ในวันที่ต้องสูญเสียบางอย่างในร่างกาย ผู้พิการหลายคนอาจรู้สึกท้อ หมดกำลังใจ และอาจมีบางมุมที่หมดแรงจะสู้ต่อ แต่แท้จริงแล้วนั้น ศักยภาพของผู้พิการไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าคนปกติและยังสามารถต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้เหมือนเดิมขอเพียงแค่ใจยังสู้ต่อ ซึ่งศักยภาพของคนพิการนั้นหลายคนก็เก่งกว่าคนทั่วไป เราจึงมักจะเห็นคนพิการทำสิ่งที่น่ายกย่องในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการการศึกษา วงการธุรกิจ หรือแม้แต่วงการกีฬา อีกหนึ่งพื้นที่ให้คนพิการมีที่ยื่นในสังคม สร้างชื่อเสียงต่อประเทศและตัวเขาเองด้วยร่างกาย ที่แม้ไม่ครบ 32 ก็จริงแต่ก็ใช้ใจที่เกินร้อย วินัยที่เกินล้านกับการทุ่มเทฝึกฝนลงแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่หวัง คนหนึ่งเสียแขนหนึ่งข้าง, คนหนึ่งเสียการมองเห็น, คนหนึ่งมีร่างกายช่วงบนที่ยังดีแต่ช่วงร่างใช้แทบไม่ได้, คนหนึ่งขาไม่เท่ากันตั้งแต่เกิด และ คนหนึ่งขยับร่างกายได้เพียงท่อนบนบางส่วน แต่พวกเขาใช้ร่างกายตัวเองเล่นกีฬาเพื่อพาตัวเองไปอยู่ในสุดสูงสุดอีกครั้งของชีวิต เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นแล้วเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางที่ตัวเองมีความฝันอยู่…ตราบใดที่เรายังหายใจ ชีวิตก็ยังเป็นของเรา ความฝันก็ยังเป็นของเรา นักกีฬาทั้ง 5 คนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ‘ใจสู้’ ที่แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วถ้าอยากจะเป็นอย่างพวกเขาต้องทำอย่างไร นี่คือคำตอบ กว่าจะเป็นนักกีฬากรีฑาพาราไทย เกวลิน วรรณฤมล นักกีฬากรีฑา ผู้พิการทางสายตา สำหรับเธอถือว่าเป็นดาวรุ่งหญิงในวงการกรีฑาพาราไทย แม้การมองเห็นของเขาจะมืดมิด แต่ปลายทางของเธอกลับมีแสงสว่างที่เกิดจากความมุ่งมั่นและพยายามอย่างหนักของตัวเธอเอง เกวลินบอกกับเราว่า เธอวิ่งมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มแข่งจากกีฬาสีโรงเรียนก่อน จนมีคนเห็นแววและมีโอกาสมาฝึกต่อที่กรมพลศึกษา จนสานฝันตัวเองติดทีมชาติได้ตั้งแต่อายุ 14 ปีในรุ่นของเยาวชน “กว่าจะขึ้นแข่งในแมทช์ใหญ่ได้ ตอนนั้นคิดอย่างเดียวเลยคือ เราต้องเก่งเทียบรุ่นพี่ที่ฝึกซ้อมมาเป็นปีให้ได้ เพื่อเป้าหมายของเราคือการเป็นที่หนึ่ง ทำให้ยิ่งต้องขยันซ้อม มีวินัย เชื่อมั่นและเชื่อใจในไกด์รันเนอร์ เพื่อให้วิ่งไปด้วยกันได้” ซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตสำหรับการก้าวมาเป็นนักกีฬาพาราไทยของเธอคือ เธอกลายเป็นผู้หญิงตาบอดคนแรกที่วิ่งได้ 13.12 นาที ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่อินโดนีเซีย และคว้า 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินได้ และนอกเหนือจากการแข่งขันกีฬาแล้ว เธอยังเป็นพนักงานประจำ แผนกฝ่ายบุคคลอยู่ที่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด โดยจะทำหน้าที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ คอยรับสายเมื่อมีคนโทรเข้ามายังบริษัท อยากเป็นนักกีฬากรีฑาทำอย่างไร กีฬาวิ่ง เป็นหนึ่งในกีฬาพื้นฐานที่ผู้พิการทางสายตาก็สามารถเล่นได้ ซึ่งแต่ละโรงเรียนที่สอนคนตาบอด จะมีการเรียนการสอนกีฬาวิ่งเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่หากสนใจกีฬาวิ่งอย่างจริงจัง และอยากจะขอสมัครเพื่อเข้ารับการทดสอบเป็นนักกีฬาทีมชาติ สามารถติดต่อได้ที่ ‘สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย’ ซึ่งทางสมาคมจะคอยประสานงาน เรื่องการทดสอบให้ รวมถึงถ้าทดสอบผ่าน จะมีผู้ฝึกสอนที่เชี่ยวชาญมาสอน นอกจากนี้คนตาบอดยังมีการจัดแข่งกีฬาทุกปี สามารถใช้เวทีนี้ แสดงฝีเท้าของตัวเอง หากมีผลงานมาในระดับหนึ่งก็จะเป็นประวัติในการสมัครเข้าเป็นนักกีฬาทีมชาติ กว่าจะเป็นนักกีฬาบอคเซียบีซี 2 วัชรพล วงษา นักกีฬาบอคเซียบีซี 2 เขาเล่าว่า ด้วยความที่ตัวเขาเป็นผู้พิการมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ไม่สามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้ แต่ด้วยความที่อยากเรียน จึงมีโอกาสได้เข้าเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 9 จ.