สัมภาษณ์ : บ.ก. บทสัมภาษณ์ The Cloud 'เบลล์—จิรเดช' ถึงวิธีสัมภาษณ์ยังไงให้ดีกว่าที่เรากำลังสัมภาษณ์เขาอยู่

Writer : Sam Ponsan

: 7 มีนาคม 2561

jirabell-web-edit

บทสัมภาษณ์นี้ไม่ได้เริ่มต้นเพราะว่าเรารู้จักกับ ‘เบลล์ – จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์’ แต่เพราะเราเห็นว่าเขาทำสัมภาษณ์เก่ง เล่าเรื่องสนุก เป็นหนึ่งในนักสัมภาษณ์รุ่นใหม่ที่ทำสัมภาษณ์น่าอ่านคนหนึ่งในยุคที่คนทำสัมภาษณ์เก่งๆ หายาก เราจึงอยากจะชวนจิรเดช มาคุยกันในเรื่องของการทำสัมภาษณ์ศาสตร์แห่งการเขียนที่เหมือนจะง่าย แต่ความจริงแล้วมีรายละเอียดที่มากมายในการทำให้ออกมาดี เราเชื่อว่าเขาแลกเปลี่ยนกับเราในเรื่องนี้ได้ 

หลายคนน่าจะงงว่าเบลล์ – จิรเดช คือใคร และกำลังจะไถนิ้วหนี รอก่อน…ฟังเราเล่าสักนิดนึง ขอเล่าย่อๆ จิรเดช เป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ของ readthecloud.com ทำงานเกี่ยวกับนิตยสารมาหลายปีตำแหน่งล่าสุดคือหัวหน้ากองบรรณาธิการ a day เขาสัมภาษณ์คนมานับไม่ถ้วน เขียนบทสัมภาษณ์มากมาย หลายชิ้นเราชมเขาได้เต็มปากว่า “เออ…มึงเก่งว่ะเบลล์”

เบลล์ยังเป็นนักเขียนสำนวนอบอุ่นนามปากกา ‘Jirabell’ เจ้าของหนังสือเหงาๆ อุ่นๆ เช่นความเรียงเรื่องความสัมพันธ์  ‘เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว’ หรือ บันทึกการเดินทางคนเดียวที่ฮ่องกง ‘Loney Land’

interview-jirade-ophatphanwong-5

เบลล์ ออกตัวกับเราตั้งแต่แรกว่าเขาไม่ใช่อาจารย์ที่กล้าจะไปสอนใคร ดังนั้นการคุยกันวันนี้เบลล์ ขอเปลี่ยนจากการที่เราขอให้เขาสอนกลายมาเป็นแชร์ประสบการณ์มากกว่าชี้นิ้วบอกว่าควรทำแบบไหน เราพยักหน้าอย่างเห็นด้วย แล้วเริ่มพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน หากคุณอยากเป็นคนทำสัมภาษณ์ที่ดี หรือสนใจอยากเรียนรู้ว่าคนทำสัมภาษณ์มีวิธีคิดอย่างไร ลองฟังเราคุยกันสักนิด

“คุยกันสบายๆ นะพี่” เบลล์ เริ่มต้นเปิดประเด็นกับเราด้วยประโยคที่เขาชอบพูดอยู่ประจำ

เวลาเลือกสัมภาษณ์ใครสักคนคุณเลือกจากอะไร

ผมเชื่อว่าทุกสื่อมีจุดร่วมคล้ายกันคือเลือกทั้งคนในกระแส และคนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสแต่ทำสิ่งที่มีพลังหรือน่าสนใจจนอยากผลักดัน  ผมรู้สึกว่าในยุคที่เต็มไปด้วยคนทำอะไรแบบเดียวกันเต็มไปหมด แม้บางเรื่องที่มันเฉพาะกลุ่มมากๆ ก็ยังมีคนที่ทำสิ่งนั้นเยอะอยู่ดี ในแง่ของคนเป็นสื่อผมรู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่เลือกประมาณหนึ่ง ต้องมีสายตาที่สามารถแยกสิ่งที่เรารู้สึกพิเศษออกจากสิ่งที่ธรรมดา สื่อทุกสำนักผมเชื่อว่ามีสิ่งนี้เพราะมันคือประสบการณ์ของคนทำสื่อ

ยกตัวอย่างเวลาผมดูกีฬา ผมเจอนักกีฬาที่เขาสู้มากๆ ผมก็จะเห็นความพิเศษในสิ่งนั้น ขณะเดียวกันบางคนไม่ได้ดูกีฬา เขาก็ไม่ได้มองว่ามันน่าสนใจ ล่าสุดผมไปสัมภาษณ์นักสนุกเกอร์หนุ่มชื่อซันนี (อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์) ประเทศไทยมีนักสนุเกอร์ไม่น้อยที่เป็นหน้าใหม่ แต่ซันนี เรารู้จักชีวิตเขาว่ามันพิเศษ เรื่องราวของเขามันพิเศษที่น่าสนใจ

