Mango Zero

ฮาวทูสู้ร้อนฉบับอาทิตย์อุทัย คนญี่ปุ่นอยู่อย่างไรในอุณหภูมิ 40 องศา

เข้าสู่เดือนเมษายนแล้วววว ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วงเววลาที่ประเทศไทยเคลื่อนตัวเข้าใกล้นรกภูมิที่สุดในรอบปีนะครับ เดี๋ยวอีกไม่นานกรมอุตุนิยมวิทยาก็คงจะออกมาแจ้งเตือนเรื่องวันที่อากาศร้อนที่สุด และที่สุด และที่สุดไปเรื่อยๆ ..

เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ เราอาจจะจดจำประเทศญี่ปุ่นกันในฐานะสถานที่สำหรับไปสัมผัสอากาศหนาวและหิมะกันได้ชิคๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นนั้นก็ร้อนอบอ้าวทรมานไม่แพ้ฤดูหนาวของประเทศไทยเลยนะครับ (หืม?)

ฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นจะเริ่มในช่วงเดือนกรกฎาคม ไปจนถึงปลายๆ เดือนกันยายนที่อากาศจะเริ่มเย็นลง เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง โดยจะร้อนที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยจะไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส และอาจจะร้อนได้สูงสุดถึง 40 องศา หรือก็พอๆ กับอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยเลยนะครับ แน่นอนเราคนไทยกับการแก้ร้อนนั้นเป็นเรื่องคู่กันอยู่แล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นเขามีภูมิปัญญาแก้ร้อนกันยังไงบ้างนะ?

 

เปิดประตูนั่งดูสวน

โยชิดะ เคนโกะ พระนักประพันธ์ในสมัยมุโรมาจิเขียนไว้ว่า บ้านแบบญี่ปุ่นนั้นสร้างโดยคำนึงถึงความสบายในฤดูร้อนมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งก็มีเหตุมีผลนะครับ เพราะว่าในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศนั้น ในฤดูหนาวนั้นเราจะสวมเสื้อผ้าหนาๆ กี่ชั้นก็ได้ แต่ในฤดูร้อนนั้นความบางของเสื้อผ้ามันมีขีดจำกัด

บ้านแบบญี่ปุ่นจึงเต็มไปด้วยภูมิปัญญาสำหรับสู้ฤดูร้อน ตั้งแต่การสร้างบ้านโดยคำนึงถึงการให้ลมเข้าได้จากหลายๆ ทิศทาง มีช่องประตูและหน้าต่างมากมาย ยกตัวบ้านขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความชื้น ใช้ไม้หรือกระดาษที่ยืดหดง่าย ไวต่อความชื้น การทำพื้นกรวดบริเวณนอกตัวบ้าน ใช้ผนังดินช่วยรักษาความเย็นภายในบ้านไว้ รูปทรงหลังคาที่ไม่ทำให้บ้านร้อน และอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนที่น่าอยู่ที่สุดในบ้านแบบญี่ปุ่นช่วงหน้าร้อนก็คือบริเวณเฉลียง (เองงาวะ 縁側) หรือ นอกชาน (นุเรเอน 濡れ縁) ที่ป้องกันแดดไว้ด้วยม่านไม้ไผ่ที่เรียกว่า ซุดาเระ (すだれ) ก็เพียงพอแล้วที่เราจะนั่งทำกิจกรรมต่างๆ ไปพลาง มองสวนสวยร่มรื่นไปพลางได้ทั้งวัน

 

ใส่เสื้อผ้าสบายๆ

นอกจากที่อยู่อาศัยแล้ว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นหน้าร้อนไปได้ ซึ่งก็แน่นอนว่าคงจะไม่มีใครเสียสติใส่กิโมโนที่หนาหลายชั้นในหน้าร้อน ชุดกิโมโนแบบเรียบง่ายอย่างยูกาตะจึงเข้ามามีบทบาทแทน

ยูกาตะ (浴衣) เป็นกิโมโนประเภทหนึ่งที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือลินินที่บางกว่า สบายกว่า สวมใส่ง่ายกว่า คนเดียวก็ใส่ได้ ไม่ต้องถึงกับเรียนมา เดิมเป็นชุดไว้ใส่หลังอาบน้ำหรือนอนเท่านั้น จึงไม่สุภาพหากจะใส่ไปสถานที่ที่เป็นทางการ แต่ในหน้าร้อนนี้ก็สามารถใส่ในชีวิตประจำวัน หรือใส่ไปร่วมเทศกาลต่างๆ ได้

