category คุยกับ 'กาย-ปฏิกาล' บ.ก. ใหญ่แห่งแซลมอนบุ๊คส์ ผู้เชื่อว่าในยุคสื่อออนไลน์ หนังสือไทย 'ยังไปรอด!'

Writer : minn.una

: 3 เมษายน 2562

ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติแบบนี้ เหล่าหนอนหนังสือคงไม่พลาดเตรียมเช็กลิสต์ไปเหมาเล่มใหม่กันอย่างเช่นทุกปี นั่นทำให้กลุ่มอาชีพที่หลายๆ คนนึกถึงในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นนักเขียนและเหล่าคนทำงานในสำนักพิมพ์ที่เรียกได้ว่ากว่าจะได้หนังสือออกใหม่โชว์หราบนชั้นด้านหน้าของบูธประจำในงานนี้ก็เล่นเอาเลือดตกยางออก

Mango Zero มีโอกาสได้คุยกับ “กาย-ปฏิกาล ภาคกาย” บรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง “แซลมอนบุ๊คส์” ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในวงการหนังสือมานานถึง 8 ปี เลยไปขอคลายข้อสงสัยกันเสียหน่อยว่ากว่าจะเป็นหนังสือออกใหม่ในงานหนังสือที่จัดทุกๆ ครึ่งปีนั้น เหล่านักเขียนและกองบรรณาธิการเขาต้องสมบุกสมบันกันแค่ไหน รวมถึงอีกคำถามที่หลายคนคงสงสัยไม่แพ้กับเราก็คือ “ยุคที่ใครๆ ก็อ่านแต่เนื้อหาออนไลน์แบบนี้ หนังสือเล่มๆ จะเอาชีวิตรอดอย่างไร?” พร้อมแล้วไปฟังคำตอบกัน!

กว่าจะได้หนังสือแต่ละเล่ม ทำงานกันอย่างไร?

อาจจะคล้ายๆ กับสำนักพิมพ์อื่นที่มีการเปิดรับต้นฉบับจากทางบ้าน ส่วนใหญ่แล้วพอเราตกลงเราก็จะเรียกนักเขียนเข้ามาคุย ชวนคุยเพื่อที่จะปรับแก้ต้นฉบับ กับอีกทางหนึ่งก็คือเราเริ่มกันตั้งแต่ศูนย์ ทางสำนักพิมพ์อาจจะมีเรื่องที่อยากทำ เช่น กำลังสนใจเรื่องสังคม วิทยาศาสตร์ อะไรก็ตาม เราคิดประเด็นขึ้นมาก่อน แล้วเราค่อยไปหาว่าใครที่สามารถเล่าเรื่องนี้ได้บ้างค่อยๆ ไปชวนคุยแล้วให้เขาลองเขียนดู

อีกทางหนึ่ง คือเจอคนที่น่าสนใจ เขามีเรื่องที่เขารู้เยอะ และเขาอาจจะเล่าเรื่องเก่งแต่แค่ไม่เคยเขียน เราก็เลยไปลองชวนเขามาดูมันจะคุยกันให้เห็นภาพตรงกันก่อนว่าเราจะทำหนังสือเล่มนี้เพื่อพูดเรื่องอะไร ลิสต์เป็นบทๆ มา แล้วก็มาดูว่าแต่ละบทที่พูดมามันตรงกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้หรือยัง กระบวนการนี้พอเสร็จปุ๊บ เราจะให้เขาไปเริ่มเขียนครับ ลองสัก 2 บทก่อนก็ได้ ดูสำนวนภาษา ดูว่าเรื่องที่เขียนมาตรงกับที่คุยกันหรือเปล่า เราก็จะมีผลตอบรับกันไปเรื่อยๆ เราก็จะมี Feedback กันไปเรื่อยๆ

หลังจบงานหนังสือ สำนักพิมพ์ทำอะไรต่อ

ถ้าแบบจบงานเลยเราจะพักกันแป๊บหนึ่งแหละ ช่วงก่อนงานหนังสือเราก็ต้องปิดเล่ม ซึ่งโอเค มันก็ต้องอัดงานภายใน 1 เดือน 2 เดือน หลังจบก็เลยก็จะพักกันแป๊บหนึ่ง

ช่วงระหว่างมีนาคมไปตุลาคมเราก็จะมีต้นฉบับที่ต้องทำ มีปิดเล่มบ้าง หรือจัดงานของตัวเอง คือมันอาจจะไม่งานชุกเท่าช่วงงานหนังสือ แต่ว่าก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ

นักขียนส่งต้นฉบับไม่ทัน ทำอย่างไร?

ใครส่งทันเด้ดไลน์ตอบได้ง่ายกว่า (หัวเราะ)

จริงๆ พอเราทำไปสักพัก ถึงจุดหนึ่งคือปลงครับ ทำอะไรไม่ได้ เราว่าสัจธรรมของการเป็นบ.ก. หรือทำงานอย่างนี้ สุดท้ายแล้วเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น เราต้องทำงานร่วมกับนักเขียน เราไม่สามารถ “เฮ้ย! นักเขียนส่งไม่ทัน เรามานั่งเขียนให้” ยังไงมันก็ไม่ได้ ทำได้แต่ให้กำลังใจ หรือแปลในอีกทางของนักเขียนว่าให้กำลังใจของมึงคือการกดดันกูนั่นแหละ!

วงการหนังสือทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ถ้าในฐานะของคนทำ ผมว่าคนอ่านหนังสือเขาน่าจะพิถีพิถันกับการเลือกซื้อหนังสือสักเล่มมากขึ้น ผมว่าทั้งคนทำและคนซื้อให้คุณค่ากับมันในฐานะที่เป็นสิ่งของมากขึ้น คนทำก็มีการออกแบบที่ดี คนซื้อก็พร้อมที่จะสนับสนุนถ้าหนังสือเล่มนั้นตรงกับความสนใจ หรือเขาทำออกมาได้รูปลักษณ์ดีงาม

แล้วสื่อออนไลน์มีผลแค่ไหน?