ไปเจอซันนี มาได้ยังไง

ผมเป็นพวกบ้ากีฬาอยู่แล้ว ด้วยพื้นฐานเราบ้าฟุตบอลไม่ได้ดูฟุตบอลอย่างเดียวเราติดตามกีฬาทุกประเภท ดูแล้วอินไปกับมันได้ ดูแล้วรู้ว่าแบบไหนเก่ง แบบไหนธรรมดา ซึ่งซันนีผมไปเห็นข่าวว่าเขาเกือบชนะ ‘รอนนี่ โอซุลลิแวน’ ตำนานสนุกเกอร์ชาวอังกฤษ ตอนนั้นซันนี อายุ 22 เอง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอายุก็คือเรื่องราวในชีวิตเขา ผมไปดูคลิปวิดีโออันหนึ่งของเขา เป็นคลิปที่ซันนี ทำโต๊ะสนุกเองสำหรับฝึก ทำหลุมให้เล็กลง เพื่อที่เวลาไปแข่งจริงหลุมมันจะใหญ่ ตอนที่เห็นผมรู้สึกว่านี่มันอย่างกับอ่านการ์ตูนหรือดูหนังเลยนี่หว่า

มีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าเขาสนใจนั่นคือเวลาอ่านเฟซบุ๊กของพ่อเขา เราเห็นข้อความที่ก็เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด น้อยใจ ท้อใจ รู้สึกว่าคนแม่งปล่อยให้เขาสู้กันเอง เราไม่ค่อยเห็นชีวิตนักสนุกเกอร์ในมุมนี้ เราเลยเสนอทางทีมอยู่ว่าอยากสัมภาษณ์ซันนี เพราะเรื่องราวเบื้องหลังน่าสนใจ เรารู้จักชีวิตเขาว่ามันพิเศษ เรื่องราวมันพิเศษ ผมเชื่อว่าถ้ามองดีๆ มันมีความพิเศษอยู่ ทุกคนในกองบรรณาธิการก็อินเราเลยได้คุยกับซันนี

ส่วนคนเล็กๆ คนอื่นที่เลือกไปสัมภาษณ์มันก็มีจุดเริ่มต้นจากสิ่งนี้แหละ สมมติน้องในกองฯ คนหนึ่งบ้าอะไรที่ออแกนิกมากๆ แล้วไปเจอคนตัวเล็กๆ ในแวดวงออแกนิคที่สู้อยู่คนเดียว แต่ไม่มีใครเห็นแล้วมันไม่อยู่ในกระแสด้วยนะ แต่น้องอยากเล่าชีวิตเขามันก็น่าสนใจ ดังนั้นเวลาเลือกใครสักคนมันจะเกิดจากประสบการณ์ของคนเลือกด้วยว่ามองเห็นในมุมไหน

interview-jirade-ophatphanwong-11

เวลาสัมภาษณ์ทำยังไงให้เขาเปิดใจกล้าที่จะตอบ 

เราไม่สามารถบอกได้ว่าเวลาเข้าหาคน คุณใช้วิธีแบบนี้กับทุกคนเลยนะแล้วคุณจะได้บทสัมภาษณ์ที่ดีมันไม่มี ถามว่าสัมภาษณ์นักบอล สัมภาษณ์นักร้อง สัมภาษณ์นักการเมือง ใช้อายส์คอนแท็คแบบเดียวกันได้ผลแบบเดียวกันไหม เริ่มต้นคำถามเหมือนกันได้คำตอบที่ดีเหมือนกันไหม

ดังนั้นประสบการณ์สำคัญมากที่จะบอกว่าควรคุยกับแต่ละคนอย่างไร ประสบการณ์จะบอกเราเองว่าการเข้าหาคนเคมีแบบนี้ บุคลิกแบบนี้อาชีพแบบนี้คุณคุยยังไงให้ได้บทสนทนาที่ดีกลับมาได้

มันไม่มีวิธีเดียว แต่หลักๆ ถ้านับจุดร่วมของทุกคนคือการเปิดใจ สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มต้นกับคนที่เราไปสัมภาษณ์เสมอคือ “คุยกันสบายๆ นะ…” ผมใช้คำว่าคุย ในแง่หนึ่งคือทำให้เขาลืมว่าเรากำลังสัมภาษณ์ ผมคิดว่าการสัมภาษณ์ถ้าจะให้ดีมันต้องเป็นการคุย การคุยมันคือการพูดและฟัง

ดังนั้นทักษะหนึ่งที่จำเป็นมากที่สุดก็คือการฟัง การคุยมันเหมือนมีคำว่าฟังอยู่ในนั้นด้วย การคุยกันคือเปิดใจ คุยกับเขา ตั้งใจฟัง นี่แหละเป็นเทคนิคที่ใช้ได้เสมอ มันสร้างความประทับใจ ไม่รู้ว่าคนอื่นรู้ไหม แต่การตั้งใจฟังมันสร้างความประทับใจได้นะ

รู้ได้ยังไงว่าเขากล้าที่จะเล่าให้เราฟังทั้งหมดแล้ว

ในแง่หนึ่งต้องเข้าใจว่าคนที่เราไปสัมภาษณ์ด้วยว่าเขาไม่ได้ไว้ใจเรา 100% แต่พอคุยไปช่วงหนึ่งมันจะปลดล็อคได้ ช่วงที่ปลดล็อคน่ะผมสังเกตด้วยตัวเองมันเกิดจากการฟังเขา ผมคุยไปเรื่อยๆ ถามคำถามที่เขารู้ว่าเราตั้งใจฟังและถามในสิ่งที่เขาไม่เคยพูด การตั้งใจฟังมันแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพบางอย่าง สิ่งนี้มันจะสร้างความมั่นใจและการเปิดใจของเขาได้ สามารถทำให้เขาพูดประโยคที่เซนซิทีฟได้โดยมั่นใจว่าเราจะไม่เอาไปทำซี้ซั้วเสียหาย

