Mango Zero

สัมภาษณ์ : ‘ทรงกลด บางยี่ขัน’ หลังลาออกจาก ‘a day’ สู่การก่อตั้ง ‘The Cloud’ สื่อใหม่ที่บุกทั้งออนไลน์และออฟไลน์

คุยกับ ‘ทรงกลด บางยี่ขัน’ หลังลาออกจาก ‘a day’

สู่การก่อตั้ง ‘The Cloud’ สื่อใหม่ที่บุกทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

ไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่าเราจะได้เห็น ‘ก้อง – ทรงกลด บางยี่ขัน’ หรือ ‘ก้อง a day’ ลาออกจากนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการบริหารคนที่ 3 มาร่วม 10 กว่าปี หลังเกิดเหตุการณ์แพแตกที่ a day เหนือความคาดหมายไปกว่านั้นนั่นคือเขาประกาศว่าจะออกมาทำสื่อที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งในนาม ‘The Cloud’ ความสงสัยเกิดขึ้นทันทีว่าเมฆของทรงกลด เป็นอย่างไร

กระทั่ง 13 มิถุนายนที่ผ่านมา คือวันแรกที่ readthecloud.co เปิดตัวและบอกโลกว่านี่คือคือแมกกาซีนออนไลน์ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ Local, Creative Culture และ Better Living ถือว่าเรารู้จักงานใหม่ของเขาเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว แต่ถ้าจะให้รู้จักมากไปกว่านั้น เราต้องบุกไปคุยกับทรงกลด ถึงที่ในฐานะผู้ก่อตั้งสื่อใหม่ที่เชื่อเว็บไซต์ไม่ต้องเร็ว ไม่ต้องรีบ ทำงานประณีตก็ได้ และเขาจะทำนิตยสารด้วยเพราะเชื่อว่านิตยสารยังไม่ตาย ในวงเล็บถ้าทำเป็น

คุณใช้เวลานานแค่ไหนถึงตัดสินใจตั้ง The Cloud หลังลาออกจาก a day

ทรงกลด : หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ a day ทุกคนต้องตัดสินใจว่าจะเลือกไปทางไหน ผมกับช้างน้อย (ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Cloud) คิดตรงกันว่าถึงเวลาแล้วเราอยากทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง พวกเราทำงานมาสิบกว่าปีแล้วทั้งคู่ ต่างคนก็ต่างมีภาพบริษัทในฝันที่อยากทำให้เกิดขึ้น

เราคิดตรงกันว่าอยากทำบริษัทเล็กๆ ที่คนทำงานเป็นเจ้าของ โดยไม่ต้องมีนายทุนแล้วก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานที่ดีแต่ว่ายั่งยืนทางธุรกิจ เลยออกมารวมกันแล้วทำอะไรที่เราอยากเห็นดีกว่า ใช้เวลาตัดสินใจช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องทำช่วงนี้แหละ ก็เลยตัดสินใจทำสิ่งที่เราอยากจะทำมานาน

ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณจะออกมาทำสื่อเองใหม่

ทรงกลด : ก็อยากออกมาทำอะไรของตัวเองนะ แต่อาจจะไม่ใช่เร็วๆ นี้ บังเอิญช่วงนี้มีตัวเร่ง ถ้าเริ่มตอนนี้น่าจะดีสุดกับทุกฝ่าย อีกอย่างคือผมกับช้างก็อายุจะ 40 กันแล้ว ถ้าไม่ทำตอนนี้ แก่ๆ ไปคงทำไม่ไหว ก็เลยเอาวะ

The Cloud ได้แรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากไหน

ทรงกลด : เราอยากทำเว็บไซต์ และนิตยสารที่เป็นกระดาษด้วย เลยคิดชื่อที่เป็นคำคู่กัน ‘Cloud’ กับ ‘Ground’ เป็นชื่อที่ลงตัวมาก คำว่า cloud รู้เลยว่าเป็นออนไลน์ ส่วน ground เป็นอะไรที่จับต้องได้ ชื่อบริษัทก็เป็น Cloud & Ground เลยดีกว่า มันเป็นคำที่มีความหมายง่ายๆ เป็นธรรมชาติที่อยู่รอบตัว แล้วก็มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้