นอกจากชุดยูกาตะแล้ว ปัจจุบันชุดญี่ปุ่นอีกประเภทที่พบเห็นได้บ่อยในเทศกาลก็คือชุด จินเบย์ (甚平) ซึ่งเป็นชุดเสื้อ-กางเกง ทอจากป่านสบายๆ ซึ่งเดิมเป็นชุดอยู่บ้านของผู้ชาย แต่ปัจจุบันไม่ว่าเพศไหนวัยไหนก็ใส่ออกนอกบ้านเป็นแฟชันร่วมสมัยเก๋ๆ ได้แล้ว ใครที่อยากได้จินเบย์ไว้ใส่สักตัว ก็ลองไปดูที่ร้าน muji กันได้นะ

 

รดน้ำลดร้อน

อุจิมิซึ (打ち水) คือประเพณีญี่ปุ่นที่ผนวกรวมเข้ากับวิถีชีวิตของพวกเขาไปแล้ว โดยพวกเขาจะออกมาตักน้ำรดลงพื้นบริเวณหน้าบ้านหรือร้านค้าของตัวเองในวันที่อากาศร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของพื้น และใช้ผลของการระเหยช่วยลดอุณหภูมิของอากาศ นอกจากนั้นก็ยังเป็นการลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นบนพื้นไปด้วยอีกทางนึง

ในทางวิทยาศาสตร์ อุจิมิซึเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ชาญฉลาดมากนะครับ หลักการของมันเหมือนกับที่เหงื่อช่วยระบายความร้อนให้ร่างกายเรา ส่วนในแง่ของชินโต อุจิมิซึก็เป็นวิถีปฏิบัติที่มีนัยด้านการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ และแสดงความนอบน้อมต่อผู้มาเยือนอีกด้วย เป็นสาเหตุว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงมักจะมีถังและกระบวยไม้ติดบ้านกันทุกคน

แม้ว่าปัจจุบันเครื่องปรับอากาศจะเริ่มเข้ามาแทนที่อุจิมิซึ แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่าๆ ส่วนในเมืองเอง หลายๆ ที่ก็มีการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ โดยปรับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่นที่อากิฮาบาระ ย่านเครื่องใช้ไฟฟ้าและการ์ตูนชื่อดัง ก็เอาสาวๆ ในชุดคอสเพลย์มารดน้ำคลายร้อน ให้หนุ่มๆ กระชุ่มกระชวยหัวใจไปตามๆ กัน

 

อาหารการกิน

วิธีแก้ร้อนที่ดีที่สุดของสายบริโภคอย่างเราๆ ก็หนีไม่พ้นบรรดาอาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่เป็นตัวแทนของฤดูร้อน อย่างแตงกวา ผักกาด ปลาไหล ปลาอาจิ หอยเม่น โดยเฉพาะที่โดดเด่นมากก็คือบ๊วย ซึ่งแค่สับละเอียดๆ ใส่ลงไปก็ทำให้ข้าวธรรมดาๆ กลายเป็นอาหารที่สดชื่นขึ้นมาได้แล้ว ส่วนผลไม้ประจำฤดูนี้ก็คือแตงโม (ซุยกะ スイカ) เมลอน ส้มยูสุ รวมไปถึงผลไม้เขตร้อนอย่างมะม่วง สัปปะรด เองก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน

ถึงแม้พอพูดถึงของกินหน้าร้อนเราจะนึกถึงแต่น้ำแข็งไส หรือคาคิโงริ (かき氷) และบรรดาไอศกรีมหลากรสหลากสไตล์ของญี่ปุ่น แต่จริงๆ ไม่ใช่แค่อาหารหวานนะ อาหารคาวแบบเย็นๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น ซารุโซบะ หรือโซเม็ง ซึ่งเป็นเส้นบะหมี่ที่กินกับซอส โดยไม่ต้องมีซุปร้อนๆ และบางทีก็จะเสิร์ฟเส้นหมี่มาในถาดที่ใส่น้ำแข็งเลย จะว่าไปก็คล้ายๆ กับข้าวแช่ของคนไทยเหมือนกันนะ