ผมเคยโดนคนสัมภาษณ์มาบ้างซึ่งไม่เยอะหรอก ผมเพิ่งรู้สึกว่าการที่นั่งคุยกันแล้วถามตามโพยแบบข้อที่ 1 นะพี่เบลล์ ข้อถัดไปนะครับ ข้อต่อไปครับ ในแง่คนสัมภาษณ์เราไม่รู้ความต่าง แต่วันที่เราโดนสัมภาษณ์บ้างรู้ความต่างของมันเลยว่าถ้อยคำที่พูดออกไปในคำตอบไม่สนใจเลยเหรอวะ (หัวเราะ) มันมีหลายอย่างเลยที่พูดแล้วกลางทางมันขยายไม่ได้แต่ไม่ถามต่อ

แล้วคุณมีโพยคำถามติดไปด้วยหรือเปล่า

ผมมีคำถามเตรียมไปแต่เป็นเหมือนแผนที่ไม่ให้หลงมากกว่าเอาไว้ดูตลอดการสัมภาษณ์ ช่วงแรกที่สัมภาษณ์ก็เป็นแบบนี้ บางชิ้นรู้สึกว่าเขียนได้ดีฉิบหายเลยแต่ไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร หรือไปสัมภาษณ์นี่ก็ต้องพึ่งดวงเกิดท็อปฟอร์มชวนคุยเก่งขึ้นมาก็ดีไป ถ้าฟอร์มตกก็แย่ไปเลย

ช่วงแรกผมรู้สึกไม่ปลอดภัยถึงขั้นต้องนั่งหาเลยว่ามีอะไรทำให้ผมรู้สึกปลอดภัย เราเคยเตรียมคำถามไว้เยอะมาก เป็นสิบข้อแต่ทำไปเรื่อยๆ รู้สึกเลยว่าวิธีนี้ไม่เหมาะ ไม่ปลอดภัย และไม่ใช่วิธีที่ทำให้สร้างคำถามแบบไม่จำกัดได้ ผมเคยเตรียมคำถามที่คมที่สุด 20 คำถามกำใส่มือไว้เลย

interview-jirade-ophatphanwong-1

ได้ผลไหม

ไม่ได้ผลว่ะพี่ (หัวเราะ) ตอนที่ถามคำถามที่ 4 เขาตอบคำถามกินกับคำถามที่ 16 และ 18 ด้วยแล้วยังไงต่อวะ ทำงานไปสักพักก็มาค้นพบวิธีที่ผมใช้เสมอมาและสร้างคำถามแบบไม่มีลิมิตได้เลยคือผมไม่ได้ตั้งต้นจากคำถาม แต่ตั้งต้นจากประเด็น

มันเหมือนจับคุณไปปล่อยที่เมืองๆ หนึ่งที่คุณไม่รู้ว่าเมืองนั้นมีอะไรขึ้นชื่อบ้างสะเปะสะปะสัส เมืองนี้มีร้านอาหารอร่อยชิบหายแต่คุณไม่รู้เลยกินตามสั่งซะอิ่มเลย (หัวเราะ) แต่ถ้าเริ่มต้นคิดจากประเด็นมันเหมือนทำให้รู้ว่าเมืองนี้มีอะไรขึ้นชื่อบ้าง ทีนี้ค่อยมานั่งสิลต์คำถามจากประเด็นนั้น คำถามที่ลิสต์มาก็ไม่ได้เอาไปท่อง แต่ลิสต์มาเพื่อทบทวนว่าเราอยากรู้อะไร

พอเห็นโครงตรงนี้ไปนั่งคุยกางคำถามปุ๊บรู้เลยว่าจะคุยเรื่องอะไรก่อน แล้วประเด็นอื่นไม่ต้องไปแตะเพราะเดี๋ยวได้คุยแน่นอน คุยไปเต็มที่เลยสบายๆ เพราะเรารู้ว่ากำลังเดินอยู่ทางไหน  เราไม่ได้บอกว่าวิธีนี้ดีที่สุดพี่หนุ่ม (โตมร ศุขปรีชา) มีอีกวิธีหนึ่ง พี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) มีอีกวิธีหนึ่งแต่เราใช้วิธีนี้แล้วปลอดภัย