พื้นที่ระหว่าง cloud กับ ground ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ ก็คือพื้นที่ที่เราใช้ชีวิต เราอยากให้คนอ่านใช้ชีวิตและมีชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องการใช้ชีวิตในความหมายว่าออกไปใช้ชีวิตนอกเวลางาน มี work life balance ที่ดีนั้นเว็บไหนก็พูดกัน

แต่เราอยากพูดมากกว่านั้น คืออยากให้คุณมีชีวิตที่ดี ก็มีชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติเข้าใจธรรมชาติ แต่ไม่ได้แปลว่าต้องออร์แกนิคสุดๆ แต่เป็นการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ

The Cloud ใช้แนวคิดอะไรในการทำคอนเทนต์

ทรงกลด : คนชอบคิดว่าคนยุคนี้รีบ ซึ่งจริงแต่เขารีบกับบางอย่าง เช่นข่าวสารที่ต้องไว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่รื่นรมย์  ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และเรื่องนั้นควรค่าแก่การอ่านผมว่าเขาก็มีเวลานะ ดังนั้น The Cloud จึงไม่เน้นทำเรื่องที่เร็ว

เราเน้นทำเรื่องดีๆ ให้กลมกล่อม อ่านแล้วรู้สึกเหมือนอ่านนิตยสารกระดาษ ซึ่งสิ่งนี้กำลังหายไปจากเว็บไซต์ เพราะทุกเว็บแข่งกันสั้น แข่งกันเร็ว ผมเลยอยากทำอีกแบบหนึ่ง คือการเขียนบทความลงเว็บให้เหมือนกับเขียนลงนิตยสาร

The Cloud ใช้แนวคิดอะไรในการทำคอนเทนต์

ทรงกลด : คนชอบคิดว่าคนยุคนี้รีบ ซึ่งจริงแต่เขารีบกับบางอย่าง เช่นข่าวสารที่ต้องไว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่รื่นรมย์  ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และเรื่องนั้นควรค่าแก่การอ่านผมว่าเขาก็มีเวลานะ ดังนั้น The Cloud จึงไม่เน้นทำเรื่องที่เร็ว

เราเน้นทำเรื่องดีๆ ให้กลมกล่อม อ่านแล้วรู้สึกเหมือนอ่านนิตยสารกระดาษ ซึ่งสิ่งนี้กำลังหายไปจากเว็บไซต์ เพราะทุกเว็บแข่งกันสั้น แข่งกันเร็ว ผมเลยอยากทำอีกแบบหนึ่ง คือการเขียนบทความลงเว็บให้เหมือนกับเขียนลงนิตยสาร

ทำไมถึงเชื่อว่าการเขียนในแบบนิตยสารจะเหมาะกับเว็บไซต์

ทรงกลด : เท่าที่ไปคุยกับหลายๆ คน เขาเห็นด้วย และรอคอยสิ่งนี้อยู่ ผมตั้งใจจะทำ craft content หมายถึงทำเนื้อหาที่มีความหมายกับผู้อ่าน จากประสบการณ์ที่เคยทำเว็บไซต์ a day กันมา เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้เห็นว่าบางอย่างที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปได้เช่น คอนเทนต์ที่ยาวๆ คนเขาก็อ่านกันได้

บทความที่ยาวประมาณ 8 หน้า A4 คนยังอ่านกันเป็นแสนเลย หรือการทำคอนเทนต์ที่ไม่ได้มาจากฟีดในไทม์ไลน์ facebook ก็ทำได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมคาดหวังในหนึ่งปีนี้คืออยากเห็น The Cloud เติบโต อยากเห็นพื้นที่สร้างสรรค์อะไรแปลกๆ ใหม่ ๆ ที่มีคนอ่านเยอะขึ้น เราไม่ต้องแข่งกันเร็วหรือหวังยอดขนาดนั้นหรอก เราเน้นทำเนื้อหาที่มีความหมายกับผู้อ่านเพิ่มขึ้นดีกว่า

ในเมื่อการทำเว็บของคุณไม่เหมือนกับเว็บทั่วไปแล้ว Business model ของ The Cloud เป็นแบบไหน