อีกเมนูอาหารคาวที่อาจจะยังไม่ค่อยรู้จักกันก็คือ โมริโอกะ เรย์เม็ง ซึ่งเป็นบะหมี่แห้งกับเครื่องต่างๆ เช่นไข่ต้ม แตงกวา และในบางที่อย่างที่จังหวัดอิวาเตะ ก็มีการใส่แตงโมลงไปด้วย ซึ่งไม่แปลกนะครับ เพราะคนไทยเราก็กินแตงโมกับปลาแห้งเหมือนกัน แต่แตงโมกับบะหมี่ของญี่ปุ่นนี่จะรสชาติแบบไหน อันนี้ก็ต้องไปหาลองกันเอง ปิดท้ายด้วยเครื่องดื่มแก้ร้อนแบบผู้ใหญ่ๆ อย่างเบียร์หลากหลายรสชาติ กินกับถั่วแระญี่ปุ่นโรยเกลือ หรือเอดะมาเมะ (枝豆) ก็จะฟินมากเลย

 

พัดฟรี พัดเข้าไป

ปกติเวลาแต่งชุดกิโมโน คนญี่ปุ่นจะพกพัดกระดาษพับได้ที่เรียกว่า เซ็นสึ (扇子) ไว้ให้ความเย็นเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับหน้าร้อนที่พัดเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขนาดนี้ ก็ไม่ต้องเสียเวลาพัดกันแล้ว เราก็จะใช้พัดกลมๆ มีด้าม ที่คุ้นเคยกันดี ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกว่า อุจิวะ (団扇)

พัดอุจิวะนี้เดิมทีจะทำจากโครงไม้ไผ่กับกระดาษ หรือผ้าไหม ซึ่งบางด้ามก็สวยมาก มีจิตรกรออกแบบขายจริงจังราคาแพงกันเลยทีเดียวเลยนะครับ แต่ถ้าไม่อยากลงทุนซื้อก็แค่เดินไปเดินมาในเมือง เดี๋ยวก็มีใครสักคนเอามายื่นให้เอง เพราะใครๆ ก็รู้ว่าอากาศแบบนี้ทุกคนก็อยากได้พัดกันทั้งนั้น ฉะนั้นแบรนด์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนมาแจกโบรชัวร์โฆษณาเป็นพัดกัน ซึ่งก็จะมีความน่าใช้ต่างกันไป ทั้งดีไซน์และขนาด ที่บางยี่ห้อให้มาเล็กนิดเดียว ในขณะที่บางยี่ห้อก็ไม่รู้ให้พัดหรือว่าจานดาวเทียมมา

ช่วงหน้าร้อนนี้ นอกจากพัดแล้วตามท้องถนนญี่ปุ่นก็มีของแจกอีกมากมาย เช่นพวกผ้าเย็น กระดาษทิชชู่ ไว้ซับเหงื่อไคลทั้งหลาย คำแนะนำคือเดินเก็บมาให้หมดนั่นแหละอย่าได้เกรงใจ

 

พกน้ำแข็ง

แบบนี้ก็ได้เหรอ? มันมีคนที่ทำแบบนี้จริงๆ นะครับ ตั้งแต่เล็กๆ อย่างเอาน้ำแข็งก้อนๆ มาพันกับผ้าขนหนู แล้วเอามาพันรอบคอ ไปจนถึงการพกน้ำแข็งทั้งแพ็คไว้ในถุงเก็บความเย็น แล้วพกไปไหนมาไหน รู้สึกร้อนเมื่อไหร่ก็เอาถุงเย็นนั้นมากอด เห็นแบบนี้ก็รู้สึกได้เลยว่า อืม คนญี่ปุ่นเขาคงจะทรมานกับความร้อนกันจริงๆ

ถ้าไม่อยากจะพกน้ำแข็งให้เฉอะแฉะเดี๋ยวนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้เลือกมากมายนะครับ เช่นผ้าพันคอเก็บความเย็น ซึ่งสามารถช่วยให้เราเย็นได้ทั้งวันเลย เมื่อก่อนจะเห็นแต่กลุ่มคนที่ชอบเดินเขาหรือแคมปิ้งชอบใช้ แต่ปัจจุบันเวลาไปดูคอนเสิร์ต โดยเฉพาะคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ก็จะเห็นคนใส่มาเยอะทีเดียว นอกจากนั้นก็มี ไอซ์นอน (アイスノン) ซึ่งเป็นคล้ายๆ คูลลิ่งแพ็ดลดไข้ แต่เอามาประยุกต์ใช้แช่เย็นแล้วหนุนนอน หรือเอามาใส่ในเสื้อ ใส่ในผ้าพันคอ ก็แก้ร้อนได้เหมือนกัน