สัมภาษณ์คนแบบไหนยากที่สุด

(ตอบเร็ว) นักกีฬา

เออ รู้สึกเหมือนกันเลย

(หัวเราะ) ผมเคยคุยกับนักสัมภาษณ์คนอื่นอย่างพี่หนึ่ง เขาก็บอกว่าเห็นด้วย เวลาไปสัมภาษณ์เราอยากได้อะไรจากคนที่ไปคุยด้วยแน่นอนอยู่แล้วว่าคือข้อมูล แต่ที่แน่ๆ นอกจากนี้เราอยากได้ความคิด และความรู้สึกของคนๆ นั้น ซึ่งนักกีฬาเขาไม่ได้เป็นอาชีพที่คิดเยอะ ผมไม่ได้หมายถึงเขาไม่มีความคิด นักกีฬาทำเยอะกว่าพูด และไม่ใช่คนที่จะมาตีฟูขยายความหมายในคำถาม เขาไม่ใช่เป็นคนที่อวดอ้างว่าชั้นมีความมุ่งมั่นเหนือคนอื่น มันเลยยากในการพูดคุยซึ่งในแง่ของคำตอบเราเดาได้เช่น “ทำไมชอบเตะบอล” ก็พอจะเดาได้ว่าสนุกก็เลยทำ หรืออะไรทำนองนี้

interview-jirade-ophatphanwong-13

นักสัมภาษณ์ที่ดีไม่ควรพลาดเรื่องอะไร

การทำการบ้าน เราสามารถคุยกับเขาได้แบบมีคำถามไม่จำกัดถ้าทำการบ้านมา แต่ถ้าไม่รู้เลยว่าคนนี้ชอบอะไร เกลียดอะไร เคยพูดอะไรมาแล้วบ้าง ตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่ อีกสี่เดือนเขากำลังจะทำอะไร สิบปีที่แล้วเขาทำอะไร เขาเคยทะเลาะกับใคร รักใคร ถ้าไม่รู้สิ่งเหล่านี้เราจะไม่สามารถสร้างบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติได้เลย

อีกอย่างการทำการบ้านคือการให้เกียรติคนที่เราคุยด้วย บางคนนี่ไม่ควรถามคำถามนี้ออกไปเลยเช่น ทำไมคุณถึงทำสิ่งนี้ ถ้าถามคนที่โลว์โปรไฟล์โอเคนะมันจำเป็นต้องรู้ แต่สมมติไปถามคนที่ดังอยู่แล้ว เคยมีเรื่องราวออกสื่อมากมายอยู่แล้วเช่นไปถาม พี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) ว่าตอนเริ่มต้น a day เป็นยังไงเล่าให้ฟังหน่อย อย่าคิดว่าไม่มีใครถามนะ (หัวเราะ) นี่คือไม่ทำการบ้าน

แล้วคนที่โลว์โปรไฟล์มากๆ คุณทำการบ้านอย่างไร

ผมถึงขั้นไปตามดูเฟซบุ๊คคนที่เราจะไปสัมภาษณ์เลยนะว่าตอนนี้เขาคิดอะไร หรือกำลังฉุนเฉียวเรื่องอะไร อย่างพ่อของซันนี คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าเขายากจน เขาทำโต๊ะสนุกเอง เขามีปัญหากับสมาคมสนุกเกอร์ สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่รู้มาก่อนเราจะไม่มีทางพาบทสัมภาษณ์ไปไกลกว่าแค่ “ทำไมคุณถึงเริ่มเล่นสนุกเกอร์” การทำการบ้านมันสำคัญมาก เพราะมันทำให้คนทำได้บทสัมภาษณ์ที่ไปไกลกว่าบทสัมภาษณ์ทั่วๆ ไป

คนคุยเก่งจะเป็นนักสัมภาษณ์ที่ดีได้ไหม

กว่าจะได้มาซึ่งบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งมันใช้หลายทักษะมาก มันไม่ใช่แค่เขียนหนังสือดีแล้วจะได้บทสัมภาษณ์ที่ดี ไม่ใช่ว่าคุยเก่งอย่างเดียวแล้วจะเรียบเรียงดี มันย้อนแย้งตรงที่ทักษะการคุยกับทักษะการเขียนมันคนละเรื่อง ส่วนใหญ่คนที่เขียนเก่งจะคุยไม่เก่ง ส่วนใหญ่คนคุยเก่งอาจเรียบเรียงไม่ดี ทั้งสองทักษะมันจำเป็นในบทสัมภาษณ์หมดแล้ว

ยังไม่นับในแง่อัธยาศัยหรือเคมีบางอย่างอีก การทำสัมภาษณ์สำหรับเรามันก็เลยยากเสมอ ผมทำมาเกือบ 10 ปีก็ยังรู้สึกกว่ามันยากอยู่  ทุกอย่างมันกระทบถึงกันหมดอย่างสัมภาษณ์มาไม่ดีการเขียนให้ดีมันก็ยาก

interview-jirade-ophatphanwong-15

มีใครช่วยดูงานของคุณก่อนปล่อยออกไปไหม 

ทุกวันนี้ถ้าเป็นบทสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เช็คตัวเอง จะมีบางงานที่บรรณาธิการอย่างพี่ก้องช่วยดู

อะไรคือสิ่งที่เอามาเป็นมาตรฐานเช็คตัวเอง

ผมวัดจากความรู้สึกตัวเองว่าเราชอบงานนี้ไหม วัดจากเขียนเสร็จแล้วกล้าบอกชาวบ้านไหมว่าเราเขียน ถ้ากล้าแปลว่ามึงชอบ แล้วงานที่ชอบหรือไม่ชอบเราจะรู้ได้ เราก็ไม่ใช่คนที่อ่านงานสัมภาษณ์แล้วไม่รู้เลยว่างานสัมภาษณ์ที่แตะมาตรฐานเป็นอย่างไร และพอรู้มาตรฐานของมันอยู่ว่าควรจะทำถึงเท่าไหน จะได้กดปล่อยออกไปโดยไม่ดูถูกคนอ่าน