ทรงกลด : ผมไม่ได้แข่งกับเกมตัวเลข เกมตัวเลขหมายความว่าเราจะแข่งทำยอดวิวให้ได้เยอะที่สุด แล้วเอายอดนั้นไปหาผู้สนับสนุนว่าเว็บฉันมียอดเท่านี้ๆ จ้างไหม แต่ว่าผมเป็นคนทำสื่อรายเดือน ซึ่งช้า แก่แล้วด้วย (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าเรามาทำคอนเทนต์ช้าๆ ดีกว่า

เราเลยเน้นร่วมงานกับแบรนด์ที่ไม่ได้สนใจแค่ตัวเลข แต่สนใจให้คนรักแบรนด์เขามากกว่า แบรนด์ที่ต้องการทำคอนเทนต์ที่มีความหมายกับผู้อ่าน ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่หลายๆ แบรนด์สนใจตรงนี้ ทำงานร่วมกับเราโดยที่ไม่ได้สนใจตัวเลขว่าเราจะมีตัวเลขเพจเท่าไร จะมียอดวิวให้เขาเท่าไร แค่คุยกันว่าคอนเทนต์จะออกมาไปทางไหน เขาเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ดีก็คือคอนเทนต์ที่ดี สุดท้ายมันจะออกมาสู่ผู้คนเอง

แบบนี้คุณซีเรียสเรื่องยอดผู้เข้าชม SEO หรือยอดแฟนเพจไหม

ทรงกลด : ซีเรียสสิฮะ (หัวเราะ) คือจะให้คนเห็นงานเยอะเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่ามันต้องเห็นด้วยคอนเทนต์ดีๆ ไม่ใช่คอนเทนต์ที่เกิดจากการไปปั่นหรือไปเกาะ เพราะสุดท้ายถ้าเราทำเนื้อหาที่ดี มันก็ย่อมเป็นเรื่องดีที่จะมีคนเห็นมันเยอะๆ

แต่ทำสื่อออนไลน์วัดกันที่ตัวเลขนะ แล้วคุณจะเล่นเกมอย่างไร

ทรงกลด : ช่วงเริ่มต้นการมียอดที่เยอะก็ดี แต่ผมไม่ค่อยเชื่อเกมตัวเลขเท่าไร เมื่อก่อนสมัยที่งานเขียนอยู่บนกระดาษ เราตัดสินคุณค่างานชิ้นนึงหลังจากอ่านแล้วว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าดีเราจะบอกว่าเราชอบ ความดีความงามถูกตัดสินจากการได้อ่านจนจบ แต่ยุคนี้พอเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทุกอย่างถูกนับไปหมด

เราต้องการการนับเสมอเช่น นี่คือเพจ 1,000,000 followers นี่คือเพจ 10,000 followers แต่เราลืมไปแล้วว่าสุดท้ายแล้วสื่อต้องตัดสินกันที่งาน สื่อที่มีเพจ 10,000 followers ไม่ได้แปลว่าแย่กว่า 1,000,000 followers หรือโพสต์ที่มีคนไลค์ 10 ไลค์ไม่ได้แปลว่าแย่กว่าโพสต์ที่มีคนไลค์ 1,000 ไลค์

การทำให้คนเห็นเยอะเป็นเรื่องที่ดีเราก็สนใจการออกแบบเว็บให้เข้าถึงคนเยอะๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมพยายามทำ แต่ไม่พยายามไปปั่นยอดจากการทำเรื่องที่ทันเหตุการณ์สุดๆ หรือเป็นเรื่องในกระแสที่ทำให้ยอดมันขึ้นเพราะฉะนั้นผมก็เลยอยากจะออกไปจากเกมตัวเลข ทำงานกันที่คอนเทนต์ และให้คอนเทนต์ที่ดีพาตัวเลขที่ดีมาหาเรา

ถ้าทำงานออกมาดีแล้วตัวเลขไม่ว่าจะไลค์มาก หรือแชร์น้อยไม่มีผลคุณหมายถึงแบบนี้ใช่ไหม

