอด พาไปเลี้ยงข้าว หาความรู้ข้างนอกมาให้ ห่วงใยมาก เวลาพี่ๆ มาสอนเป็นแนวให้คำปรึกษามากกว่า แนะนำอันไหนดี แนะนำความรู้เพิ่มเติม เหมือนมีที่พึ่งพา สิ่งที่ได้รับจากการฝึกงานครั้งนี้ ? น้องต้น : พอผมได้มาโครงการนี้เหมือนเปิดโลกไปอีกหนึ่งใบเลยครับ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธนาคาร ตอนแรกคิดว่าไปกดเงินธนาคารตามตู้อะไรแค่นี้ครับ แต่พอมาจริงๆ มีอะไรมากกว่านั้น คือได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเลยครับ น้องเชอรี่ : มาที่นี่ได้เพื่อนที่สนิทมากๆ เพิ่งรู้จักกันเดือนกว่าๆ แต่เหมือนสนิทกันมาหลายปีเลยค่ะ คือพร้อมเปิดใจพร้อมช่วยเหลือกัน ฝากเชิญชวนน้องๆเข้ามาสมัครรุ่นต่อไปหน่อย น้องโบว์ดี้ : ได้ทำอะไรที่แบบจะออกจาก Comfort Zone ได้หาตัวเองได้ค้นพบตัวเองใหม่ๆ น้องเชอรี่ : น้องๆ จะได้ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ไปพร้อมๆ กันและก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานกับเพื่อนแถมที่นี่ยังมีสิทธิพิเศษให้น้องๆ มากมายเลย ไม่บอกแต่ให้น้องๆมาดูเอง K Capstone ในปีต่อๆ ไป คุณธันม์ทวิน : การที่เราจัด K Capstone ในแต่ละรุ่นเราจะได้เรียนรู้กับน้องๆ ได้ฟังฟีดแบ็คส์ของน้องๆ ในแต่ละปีเพื่อจะได้พัฒนารุ่นต่อๆ ไปเพื่อให้น้องๆ ได้เข้ามาและได้ประโยชน์สูงสุด ฟังพวกเขาเล่ามาขนาดนี้แล้ว ทีมงาน Mango Zero เองก็แอบอยากจะไปสมัครรุ่นต่อไปเลย แต่ติดที่…อายุเกินแล้ว เพราะโครงการ K Capstone รับนักศึกษาชั้นปีที่ 3,4 ถ้าน้องๆ คนไหนเข้าข่ายอยากให้ลองสมัคร เพราะเชื่อว่าคงได้ประสบการณ์ที่หลากหลายและอาจได้ค้นพบเส้นทางใหม่ๆ ที่เป็นมากกว่า…แค่ฝึกงาน