บางงานที่มันแค่แตะมาตรฐาน เราจะไม่ค่อยอยากบอกชาวบ้านเท่าไหร่ แต่บางงานทะลุไปในแง่เพดานความรู้สึกมันอยากบอก ต้องมีเส้นนี้แหละ มันแปลกนะงานที่ผมชอบมากๆ มักจะมีคนเห็นคุณค่าของมันบางมุม งานไหนที่ผมชอบปานกลางคนอ่านก็จะเฉยๆ ไปกับเราด้วย

ทั้งที่จริงคนอ่านไม่รู้ว่าคนเขียนชอบไหม แต่แปลกมากชิ้นไหนที่เราชอบมากๆ มันจะมีพลังบางอย่าง มีออร่า ทั้งที่เราไม่ได้ป่าวประกาศ มันไม่ได้คลิกเข้าไปแล้วมีเรตความตั้งใจเขียนไงนึกออกไหม (หัวเราะ) มันแปลว่าเรายังซื่อสัตย์กับงานตัวเองอยู่

คาดหวังอะไรกับบทสัมภาษณ์ที่กดพับบลิชออกไป

บทสัมภาษณ์หนึ่งชิ้นจะส่งผลต่อคนสามคน อันแรกคือคนเขียน ทุกชิ้นเราหวังได้อยู่แล้วล่ะว่าจะได้งานที่ดีออกมา มันคงไม่มีนักสัมภาษณ์คนไหนสัมภาษณ์เสร็จเดินกลับมาบ่นกับตัวเอง “กูแม่งไม่น่าไปสัมภาษณ์เลย” (หัวเราะ) เราคาดหวังว่าจะได้ประโยชน์กับตัวเองด้วย

ในแง่คนอ่านเราไม่ได้คาดหวังแค่ความสนุกเท่านั้นที่เขาจะได้รับ คุณค่าของงานสัมภาษณ์รวมไปถึงงานเขียนทุกชิ้นมีหลายมุม ทั้งได้แรงบันดาลใจ ได้รับพลัง ได้รับความฮึกเหิม อ่านแล้วรู้สึกเศร้าก็ยังได้เลยนะ ผมเคยอ่านที่พี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) ไปเวิร์คช็อปเขาบอกว่าปลายทางของงานเขียนมีสามอย่างคือ สร้างความรู้, สร้างความรู้สึก และสร้างการเปลี่ยนแปลง เรารู้สึกว่าจริง บางชิ้นเราอ่านแล้วแค่ อ้อ…คือรู้นี่คือประโยชน์ แต่มันจะอิมแพ็คกว่าถ้าเรารู้สึก ได้เศร้าไปด้วย ฮึกเหิมไปด้วย

ขั้นสุดท้ายคือสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่เราเล่า เปลี่ยนชีวิตคนอ่านหรือเปลี่ยนแปลงชีวิตคนเขียน งานเขียนแต่ล่ะชิ้นจะมีระดับของมัน เราไม่สามารถบอกได้ว่างานเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ในแง่ฝีมือเราด้วยนะ ไม่ใช่เขียนมาแล้วมึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทันที ไม่งั้นประเทศแม่งต้องเปลี่ยนแล้ว (หัวเราะ)

ส่วนคนที่เราสัมภาษณ์นั้นสิ่งที่ส่งผลกับเขาก็ต่างกัน เมื่อก่อนมันชัดมากว่าคนที่เราไปสัมภาษณ์เขาได้อะไรจากเรา ลองนึกภาพนักร้องสมัยก่อนลงบทสัมภาษณ์ แต่ก่อนสื่อศักดิ์สิทธิ์มากเพราะเขาจะได้รับพื้นที่ข่าวกลับไปเต็มๆ สมมติวงร็อควงหนึ่งทำอัลบั้มใหม่ ถ้าสื่อไม่บอกว่าเขามีอัลบั้มใหม่ ไม่มีใครรู้เลยนะ  แต่ในยุคนี้เราคิดแบบนั้นไม่ได้แล้ว พี่ตูน บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย) เขาได้อะไรถ้ามาสัมภาษณ์กับเรา ถ้าบอกว่า “เขาได้โปรโมทไง” ผมรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เฟซบุ๊กแฟนเพจของเขานี่ยอดไลค์เยอะกว่ากูอีกนะ (หัวเราะ)

interview-jirade-ophatphanwong-14

แต่หากบอกว่าสื่อช่วยโปรโมท Bodyslam ก็คงได้ถ้ามองในแง่ของบทบาทความเป็นสื่อ เพราะคนที่สัมภาษณ์คงไม่สามารถชื่นชมตัวเองได้ เขาจำเป็นต้องให้สื่อช่วยพิสูจน์บางอย่าง ใช้ประสบการณ์ของสื่อในการวิเคราะห์คุณงามความดีหรือวิพากษ์วิจารณ์เขา นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของสื่อ แต่ในแง่ตัวเลขเราจะมาช่วยโปรโมทให้คนเห็นเยอะเขาขึ้นผมว่าไม่ใช่แล้วล่ะ