ทรงกลด : เราอยากได้ยอดจากคนที่รักเราจริงๆ ทำงานให้ดีก็น่าจะดี อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเราเปิดตัว The Cloud แบบออร์แกนิคโพสต์จะมีคนสนใจเราแค่ไหน ซึ่ง 3 วัน มีคนตามเพจหมื่นคน ก็เป็นตัวเลขที่ไม่ได้แย่ และคิดว่าคนเชื่อไม่ต้องเยอะหรอก เราไม่ได้อยากครองโลก (หัวเราะ) เราไม่ได้อยากเป็นมือหนึ่งของเมืองไทย ฉะนั้นไม่ต้องมีตัวเลขมากมายก็ได้

สำหรับผมความหมายของตัวเลขคือมีคนเชื่อเหมือนเรากี่คน ยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดติดตามในเฟซบุ๊กไม่ได้มีความหมายมากกว่ามีคนเชื่อเหมือนเราเท่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นกำลังใจให้คนทำงาน ไม่ต้องเยอะหรอกแค่อยากให้คนทำงานมีกำลังใจแล้วก็มีฐานแฟนๆ ที่ชัดเจน

ขณะที่สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ทีมค่อนข้างเยอะ แต่ The Cloud ใช้คนน้อยโครงสร้างองค์กรคุณเป็นอย่างไร

ทรงกลด : ทีมงานทั้งหมดของ The Cloud มี 20 คนแบ่งเป็นอีเว้นท์ 10 คน และทำคอนเทนต์บนเว็บ 10 คน เราเป็นทีมเล็กๆ ที่ทุกคนเป็นนักเล่าเรื่อง เมื่อก่อนมันอาจมีตำแหน่งชัดเจนว่าคนนี้เป็นช่างภาพ คนนี้เป็นนักเขียน แต่ตอนนี้ทุกคนทำงานร่วมกันแบบที่ทุกคนควรจะทำได้ทุกอย่าง เพราะทุกคนมีศักยภาพมากกว่าตำแหน่งที่ตนเองมี

ดังนั้นผมมองว่าคนนี้เขามีศักยภาพยังไงบ้าง เขาเก่งอะไรบ้าง ถ้าเขาเก่งก็ต้องส่งเสริมให้เขาฉายแสงออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วผมก็บอกทุกคนว่านี่ไม่ใช่บริษัทของผม ผมไม่ใช่เจ้านายใหญ่สุด ผมคิดว่าการทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจร่วมกันมันสำคัญกว่าแค่คนใดคนหนึ่ง เพราะว่าคนเดียวมันพลาดได้

The Cloud จึงเหมือนพื้นที่ว่างที่เราตกลงร่วมกันว่าพื้นที่นี้เราจะพูดเรื่องนี้ เราเชื่อเรื่องนี้ เมื่อทุกคนเชื่อตรงกัน อยากเห็นเนื้อหาแบบนี้เพราะคุณสนใจมัน คุณอยากเห็นกิจกรรมแบบนี้เพราะคุณชอบมัน ไม่ต้องรอให้ใครทำ เราทำมันขึ้นมาเองเลย แล้วก็ทำร่วมกัน พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ว่างที่จะเป็นอะไรก็ได้ เหมือนเมฆที่เป็นได้ทุกสถานะ

เป็นคนสื่อกระดาษมาสิบกว่าปี พอกระโดดเข้ามาสู่วงการออนไลน์ปรับตัวยากไหม

ทรงกลด : เราศึกษาวงการออนไลน์ก่อนครับโดยพยายามศึกษาเว็บไซต์ต่างๆ ตั้งคำถามกับพฤติกรรมผู้อ่านว่าเขาสนใจอะไร ตั้งคำถามกับสื่อออนไลน์ยุคนี้ว่า คนที่ทำเขาคิดอะไรกันอยู่ ซึ่งก็ได้คำตอบที่น่าสนใจมากมายว่าคนทำสื่อคิดอะไรกันอยู่ คนอ่านออนไลน์คิดอะไรกันอยู่

จากการที่ผมได้ทำนิตยสารที่เป็นกระดาษมาก่อนทำให้ผมสามารถใช้จุดแข็งในเรื่องของการทำเนื้อหาแบบลึกๆ การสื่อสาร การหาวิธีการสื่อสารเรื่องต่างๆ คอนเน็คชั่นที่สะสมมา 10 กว่าปีและการทำงานแบบไม่รีบ แต่จุดอ่อนคือเราอ่อนมากในเรื่องออนไลน์

