Mango Zero

เปิดมุมมองชีวิต “กิตต่อเกม” แรงก์ ผู้เล่น เกม และโลกความเป็นจริง

“เมื่อแรงก์เป็นตัวกำหนดคุณค่าของผู้เล่น” ทำให้เกมสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ แล้วในโลกความเป็นจริง เราให้คุณค่ากับอะไร? เมื่อคนคนหนึ่งถูกมองว่าไร้ค่าได้หากอยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง

ลงจอฉายให้ได้รับชมกันไปแล้วสำหรับ The Up Rank อาชญาเกม ภาพยนตร์ไทยเสียดสีสังคมที่บอกเล่าเบื้องหลังทั้งคุณค่า ชนชั้น และด้านมืดในวงการเกม กวาดกระแสตอบรับจากผู้ชมไม่ใช่เล่นๆ ทั้งตัวบทที่โดดเด่น และนักแสดงมากฝีมือ 

นำทัพโดย กิต Three Man Down หรือ กิต กฤตย์, เอม ภูมิภัทร, แจ็ค กิตติศักดิ์ และมีน สุดารัตน์ กับคาแรคเตอร์ที่แตกต่าง ผ่านบทบาทฟาดฟัน จากฝีมือของผู้ผลิตอย่างกันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส และ เอ็กซ์สปริง

นอกจากนี้ ยังมีหนึ่งคำโปรยจากหนังที่จะพาทุกคนดำดิ่งไปกับความทะเยอทะยานในชีวิต เมื่อ “การอัพแรงก์ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ผิดกฎเกม” 

Mango Zero ได้มีโอกาสพูดคุยกับกิต กฤตย์ เจ้าของบทบาท “ยู” เด็กหนุ่มที่ถูกมองว่าเตะฝุ่น และได้ก้าวเข้าสู่วงการอัพแรงก์ 

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ เปิดมุมมองชีวิต “กิต” ต่อ “เกม” เมื่อแรงก์ ผู้เล่น และเกม เชื่อมโยงกันในชีวิตจริง

จากกิตถึง “ยู” ตัวละครที่เหมือน “โนบิตะ” 

อาจจะเป็นวันที่ดูยุ่งจนไม่มีเวลาพักหายใจสักเท่าไหร่ แต่ศิลปิน/นักแสดงหนุ่มก็มาพร้อมรอยยิ้มที่สดใส เพื่อเริ่มการพูดคุยกันในครั้งนี้ ถึงบทบาท “ยู” และการเป็นนักแสดงนำเต็มตัวครั้งแรกของกิต ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกับตัวจริง ซึ่งหนุ่มคนนี้มองว่าคาแรคเตอร์ของเขาจากเรื่องนี้ เป็นเหมือนโนบิตะ 

“ยูเป็นเด็กที่มีสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่ก็ด้วยสังคมกดทับ ผมขอยกตัวอย่างเหมือนโนบิตะแล้วกัน ทุกคนรู้จักโนบิตะอยู่แล้ว สิ่งที่เก่งที่สุดของโนบิตะคือ ‘พันด้าย’ แล้วมันจะมีตอนหนึ่ง ที่โดราเอมอนเปลี่ยนให้พันด้ายอยู่ในโอลิมปิก โนบิตะกลายเป็นนักกีฬาโอลิมปิมเว้ย เหมือนกันเลย ยูเล่นเกมเก่ง แล้วถ้าวันนี้เกมมันเป็นกีฬา เกมมันหาเงินได้ เขาก็เป็นคนเก่งคนหนึ่ง”

“ยูรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง แต่มันไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่ง แค่บริบทในสังคมมันไม่ได้รองรับความสามารถของเขาแค่นั้นเอง เขาต้องไปอยู่ในที่ที่ทักษะของเขาได้เฉิดฉาย” 

“คนมองว่าโนบิตะห่วยแตก แต่สำหรับผม สกิลพันด้ายและการยิงปืนของเขา เขาโหดมาก แค่เขาไม่มีที่ให้ไปโชว์ของแค่นั้นเอง ฉะนั้น หนังเรื่องนี้ก็สอนด้วยว่า อย่าได้ตัดสินใครในแบบที่เห็น เขาอาจจะมีสิ่งที่เหนือชั้นมากๆ เขาแค่ไม่ได้ปล่อยออกมา เขาไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก”  

ตัวละคร “ยู” มีความคล้ายคลึงและแตกต่างกับตัวเองยังไงบ้าง ?