คนตัวใหญ่ๆ ผมไม่แน่ใจว่าสื่อจะไปเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้แค่ไหน ผมกลับมองว่าเขาอาจจะเปลี่ยนชีวิตสื่อมากกว่าคือมีคนมาไลก์เพจเพิ่มขึ้น (หัวเราะ) แต่คนตัวเล็กๆ สื่อต้องมองให้เห็นคนเหล่านี้ เวลาผมเห็นน้องๆ ไปสัมภาษณ์คนตัวเล็ก ลึกๆ ผมรู้สึกดีนะ แม้กระทั่งซันนี เรารู้สึกว่าตอนแรกซันนี สู้กันเองพ่อลูก ไม่มีใครเห็นเลย พอปล่อยบทสัมภาษณ์ลงไปมีคอมเมนต์ว่า วันนี้เขามีเงินสนับสนุนหรือยัง, เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง, จะติดตามพ่อลูกคู่นี้

บทสัมภาษณ์นั้นไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ แต่มันมีข้อต่อบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว สมมติวันหนึ่งมีแบรนด์บางแบรนด์มาอ่านแล้วรู้สึกว่าทำไมสู้กันขนาดนี้แล้ว ถ้าเกิดเขาช่วยสนับสนุนขึ้นมาล่ะ เราคาดเดาไม่ได้ ผมรู้สึกว่าคนตัวเล็กๆ นี่แหละจะได้รับอิมแพ็ค นี่พูดถึงในแง่อิมแพ็คที่ดีในแง่อิมแพ็คที่ทำให้ชีวิตฉิบหายก็มีเหมือนกันลงไปแล้วโดนด่าดราม่าก็มี (หัวเราะ)

เขียนบทสัมภาษณ์ให้ดีต้องเขียนอย่างไร 

ถ้าพูดเรื่องการเขียนจริงๆ คุยได้เป็นวันๆ เพราะในแง่การเขียนมันมีหลายวิธี สำหรับเราสิ่งที่ผมคำนึงถึงเสมอมีอยู่สองสามประเด็นนั่นคือ ในแง่ตรรกะอ่านแล้วต้องเชื่อก่อน นี่สำคัญมาก เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ที่แบบไม่เชื่อหรอกว่ามึงถามแบบนี้ไม่เหมือนคนคุยกันเลย ไม่ว่าจะเขียนแบบถาม – ตอบ หรือเรียบเรียง คนเขียนต้องเช็คตรรกะก่อนว่าเวลาคุยกันมันเชื่อจริงไหม ถามคำถามนี้จริงเหรอ

ถ้าไม่เชื่อแล้วพลังมันจะลดลง เพราะบทสัมภาษณ์คือความจริง บทสัมภาษณ์มันคือการถ่ายทอดเรื่องของคนๆ หนึ่งไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องเช็คเสมอว่าปล่อยประโยคนี้ไปในย่อหน้านี้มันใช่หรือเปล่าวะ ตรรกะมันใช่ไหม เถียงได้ไหม ถ้าสามารถเถียงได้แปลว่าตรรกะมันผิด

อีกหนึ่งเรื่องที่เราพยายามใส่ในบทสัมภาษณ์คือความรู้สึกของคนที่เราสัมภาษณ์ เคยไหมเวลาที่ไปสัมภาษณ์ตอนฟังแล้วแม่งจะร้องไห้ เห็นใจมากสงสารฉิบหายเลยว่ะ หรือฟังแล้วฮึกเหิม สัมภาษณ์นักวิ่งแล้วกูอยากจะออกไปวิ่ง แต่พอกลับมาเขียนแล้วอ่านจบ สิ่งเหล่านี้แม่งไม่มีเลย ทำไมตอนไปฟังกูอยากจะออกไปทำอะไรสักอย่าง แต่เวลาเขียนออกมาทำไมกูไม่รู้สึกอะไรอย่างนั้น คือชื่นชมเขาเหมือนเดิมแต่ทำไมไม่รู้สึกเหมือนตอนที่เรานั่งฟัง

สำหรับผม เราจะคำนึงถึงอารมณ์ตอนที่ฟังแล้วเขียนให้รักษาสิ่งนั้นเอาไว้ไม่ให้หล่นหายไประหว่างที่เขียน ถ้าฟังแล้วหัวเราะ ตอนอ่านคนอ่านก็ต้องหัวเราะสิก็เขาพูดเหมือนกันทำให้คนอ่านนึกภาพให้ออกดิ ตอนที่ฟังบทสัมภาษณ์นี้แล้วฮึกเหิม คนอ่านก็ต้องฮึกเหิมด้วย มันอยู่ที่วิธีเรียบเรียงจริงๆ เราจะมาเล่าซื่อๆ เหมือนตอนที่ฟังไม่ได้ วิธีรับสื่อด้วยการฟังกับการอ่านมันไม่เหมือนกัน ต้องวางโครงเลย

