ทุกวันนี้บางอย่างพลาสติกผิดจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็โทษพลาสติกไว้ก่อน ก็สิ่งที่โลกเราเผชิญตอนนี้ คือ ปัญหาขยะพลาสติกที่ไปทำลายสิ่งแวดล้อมแทบจะทุกด้านน่ะสิ ไม่ว่าจะถามใคร ทุกคนก็มองพลาสติกเป็นตัวร้าย และคิดว่าอยู่ไปก็มีแต่จะสร้างปัญหาเลยต้องสั่งให้ลด ละ เลิก กันทั่วบ้านทั่วเมืองแบบนี้
แต่ถ้าเราลองคิดทบทวนดูดีๆ ก็อาจมีสิ่งที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับพลาสติกอยู่สักข้อสองข้อ ที่ทุกคนอาจมองข้ามไป ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้บอกให้เข้าข้างพลาสติก แต่เราอยากให้ทุกคนเข้าใจพลาสติกให้มากขึ้นต่างหาก เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ก็ไปเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับพลาสติกกันเลยดีกว่า
ฉันมันแค่วายร้าย
แน่นอนล่ะว่านาทีนี้ไม่มีใครดูเป็นวายร้ายได้เท่าพลาสติกอีกแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นถุง กล่องข้าว ขวดน้ำ หลอด หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก ต่างถูกมองว่าเป็นศัตรูต่อสิ่งแวดล้อม และควรกำจัดทิ้งให้หมดโลกไปโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงว่าสาเหตุของปัญหาพลาสติกมันคืออะไรกันแน่
ย้อนไปตั้งแต่พลาสติกถือกำเนิดขึ้น เห็นมีภาพจำเป็นวายร้ายแบบนี้ แต่พลาสติกก็เคยเป็นฮีโร่มาก่อน และวีรกรรมที่ช่วยโลกก็แสนจะยิ่งใหญ่ เพราะพลาสติกออกมาช่วยปกป้องเหล่าต้นไม้จากการถูกตัดไปผลิตถุงหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นกระดาษนั่นเอง ซึ่งเราจะพบพลาสติกอยู่มากมายในชีวิตประจำวัน ส่วนมากจะเป็นพวกบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากพลาสติกถูกสร้างออกมาให้มีความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา พกพาง่าย และมีความปลอดภัยในการใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม
ยังไม่รวมถึงพลาสติกที่เป็นพวกโต๊ะ เก้าอี้ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อีก พลาสติกก็ถือเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้เราไม่น้อย จนแทบจะนึกภาพไม่ออกว่าถ้าไม่มีพลาสติกแล้วจะเป็นอย่างไร
ถ้าลองมองปัญหาที่แท้จริง จะเห็นว่าปัญหาหลักๆ เกิดจากพฤติกรรมการใช้และการจัดการพลาสติกของมนุษย์เรานี่เอง ที่ส่วนมากเรามักใช้พลาสติกแบบ Single use บางทีก็ไม่เอากลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมัน ทำให้พลาสติกที่ถูกทิ้งไปไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น แต่ไม่ได้บอกว่าพลาสติกไม่ผิดเลย แน่นอนว่ามันก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับวัสดุอื่นๆ ที่ก็มีส่วนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย เพียงแต่ตอนนี้มันกลายเป็นปัญหา หลายคนเลยอาจจะสงสัยว่าถ้าเป็นปัญหาขนาดนี้ แล้วสร้างมันขึ้นมาทำไม
บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่เป็นพลาสติก บ้านเราใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารประมาณ 50% และในเครื่องดื่มประมาณ 40% และยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก เช่น ขวดสบู่ และแชมพู แต่นอกจากความปลอดภัยในการใส่อาหารแล้ว พลาสติกยังปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกแต่ละหน่วยตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ต่ำที่สุดอีกด้วย
พออ่านมาถึงตรงนี้คนส่วนใหญ่ก็อาจเริ่มคิดว่าตกลงปัญหามันอยู่ที่มนุษย์งั้นหรอ? แน่นอนว่าพลาสติกเองก็มีปัญหาในตัวของมัน คือ สร้างมลพิษและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณการผลิต การใช้ และการจัดการพลาสติกได้ เราก็จะอยู่ร่วมกับมันได้อย่างไร้ปัญหาแน่นอน