“ผมชอบเล่นเกมเหมือนกัน แล้วก็รู้สึกว่ามีปัญหากับเชิงสังคม เชิง Gerenation Gap เหมือนกัน แต่ว่าที่เหลือไม่เหมือนแล้ว การตัดสินใจ การพูด บริบทต่างๆ อย่างการค้นหาตัวเอง ผมหาเจอตั้งแต่เด็กๆ แต่ยูยังไม่เจอ ถ้าเกิดว่าในยุคสมัยผมไม่มีวงดนตรี ที่ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจในตัวเอง ผมก็อาจจะเป็นเหมือนยูก็ได้ แต่ว่าโชคดีที่สิ่งนั้นมันจุดประกายผมขึ้นมา และยูอาจจะต้องการสิ่งนั้นเหมือนกัน” 

 

Work Balance อีกหนึ่งความยากของชีวิต

เมื่อถามถึงด้านความท้าทายเมื่อเทียบกับผลงานการแสดงที่ผ่านมา ความยากในบทบาทการแสดงอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักของกิต  แต่เป็นการจัดการเวลาชีวิต ซึ่งนับเป็นปัญหาเดียวกับที่เราๆ พบเจอในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน 

“Manage Work Balance คือความยากของชีวิตผมครับ ด้วยความที่ผมมีหลายบทบาท อาจจะบทบาทเดียวกัน คือการเป็นนักสื่อสาร แต่ครั้งนี้เป็นพาร์ทการแสดง จริงๆ แล้วผมทำหน้าที่เดียวกัน ผมต้องส่งสารจากสิ่งหนึ่งออกไปถึงผู้คน มันยากตรงเวลาเนี่ยแหละ เรียกได้ว่าไม่ได้นอน จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้นอน (หัวเราะ)”

“ในอนาคตก็อยากจะบาลานซ์ให้ดีกว่านี้ ไม่อยากมีปัญหาสุขภาพตอนปลายด้วย เมื่อก่อนคือไม่คิดเลย ลุยไป 48 ชั่วโมงไม่ต้องนอน ออกกองก็ลุยไป แต่ตอนนี้ต้องคิดแล้ว”

 

ชีวิตจริงที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดแบบเกม 

ถ้าจะถามถึงความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างเกมกับโลกความเป็นจริง กิตไม่ได้แยก 2 ส่วนนี้ออกจากกัน เพราะชีวิตก็คือเกมๆ หนึ่ง มีหลายองค์ประกอบที่หล่อหลอมให้เกิดชีวิตประจำวัน ซึ่งเขาใช้สิ่งที่ชอบอย่างเกม การ์ตูน นิยาย วรรณกรรม มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันตลอดเวลา กลายเป็นชายหนุ่มที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยแนวคิดแบบเกมๆ 

“อย่างตอนนี้ ผมรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเล่นเกมตอบคำถามอยู่ พี่ถามมา ผมจะตอบอย่างไร? แล้วมันจะส่งผลอะไรต่อไป? หรือว่าเราเดินกลับบ้าน เราเจอทางมืดกับทางสว่าง ถ้าคุณเล่นเกมมา คุณก็จะรู้ว่าต้องไปทางไหน อันนี้มันก็เป็นเรื่อง Common ถูกไหมฮะ”

“แต่ว่ามันก็จะมีบริบทแบบนี้อีกเยอะแยะในชีวิต มันอาจจะเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ฝึกได้จากสิ่งอื่น แต่ผมฝึกมาจากเกมเสมอ”

“อย่าง Three Man Down อะ เราขับเคลื่อนด้วยสิ่งนี้เหมือนกัน เรามีเควสต์ พอเราทำเควสหนึ่งเสร็จ เราไปทำ ไซด์เควสไหม? เรายังไม่ต้องเดินเรื่องต่อ เราพักไว้ก่อน เก็บเลเวล พอเลเวลเราเพิ่ม เราก็ค่อยกลับมาเดินเรื่อง คุณก็จะเห็นว่า Three Man Down ทำเพลงหลักอยู่ดีๆ ทำ Cover = เราทำไซด์เควสต์” 

“พอเราทำ Cover เสร็จ เราไปทำอย่างอื่นเลยไหม ออกรายการต่างๆ = เราทำไซด์เควสต์ และเรากลับมาทำเควสต์หลักแล้วตอนนี้ ผมเปรียบแบบนี้เลยละกัน เห็นภาพ” 

ผู้เล่นโซโล่ กับเกมผจญภัย 

เมื่อถามว่าในโลกความเป็นจริง กิตเป็นผู่เล่นแบบไหน?

“ผมเป็นผู้เล่นโซโล่ครับ จริงๆ ผมเป็นผู้เล่นโซโล่ ผมไม่เล่นเกมเป็นทีม ผมเล่นเกมเป็นทีมน้อยมาก แต่ผมคิดว่า Three Man Down เป็นเรือ..เป็นวันพีช (หัวเราะ) ผมก็เลยทำมันเป็นทีม แต่จริงๆ แล้ว นิสัยผมเป็นผู้เล่นเกมโซโล่ครับ” 

แต่ในชีวิตนี้ เราไม่สามารถเล่นเกมคนเดียวได้เสมอไป เพราะเรายังเป็นมนุษย์ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือทำความรู้จัก ทำงานกับคนใหม่ๆ กิตได้เปรียบชีวิตตัวเองเป็นเหมือนเกมผจญภัย ที่ไม่สามารถไปต่อไปถ้าไม่มี “ทีม”