มันอาจจะมีส่วน แต่ก็ยังมีคนที่ซื้อหนังสือเล่มอยู่ ผมว่าถึงจุดหนึ่งคนที่อ่านออนไลน์โดยไม่มาหยิบเล่มเลยก็มีนะ แต่ผมว่าคนที่อ่านหนังสือโดยธรรมชาติ ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้สึกว่าการอ่านออนไลน์มันเหนื่อยมากเกินไป แล้วหนังสือเล่มนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค นิตยสารน่าจะเป็นตัวพักสายตาให้เขาได้ประมาณหนึ่ง

การปรับตัวของแซลมอนบุ๊คส์

จริงๆ อย่างล่าสุดเราก็มีรับครีเอทีฟเข้ามา เหตุผลที่ต้องมีครีเอทีฟก็เพราะว่าเราต้องการให้มีคอนเทนต์จากหนังสือต่อยอดออกไป ซึ่งมันไม่ใช่แค่ออนไลน์เพียงอย่างเดียว ตั้งใจว่าอยากให้มันไปสู่รูปแบบอื่นๆ เช่น อาจจะจัดงานที่ไม่ใช่แค่ทอล์กแล้ว แต่เป็นอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ ไปเลย เช่น ถ้าเป็นหนังสืออาหาร เช่น ถ้าเป็นหนังสืออาหารอาจจะจัดงานเกี่ยวกับอาหารหรือเปล่า

พูดถึงการย้ายที่จัดงานสัปดาห์หนังสือในครั้งหน้า

ต้องยอมรับว่างานที่ศูนย์สิริกิติ์มันเดินทางสะดวกกว่า อย่างน้อยก็มีรถไฟใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นน้องนักศึกษามหาวิทยาลัย เด็กมัธยม หรือแม้แต่คนวัยทำงานเอง มันไม่จำเป็นว่าต้องขับรถยนต์ไปเท่านั้นหรือนั่งแท็กซี่ไป ข้อดีคือ สมมติเราเลิกงานเร็ว เราอาจจะแวะหน่อยไหม หรือทางผ่านบ้านช่วงนี้คนเยอะอยู่ ยังไม่อยากกลับ มันก็สามารถมาได้

หรือที่เราเห็นบ่อยๆ ก็คือ สำนักพิมพ์แซลมอนจะมีหนังสือออกไม่ทัน (!!!) พอวันนี้หนังสือมา มันก็จะมีผู้อ่านบางคนที่เขาอยากอ่านแล้วอะ แต่เขาก็เพิ่งมาไปนะ เขาก็อาจจะแวะมาได้ง่ายๆ

ข้อดีของหนังสือเล่มคืออะไร?

หนังสือเล่มมันไม่มีการแจ้งเตือนขึ้นมารบกวนเราแน่ๆ เราไม่โดนเบนความสนใจ และผมว่าจังหวะการอ่านแหละ จังหวะการอ่านหนังสือมันก็คนละแบบกันแล้ว มันทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง อย่างน้อยมันก็ตัดเราออกจากโลกได้สักพัก บางวันเราอาจจะวุ่นวายมาก จริงๆ การหยิบหนังสือขึ้นมา ก็เป็นเหมือนช่วงพักผ่อน สำหรับคนที่รักการอ่านได้

บางคนบอกว่าชอบสัมผัสกระดาษ ชอบลูบหน้าปกก็มี อีบุ๊คมันก็ทำอะไรพวกนี้ไม่ได้

คิดอย่างไรกับคนที่ซื้อหนังสือมาดอง?

เราเองก็เป็น!

เราว่าคนที่ชอบอ่านหนังสือก็คงเป็นแหละ ไปงานหนังสือ เจอหนังสือเล่มไหนเราก็อยากได้ไปหมด แล้วก็ซื้อๆ ไป อย่างเราเองก็รู้สึกว่าการหันไปเห็นหนังสือที่ยังไม่ได้อ่าน มันอุ่นใจกว่าแหละ เพราะว่าไม่งั้นสมมติอ่านจบแล้วก็ต้องออกไปซื้อ ซึ่งจะได้ซื้อเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมว่าการดองก็น่าจะเป็นเรื่องปกติมั้ง

มันก็มีบางเรื่องที่เราอ่านตอนนั้นแล้วเรารู้สึกว่าวันนี้เราไม่อยากอ่านว่ะ เครียดไป ขอไปอ่านอีกแบบหนึ่งก่อน หรืออยู่ดีๆ ก็ต้องรู้เรื่องนี้ ต้องทำความรู้เพิ่มเติมก็แวะไปอ่านเรื่องนั้นก่อน

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักเขียน

ผมว่าการอยากเป็นนักเขียน นอกจากเขียนแล้วการอ่านสำคัญครับ เราคงไม่สามารถเขียนได้โดยที่ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ เล่าเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง เราอาจจะไม่รู้ว่าเรื่องเราซ้ำกับใครไหมหรือเรื่องที่เราคิดว่ามันสนุกมากอาจจะช้ำไปแล้วหรือเปล่า

การอ่านมันก็จะทำให้เราเจออะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เรื่องที่ชอบก็คงอ่านไปตามปกติ แต่เรื่องที่เราไม่ชอบ อ่านมันสักหน่อยก็ดีเหมือนกัน เพราะเราจะได้รู้ว่าโลกมีอะไร หรือทำไมเราถึงไม่ชอบมัน อ่านให้จบแล้วก็จะได้คำตอบ

TAG :
Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save