เป็นอมตะ
ภาพจำของใครหลายคนมองว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่กำจัดยาก เป็นความจริงที่ว่าพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่า 500 ปี เพราะพลาสติกนั้นถูกออกแบบมาให้มีความคงทนเพื่อการใช้งานได้ในหลายๆ ครั้ง แต่การใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งของผู้คน ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกอย่างทุกวันนี้
ต้องยอมรับว่าการจัดการกับพลาสติกนั้นเป็นปัญหาที่มีมายาวนานและแก้กันไม่ตกสักทีสำหรับคนไทย ซึ่งปกติแล้วประเทศไทยใช้วิธีการฝังกลบในการจัดการกับขยะเหล่านี้ และเราก็รู้กันดีว่าการฝังกลบจะทำให้ไม่สามารถปลูกพืชในบริเวณนั้นได้ นั่นแปลว่าจะมีผลกระทบต่างๆ ตามมามากมาย รวมทั้งการเผาขยะเอง หากไม่มีประสิทธิภาพมากในการเผาขยะมากพอ ก็จะทำให้เกิดมลพิษต่างๆ และเพิ่มวิกฤติกับภาวะโลกร้อนมากขึ้นไปอีก
การจัดการกับพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำไปรีไซเคิลใหม่ให้คุ้มค่า ถึงแม้พลาสติกจะใช้เวลาในการย่อยสลายนานราวกับจะเป็นอมตะ เราก็ควรจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเราในภายภาคหน้า เพราะการใช้ซ้ำจนคุ้มค่าการผลิต นอกจากจะร่นระยะเวลาชีวิตของมันแล้ว ยังใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นอีกด้วย
สิ่งทดแทนดีกว่า
เมื่อสิ่งใหม่มาสิ่งเก่าก็ต้องไป เพราะใครๆ ก็ต้องคิดว่าของใหม่ยังไงก็ดีกว่าของเก่า ยิ่งกับเจ้าพลาสติกในตอนนี้ ที่ใครๆ ก็อยากจะหาสิ่งอื่นมาทดแทน แต่ของพวกนั้นมันจะดีกว่าจริงๆ หรอ? ถ้าอยากรู้ก็ต้องดูที่ผลลัพธ์
ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกอย่างพลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ (Biodegradable Plastics) นั้นมีราคาสูง จนอาจทำให้เข้าไม่ถึงผู้คนในวงกว้างมากนัก ถึงแม้ว่าจะย่อยสลายได้ในระยเวลาที่สั้นกว่าก็จริง แต่ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้มักทำมาจากแป้งของอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืช เพราะฉะนั้นใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชเพิ่มขึ้น อาจเกิดการถางป่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเหตุผลอีกอย่างคือ พลาสติกย่อยสลายได้ยังไม่มีความทนทานมากพอที่จะใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง สุดท้ายก็อาจเป็นวัสดุที่ถูกใช้ครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้งอยู่ดี
ส่วนในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน แน่นอนว่าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกนั้นปลอดภัยกว่ากระดาษ เพราะหากกระดาษไม่ได้เคลือบด้วยพลาสติกจะไม่สามารถสัมผัสอาหารได้โดยตรงอยู่ดี รวมทั้งใบตองที่คนคิดว่ามาจากธรรมชาติยังไงก็ปลอดภัยเป็นความคิดที่ไม่ถูกไปเสียหมด เพราะในใบตองมีทั้งสารเคมีปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงต่างๆ ก่อนนำมาใช้จึงต้องล้างทำความสะอาดให้ดี นอกจากนี้การย่อยสลายของใบตองก็ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ที่ส่งผลให้โลกร้อนออกมาอีกมากมาย
รวมถึงหลอดกระดาษ หลอดไผ่ หลอดสแตนเลส และหลอดซิลิโคน ทั้งหมดถูกผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนการใช้พลาสติก แต่ก็สร้างความไม่สะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคค่อนข้างมากเหมือนกัน ทั้งปัญหาหลอดกระดาษยุ่ย หลอดไผ่ที่ขึ้นรา หรือหลอดซิลิโคนที่มีกลิ่นและทำให้รสชาติเปลี่ยนไป ฉะนั้นพลาสติกดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ทั้งยังช่วยยืดอายุการเก็บอาหารให้นานขึ้น และอำนวยความสะดวกในการขนส่งอาหารอีกด้วย