น้ำแข็งยังมีวิธีใช้อีกหลากหลายแล้วแต่จะประยุกต์เลยนะครับ เช่นเอาขวดน้ำที่แช่จนแข็งมาตั้งไว้ใกล้ๆ ตัวเพื่อรับไอเย็น หรือจะเอาไปแปะติดกับพัดลม ทำให้ลมที่ผ่านออกมากลายเป็นลมเย็นๆ แบบนี้ก็มีเหมือนกันนะ สู้ชีวิตเหลือเกิน

 

ลดอุณหภูมิสันหลัง

คำที่อยู่คู่กับหน้าร้อนของญี่ปุ่น พอๆ กับทะเล ก็คือคำว่า ไคดัง (怪談) หรือ “เรื่องผี” นั่นเองครับ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ทั้งการเป็นช่วงเทศกาลโอบ้ง ซึ่งเชื่อกันว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมเยียน และก็เป็นช่วงปิดเทอมหน้าร้อน ซึ่งก็มักจะมีนัดไปเข้าค่าย หรือนัดกันไปเที่ยวพักค้างแรมกันตามต่างจังหวัด ซึ่งคนญี่ปุ่นก็เหมือนคนไทยครับ ตกดึกเข้า เริ่มไม่มีอะไรคุยกันก็ต้องเล่าเรื่องผี ซึ่งพอมีคนแรกเล่า เรื่องที่สองที่สามก็จะตามมาเองยาวๆ ไป และเหตุผลสุดท้ายก็คือมันทำให้เรารู้สึกขนลุกซู่หนาวสันหลัง แก้ร้อนไปได้อีกแน่ะ

ชาวญี่ปุ่นเองก็จะมีเรื่องผีคลาสสิกๆ อย่างผีคอยาว ผีร่ม ดวงไฟวิญญาณลอยไปลอยมา เหมือนที่คนไทยมีปอบหรือกระสือ แล้วก็จะมีตำนานเมือง (都市伝説) ซึ่งเป็นเรื่องผีคลาสสิกในยุคโมเดิร์นขึ้นมาหน่อย ที่ดังๆ ก็เช่น สาวปากฉีก ที่จะถามเราว่าสวยไหม แล้วก็ยิ้มแบบนางสาวไทย (นางสาวญี่ปุ่น?) โชว์ปากทีฉีกไปถึงใบหูให้เราดู แล้วก็ควักกรรไกรขึ้นมาบอกว่าจะทำปากเราให้เหมือนเธอ (พิมพ์เล่าไปก็รู้สึกเย็นไป มันแก้ร้อนได้จริงด้วย!) ไปจนถึงบรรดาเรื่องลี้ลับในโรงเรียน ซึ่งก็จะมีซ้ำกันแทบทุกโรงเรียนเหมือนในประเทศไทย ไหนจะประสบการณ์ขนหัวลุกส่วนตัวของแต่ละคนอีก เอาเป็นว่าอย่าให้หนาวถึงขั้นจับไข้หัวโกร๋นกันก็แล้วกันครับ

 

ทำเรื่องสนุกๆ

ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาแต่บ่นร้อนอยู่กับบ้าน เพราะฤดูร้อนของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำมากมายจนลืมไปเลยว่าเคยร้อน ไม่ว่าจะเป็นการไปเล่นน้ำแบบสนุกสุดเหวี่ยงที่ทะเล หรือสวนน้ำ ไปเข้าค่ายค้างแรมกับชมรม ไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัด วิ่งไล่จับแมลง นอกจากนั้นก็ยังมีเทศกาลอีกมากมาย ให้เราไปเที่ยวชอปปิ้ง เล่นเกมสนุกๆ กินอาหารอร่อยๆ ปิดท้ายด้วยการชมดอกไม้ไฟสวยๆ สว่างเต็มฟากฟ้ายามค่ำคืน ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายร้อนแล้ว ก็ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของบ้านเขาไปอีกทางนึง

เราคนไทยเองก็มีเทศกาลสนุกๆ ไว้สู้กับอากาศร้อนอย่างเทศกาลสงกรานต์อยู่เช่นกัน แต่มันจะสนุกจนลืมร้อนได้ หรือจะกลายเป็นดราม่าที่ฮาไม่ออก อันนี้เราชาวไทยก็ต้องช่วยกันแล้วล่ะครับ สนุกแบบพอดีๆ และก็ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อจะได้ลดอุบัติเหตุที่ทำให้เทศกาลนี้หมดสนุกไปซะก่อน จะได้อยู่สู้ร้อนกันต่อไปอีกนานนนนนนนนนนน~

 

อ้างอิง – Japan ExperienceGaijinpot, ANA Cool Japan, wikipedia, Rocketnews24

ภาพ – flickr, flickrXuitelivedoor, Nanto City