สมมติตอนฟังสัมภาษณ์เราอยากให้คนอ่านซาบซึ้ง ข้อเท็จจริงบางอย่างถ้าบอกทีหลังมันจะเหมือนต่อยหน้าคนอ่านมันจะอิมแพ็คมากๆ แต่ถ้าไปเฉลยก่อนนี่จบเลยรู้หมดเลย เหมือนดูหนังมีเส้นเรื่องของมันจุดพีค จุดต่ำสุด พวกนี้มีเทคนิคแต่มันไม่ใช่เทคนิคตายตัวที่ต้องใช้

interview-jirade-ophatphanwong-2

อีกเทคนิคการเขียนหนึ่งที่ผมว่าทุกคนก็ใช้คือย่อหน้าแรก กับย่อหน้าสุดท้ายสำคัญมากสำหรับผมนะ ย่อหน้าแรกมันทำให้คนอยากอ่านเปิดเรื่อง ยิ่งเดี๋ยวนี้บนโลกออนไลน์ตัดสินบทความกันเร็วมาก อ่านไปสองย่อหน้ารู้สึกไม่ใช่เขาออกเลยนะ ขอยกตัวอย่างซันนี อีกที ผมถามน้องในกองฯ ว่ารู้หรือเปล่ารอนนี่ โอซุลลิแวน คือใคร น้องๆ ไม่รู้ ฉะนั้นความเจ๋งของซันนี ที่เราคิดจะปูมาว่าเขาเกือบชนะรอนนี่ จบเลยนะ คนไม่รู้ว่ารอนนี่ใครวะ ถ้าเราไปชูสิ่งนี้มันดึงคนไม่ได้

ถ้าไปสังเกตซันนี ย่อหน้าแรกผมเอาไว้ดึงคนที่ไม่ได้ดูสนุกเกอร์เลยนะ เราค่อยๆ ปูเรื่องของเด็กคนนี้ให้คนอ่านรู้จัก ชวนให้เขาให้นึกถึงคนๆ นึงที่อายุ 8 ขวบ พ่อไม่ได้แทงสนุกเกอร์ ทุกคนดูถูกว่าไม่มีอนาคต แต่พอ 10 ขวบ เขาได้แชมป์มาเรื่อยๆ ปูเรื่องมาแบบนี้ต่อให้คนไม่ดูสนุกเกอร์ก็เข้าใจได้ว่าคนนี้แม่งเจ๋งฉิบหาย ดังนั้นย่อหน้าแรกเอาไว้ดึงคนให้ยังอยากอ่าน อยากรู้

ส่วนย่อหน้าสุดท้ายมันเหมือนฉากจบของหนัง สมมติหนังเล่าดีมาทั้งเรื่องเลย แต่ตอนจบแย่มาก หรือบางทีหนังเหนือชั้นมาก แต่จบแบบสูตรมากมันทำให้หนังกร่อย อย่างเราเวลาอ่านหนังสือหลายเรื่องก็เล่าธรรมด๊าธรรมดา แต่พอใกล้จบแม่งพีคขึ้นมานิดเดียวแล้วแม่งจบได้ฟินสัส เรารักบทความนั้นเลยนะ เพราะย่อหน้าสุดท้ายคือตัวขมวดความรู้สึกสุดท้ายที่จะอยู่ในใจคนอ่าน คำว่าจบแบบมีพลังไม่ใช่ว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งด้วยนะ มันมีวิธีจบหลายแบบ ซึ่งก็เหมือนวิธีเปิดที่มีหลายแบบ ต้องออกแบบต้องแทนความรู้สึกว่าคนอ่านจะอิมแพ็คไหม

เสียดายไหมถ้าบทสัมภาษณ์ที่คุณชอบมันจะหายไปจากไทม์ไลน์ตามวัฏจักรของโลกออนไลน์

เราเข้าใจกันว่าลงปริ้นต์แม่งอมตะ ลงออนไลน์แป็บเดียวก็หาย แต่ถามว่าบทสัมภาษณ์ในนิตยสารที่คุณเคยชอบเมื่อ 10 ปีที่แล้วทุกวันนี้คุณหาเจอเหรือเปล่า

ถ้าเก็บอยู่ก็น่าจะยังมี

หากใช้ตรรกะ ‘ถ้าเก็บอยู่ก็น่าจะยังมี’ งั้นในออนไลน์ก็เหมือนกัน ถ้ายังเก็บมันก็ยังอยู่ เราศรัทธาในสิ่งพิมพ์นะ แต่ความเชื่อที่ว่ามันจะไม่มีวันหายไปถ้าอยู่ในหนังสือมันจะอยู่ตลอดไปเราไม่เชื่อ เอาแค่คนลืมมันมันก็หายแล้วเสิร์ชไม่เจอด้วนะ

กลับมาที่คำว่าเสียดายไหม เราก็ฝึกปล่อยวางนะ และสำหรับผมบทความมันมีฟังก์ชั่นของมันเมื่อได้ทำตามฟังก์ชั่นของมันแล้วก็โอเค สมมติหน้าที่ของมันคือทำให้คนไปดูหนังเรื่องนี้ก็จบแล้วนะ อีก 7 ปีคนจะกลับมาอ่านหรือเปล่าสำหรับผมไม่มีผลเลย