“ผมคิดว่าชีวิตเป็นเกมผจญภัย โลกนี้มันกว้างมาก ผมเพิ่งเล่นมันไปแค่ 30-40% สิ่งที่ผมต้องการ คือ ต้องการทีม เล่นเกมไปสู่เนื้อเรื่องหลัก ไปเจอกับทีม ต้องการเพื่อน ต้องการอุปกรณ์ที่ดี ต้องการพาร์ทเนอร์ เพื่อที่จะเคลียร์สเตจต่อไปได้เรื่อยๆ ผมไม่สามารถเล่นเกมนี้แบบโซโล่ได้” 

แรงผลักดันชั้นดี ความจน หนี้สิน และตัวเลขในบัญชีธนาคาร

นอกจากจะขับเคลื่อนด้วยเกมชีวิต ผู้ชายคนนี้ยังขับเคลื่อนด้วยความจน หนี้สิน และเป้าหมายในชีวิตที่ยังมีหลายอย่างที่เขาอยากทำ ให้เราได้เห็นว่าถ้าตัวละคร “ยู” เป็นคนทะเยอทะยานในวงการเกมแล้ว “กิต” ก็เป็นคนทะเยอทะยานในวงการเพลงและชีวิตที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง

“ผมทะเยอทะยานในพาร์ตของชีวิตตัวเองครับ มากด้วย ผมจะไม่ตายแบบนี้อะ ผมบอกตลอดว่า ผมจะไม่ตายถ้าผมยังไม่รวย – ผมจะไม่ตายถ้าผมยังไม่ดัง – ผมจะไม่ตายถ้าผมยังไม่ได้มีคอนเสิร์ตของตัวเอง ผมพูดตั้งแต่รู้สึกตัวว่าตัวเองอยากเป็น แล้วทุกวันนี้สิ่งเหล่านั้นมันเยอะขึ้น”

ใช้อะไรเป็นแรงผลักดัน ? 

“ความจนครับ หนี้สิน และเลขบัญชีของคุณในแอปพลิเคชัน เป็นแรงผลักดันชั้นดีเลย ลืมตาตื่นมาป้าบบ ต้องจ่ายอะไรบ้าง เดี๋ยวลุกไปทำงานเลย (หัวเราะ)” 

ในโลกที่ทำเงินได้หมด แค่อย่าตกขบวนรถไฟ 

ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยแง่คิดสุดประทับใจ เมื่อกิตได้รับบทบาทเกมเมอร์นักอัพแรงก์ ที่ไม่ได้อยากฝากข้อความไว้แค่ในวงการเกมเท่านั้น แต่ทุกอย่างในปัจจุบันถูกหยิบจับมาเป็นเงินและอาชีพได้ ความแตกต่างระหว่างวัย และความอาวุโสที่ไม่สามารถใช้บังคับชีวิตใครได้อีกแล้ว

“ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้ไม่ต้องเป็นแค่วงการเกมก็ได้ สิ่งใดในโลกนี้ทำเงินได้หมด จับต้องได้หรือไม่ได้ สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่ที่ตัวเรา ในวันที่คนหันมาเปลี่ยนจากก้อนหินมาใช้เงิน ก็คือคุณอุปโลกขึ้นมาว่านี่คือสิ่งของที่มีค่า และทุกวันนี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรากำลังจะก้าวข้ามไปในโลกของคริปโต มันคือเรื่องเดียวกัน”

“เพราะฉะนั้น ‘งาน’ ไม่จำเป็นจะต้องออฟฟิศ งานแต่คนมันไม่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์คือเราได้เงิน เราสร้างคุณภาพชีวิตตัวเองได้”

“Generation คือสิ่งสำคัญ ในอนาคตเด็กอีก 100 ปีข้างหน้า อาจจะทำงานในสมองแล้วอะ นั่งเฉยๆ เงินในบัญชีเด้ง แล้วคุณจะมาบอกว่า เฮ้ย นี่มันไม่ใช่งานเว้ย งานมันต้องออกไปที่ออฟฟิศ สมมติยุคเรา งานต้องไลฟ์เต้น TikTok เว้ย ผมว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราแค่ต้องวิ่งตามมันให้ทัน”

“อย่าตกรถไฟ เพราะถ้าเราตกรถไฟเราจะขึ้นไม่ได้แล้ว โลกวันนี้รถไฟมันวิ่งไปเรื่อยๆ มันจะมีคนที่ลงไปชานชาลาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว แต่มานั่งคอยชี้.. คือพวกคุณกำลังทำอะไร? ก็พวกคุณลงไปแล้วนี่ พวกเรายังอยู่บนรถไฟอะ เราก็ต้องไปต่อ ผมขอแค่เราอย่าเป็นผู้ใหญ่แบบนั้นก็พอ เราต้องไม่เป็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกับเรา” 

รับชมความเดือดและด้านมืดวงการเกมกับภาพยนตร์ The Up Rank ได้แล้ววันนี้ ทุกโรงภาพยนตร์