และในเรื่องของถุงกระดาษและถุงผ้าที่บางคนอาจรู้กันมาบ้างว่า ถุงกระดาษนั้นต้องใช้เยื่อไม้ในการผลิต หมายความว่าต้องใช้ต้นไม้และทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาลในการผลิตถุง ถุงผ้าเองก็ผลิตมาจากฝ้าย ที่ต้องใช้ทรัพยากรในการปลูกต้นฝ้ายมาก แถมในอนาคตยังไม่รู้อีกว่าฝ้ายจะเพียงพอต่อการนำมาทำถุงผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของคนหรือไม่
ทั้งหมดที่พูดถึงนั้นเป็นความจริงที่เรากำลังเผชิญเมื่อหันมาใช้สิ่งเหล่านี้ทดแทน เราต้องรู้ก่อนว่าทุกอย่างที่มาแทนนั้นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล รวมถึงปล่อยมลพิษออกมามากไม่น้อยไปกว่าพลาสติก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมีสองด้านเสมออยู่ที่การเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งของนั้นๆ มากกว่า เพราะสุดท้ายพอคนแห่ไปใช้ของพวกนั้น โลกก็กลับมาซ้ำรอยเดิมเหมือนการใช้พลาสติก จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี หากปลายทางการจัดการยังไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนเดิม
แยกไม่แยก(ขยะ) ก็ค่าเท่ากัน
ทุกวันนี้เราชินกับการทิ้งขยะลงถุงกันโดยไม่คิดว่าต้องแยก แม้จะมีการรณรงค์ให้แยกขยะกันอยู่บ่อยๆ แต่เอาเข้าจริงพอไปยืนหน้าถังขยะก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าทิ้งถูกถังหรือไม่ หรือแม้กระทั่งบางคนอาจคิดว่าแยกไปสุดท้ายก็รวมกันอยู่ดี นี่จึงเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องแยกขยะก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาก! ลองนึกภาพตามว่าเราทิ้งพลาสติกไปโดยที่ไม่ทำความสะอาดแล้วพลาสติกเหล่านั้นต้องไปอยู่รวมกันในกองขยะ มันจะส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่มากแค่ไหน
ปัญหาหลักๆ ของการไม่แยกขยะ คือ เราไม่สามารถนำยะพลาสติกไปรีไซเคิลได้ เนื่องจากพลาสติกที่ถูกทิ้งรวมกันนั้นสกปรก และยากที่จะแยกออกมาในบางครั้ง ทำให้กระบวนการแยกขยะนั้นต้องยุ่งยากขึ้นไปอีก หากเราแยกขยะพลาสติกไว้ตามประเภท ก็จะง่ายต่อการจัดการกับขยะพลาสติกต่อไป
อย่างเช่นในต่างประเทศที่มีวิธีการคัดแยกขยะอย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนในประเทศนั้นทำมันจนเป็นเรื่องปกติ
- จีน : มาตรการแยกขยะสะสมแต้มที่ตู้แยกขยะ
- ไต้หวัน : แยกสีรถเก็บขยะ ออกตามขยะแต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนทิ้งให้ถูกที่
- ญี่ปุ่น : สร้างพฤติกรรมการแยกขยะจนเป็นนิสัย ทุกบ้านจะทำการแยกขยะก่อนทิ้งเสมอ รวมไปถึงตามที่สาธารณะด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการแยกขยะในประเทศต่างๆ ที่เมื่อจัดการกับขยะสำเร็จ ก็จะนำไปสู่การนำขยะพลาสติกไปใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างมีปนะสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้จำนวนของขยะพลาสติกน้อยลง และป้องกันขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล
แทนที่จะทิ้งขยะแบบไม่คิด ลองเปลี่ยนมาแยกขยะให้เป็นนิสัย เพื่อที่จะสามารถนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลได้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า ดีกว่าถูกทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ อย่างไร้ประโยชน์ จนเกิดเป็นปัญหาขยะขึ้น หมั่นเตือนตัวเองด้วยคำถามว่า “วันนี้ได้ลองแยกขยะแล้วหรือยัง”
ความเชื่อทั้ง 4 อย่างที่พูดมา ก็ไม่ได้มีสิ่งไหนที่บ่งบอกว่ามันผิดหรือถูกไปทั้งหมด แต่ถ้าลองมองดูเหตุและผลประกอบกับข้อมูลต่างๆ เชื่อว่าหลายคนคงจะยอมรับและเรียนรู้ที่จะใช้งานทุกอย่างด้วยความเหมาะสม ไม่มัวโทษอย่างอื่น แต่หันกลับมามองที่ตัวเองว่าเราจะสามารถจัดการกับพลาสติกอย่างไรได้บ้าง เท่านี้เราก็มีส่วนช่วยโลกแล้ว