เรายังไม่รู้เลยว่าโพสต์เฟซบุ๊กยังไงให้คนเขาเห็นเยอะๆ (หัวเราะ) มันต้องเขียนยังไง ต้องติดแฮชแท็กยังไงทำทวิตเตอร์ยังไงให้คนอยากรีทวิต ต้องโพสต์อินสตาแกรมยังไง แต่ว่าเราจะพยายามเรียนรู้นะ จะพยายามค่อยๆ พัฒนาสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น

อะไรที่เป็นความมั่นใจทำให้คุณตัดสินใจทำทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่ถนัดตั้งแต่แรก

ทรงกลด : สำหรับผมการจะทำอะไรสักอย่างต้องทำให้ดี และจะบอกว่าฉันทำไม่เก่ง ขอโทษด้วย ฉันอ่อน นั่นไม่ใช่ข้ออ้าง ถ้าตัดสินใจเลือกว่าจะทำสิ่งนี้แล้วต้องทำให้ดี ถ้าไม่เก่งต้องทำให้เก่ง ถ้าคุณอยากเป็นมืออาชีพ เพราะมืออาชีพไม่มีข้ออ้าง ต้องทำเต็มที่ให้เก่งขึ้น

ผลตอบรับเป็นอย่างไรเท่าที่คุณเป็นหลังเริ่มต้นทำตามแนวทางที่คุณมั่นใจไปแล้ว

ทรงกลด : หนึ่งเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่มีคนติดต่อเข้ามาขอร่วมงานด้วยเยอะมาก มีนักเขียนบอกว่าอยากเขียน อยากเขียนเว็บนี้มากอย่างไม่น่าเชื่อนะครับ มีแบรนด์ที่ชวนเป็นพาทเนอร์ด้วยเยอะอย่างน่าตกใจทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เปิดเว็บเลย ทุกคนยังไม่ได้เห็นเลยว่า The Cloud จะเป็นยังไง แค่รู้ว่าคอนเซปต์มันประมาณนี้ มีคนติดต่อว่าอยากมาทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกันเยอะมาก ซึ่งดีใจนะ

แต่สิ่งที่ดีใจที่สุดก็คือ การที่คนกลุ่มนึงออกมาคิด ทำสิ่งที่มันแตกต่างออกไปแล้วมีคนสนับสนุน สิ่งนี้ไม่ได้มีความหมายแค่กับพวกผมหรอก แต่ว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีกับทุกๆ องค์การว่า การที่ทุกคนกำลังเล่นเกมเดียวกันหมดเลย แต่คุณออกไปเล่นอีกเกมนึงที่อาจจะแตกต่างไป และมีความดีงามในบางเรื่อง ถ้ามันดีพอก็มีคนพร้อมสนับสนุนคุณ ผมว่ามันคงเป็นตัวอย่างให้กับหลายๆ องค์การ ได้เห็นสิ่งนี้

The Cloud นับเป็นหนึ่งในองค์กรสื่อหน้าใหม่ที่เลือกที่จะขีดเส้นทางของตัวเอง และเดินหน้าทำในสิ่งที่เชื่อ ซึ่งแนวทางการทำงานของพวกเขาไม่ใช่การเลือกเดินสวนกระแสในโลกที่คอนเทนต์ออนไลน์ต้องไว ต้องเร็ว ต้องเกาะกระแส แต่เขาเลือกที่จะทำในสิ่งที่พวกเขารัก สิ่งที่พวกเขาชอบ และมั่นใจว่าอย่างน้อยก็ต้องมีคนที่เห็นด้วยกับพวกเขา 

ส่วนคุณจะเห็นด้วยกับทรงกลด และแนวทางของ The Cloud หรือไม่ ก่อนตัดสินใจเราอยากให้ไปลองติดตามพวกเขาใน ReadTheCloud และเฟสบุ๊ค The Cloud เพื่อให้กำลังใจคนทำสื่อดีๆ ไปด้วยกัน