บทสัมภาษณ์ที่ดีมันไม่ต้องเก็บให้อีก 4 ชั่วอายุคนหรอกถึงตอนนั้นมันก็มีคนใหม่เกิดขึ้นแล้ว ผมไม่ได้หวังว่าคนที่อ่านแล้วจะกลับมาอ่านใหม่ แต่ทุกชิ้นเราตั้งเป้าในการเขียนแหละว่าสิบปีผ่านไปกลับมาอ่านก็จะได้พลังอยู่ นี่คือสิ่งที่ตั้งเป้าไว้

interview-jirade-ophatphanwong-3

หลังจากนี้บทสัมภาษณ์เข้มข้นจะหายไปไหม

ก็ต้องยอมรับว่าบทสัมภาษณ์ที่ดีมันหาอ่านยากขึ้นแหละปัจจัยสำคัญมันอยู่ที่เรื่องของสื่อด้วย ผมว่าชะตากรรมชีวิตของบทสัมภาษณ์มันอยู่ที่วิศัยทัศน์ของคนที่เป็นบรรณาธิการด้วยนะ สมมติพี่ก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน) บอกมาเลยว่า เบลล์ บทสัมภาษณ์ 12 หน้าสถิติหลังบ้านแม่งบอกเลยว่าไม่รอดว่ะ คนอ่านแม่งเท่านี้เปลืองแรงฟรี ต่อไปนี้เว็บเราจะทำบทสัมภาษณ์สั้นๆ  แล้วสองหน้าพอ เราก็ทำตามที่พี่ก้องบอก

ที่เราเห็นว่ามันหายไปก็เพราะเชิงนโยบายมากกว่า มันไม่มีหรอกที่บรรณาธิการ เดินมาบอกว่าทำสัมภาษณ์ใหญ่นะวันนี้ แล้วกองบรรณาธิการ จะงอแงบอกว่าไม่เอาขอทำชิ้นเล็กๆ ขี้เกียจ ไม่มีแน่นอน ส่วนคนอ่านจะมากน้อยก็อีกเรื่องนึง

คำพูดที่ว่า ‘เขียนยาวไปคนไม่อ่าน’ นี่จริงไหม 

ตอนผมย้ายมาทำออนไลน์มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเอาชนะมากเลยนะทั้งที่ชีวิตตัวเองก็ไม่เคยอยากจะเอาชนะอะไรสักอย่าง (หัวเราะ) นั่นคือมันมีประโยคว่า ‘คนในโลกออนไลน์ไม่อ่านอะไรยาวๆ’ ซึ่งแม่งเป็นประโยคที่คนเขียนอะไรยาวๆ เจ็บมากเลยนะ เขียนยาวมันไม่ง่ายนะเว้ย (หัวเราะ)

ประโยคที่ว่าเขียนยาวคนไม่อ่านต้องย่อยสี่ห้าตอนคนถึงจะอ่านเราคาใจนะ ซึ่งมันก็ไม่ถูกหรอกที่จะบอกว่ายาวกูก็อ่าน เพราะมันคือรสนิยมส่วนตัว แต่เราเถียงอยู่ในใจ (หัวเราะ) แต่นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราหาบทสัมภาษณ์ยาวๆ ที่ดีอ่านยากด้วยเพราะในทุกวันนี้คนดันเข้าใจว่าคนไม่อ่านอะไรยาวๆ

มันไม่รู้ว่าอะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นเพราะคนไม่อ่าน เขาเลยไม่ทำ หรือคนไม่ทำเขาเลยหาอ่านไม่ได้ แต่ประโยคนี้เราอยากเอาชนะมาก สมัยที่ทำงานอยู่นิตยสาร a day เราเขียนบทสัมภาษณ์ยาวมากแต่ก็ไม่รู้ฟีดแบ็คเราหลงดีใจว่าหนังสือขายได้แต่เขาอ่านหรือเปล่าวะก็ไม่รู้ บทสัมภาษณ์ 12 หน้านิตยสารเนี้ยมึงคิดไปเองหรือเปล่าว่าคนซื้อไปแล้วอ่าน

แต่พอทำงานบนออนไลน์มีข้อดีของมันคือแฟร์ อันไหนที่คนอ่านเยอะมันก็บอก อันไหนที่คนอ่านน้อยมันก็บอก เราใช้สิ่งนี้พิสูจน์ บทสัมภาษณ์ในเว็บที่เราทำเมื่อปีที่แล้วยาวที่สุดและมีคนอ่านเยอะที่สุดความยาว 12 หน้านิตยสาร ซึ่งมันคือบทสัมภาษณ์พี่ซุป (วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ) คุยเรื่องเด็ก เป็นบทสัมภาษณ์ที่เรารักมากและมีหลายบทสัมภาษณ์ที่คนอ่านเยอะ

นอกจากเราดีใจที่มีคนอ่านแล้ว ในแง่นึงมันถูกพิสูจน์ว่าถ้าคอนเทนต์มีพลังพอจะสั้นหรือยาวมันมีคนรออ่าน มีคนพร้อมอ่าน แต่ก็ยอมรับในตรรกะที่ว่า ‘สั้นๆ คนอ่านเยอะกว่ายาวๆ นะ’ (หัวเราะ) ผมก็เป็นเปิดไปเจออะไรยาวๆ กูออกก่อน กลับมาอ่านอีกทีหรือเปล่านั่นอีกเรื่องนึง

เพียงแต่ว่าบทความยาวๆ มันมีคนอ่าน อย่าไปเข้าใจว่าไม่มีคนอ่าน แต่บทสัมภาษณ์ยาวที่คนอ่านน้อยก็มี มันไม่มีอะไรที่เป็นสรุปแล้วมันจริงเลยยาวไม่อ่าน สั้นถึงอ่านมันไม่จริงเสมอไป

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save