ขอนแก่นและที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกเล่นกีฬาบอคเซีย “ผมเริ่มเล่นมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบครับ ตอนนี้ก็อายุ 28 ปีแล้ว ช่วงแรกๆ ก็เริ่มแข่งจากแมทช์เล็กๆ ก่อน อาศัยเวลาซ้อมหลังเลิกเรียนวันละ 2 ชม. ครับ แล้วค่อยขยับไปทีมชาติครับ” เขาบอกด้วยว่าตอนที่มาคัดตัวทีมชาติก็มีบางช่วงที่แอบรู้สึกท้อ “ท้อที่ว่าทำไมเราต้องเจอแต่คนเก่งๆ เวลามาคัดตัว ผมเลยคิดว่า เราต้องเก่งกว่าเขาให้ได้ เพื่อที่จะไปทีมชาติให้ได้” โดยเริ่มแข่งจากแมทช์เล็กๆก่อนอย่างกีฬานักเรียนกีฬาแห่งชาติพอมั่นใจแล้วค่อยไปสมัครคัดตัวทีมชาติซึ่งกว่าจะได้ก็ยากอยู่เหมือนกันเพราะตัวเขาอ่อนประสบการณ์ อยากเป็นนักกีฬาบอคเซียทำอย่างไร บอคเซีย มีสถาบันฝึกกีฬาบอคเซีย สำหรับคนพิการอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนให้คนพิการได้ออกกำลังกาย และแสดงความสามารถ ปัจจุบันมีหลายสถาบันที่ฝึกสอนกีฬาบอคเซียซึ่งหลักๆ ที่ทางวัชรพลแนะนำคือ ศูนย์ศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 9 จ.ขอนแก่น ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนนทบุรี ศูนย์ศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 จ.เชียงใหม่ ทั้งสามแห่ง เป็นสถาบันการเรียนการสอนสำหรับผู้พิการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายมีหลายประเภทกีฬาให้ผู้เข้าเรียนเลือกตามความสนใจพร้อมกับผู้ฝึกสอนที่เชี่ยวชาญสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ special.obec.go.th/view_belong.php?id=2001061 กว่าจะเป็นนักกีฬายิงปืนพาราไทย จ.อ.อนุสรณ์ ไชยชำนาญ นักกีฬายิงปืนพาราไทย อดีตทหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สูญเสียแขนซ้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ เขาบอกว่า จุดเปลี่ยนของชีวิตคือได้มาเจอโครงการสานฝันฮีโร่ ที่จัดโดย คัดเลือกทหารที่ได้รับผลกระทบจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเหมือนฝันให้เขาได้กลับมาจับปืนอีกครั้งซึ่งเป็นกีฬาที่เขาชอบ “ความรู้สึกของการจับปืนครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้น ไม่คิดว่าตัวเองจะได้จับปืนใหม่ เป็นการจับปืนยิงระดับประเทศ ไม่คิดว่าตัวเองมาถึงนี้ได้” อนุสรณ์ ไชยชำนาญ นักกีฬายิงปืนพาราไทย โดยระหว่างนั้นเขาได้ไปฝึกซ้อมที่ค่ายทหารสุรนารี โดยมีโค้ช กิติศักดิ์ เสนาจันทร์ คอยสอนเขาจนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ “ใครที่รู้สึกท้อ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า อยากให้สู้ต่อ สู้เพื่อฝันใหม่ สู้เพื่อศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ สู้เพื่อพ่อแม่ และทำให้คนที่ดูถูกเรา ลบคำดูถูกตรงนี้ได้ ทำให้เขาเห็นว่าเรามีค่า ทำให้เขาเห็นว่าตัวเราเองมีศักยภาพมากแค่ไหน” จ.อ.อนุสรณ์ ไชยชำนาญ นักกีฬายิงปืนพาราไทย กล่าว อยากเป็นนักกีฬายิงปืนทำอย่างไร สำหรับคนที่สนใจอยากเข้ารับการฝึกอบรมเป็นนักกีฬายิงปืนพาราไทย สามารถติดต่อได้ที่ ‘สมาคมกีฬายิงปืนคนพิการไทย’ หรือ ‘สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์‘ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและให้คำปรึกษา และเราสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเป็นนักกีฬายิงปืนประเภทไหน ขึ้นอยู่กับความถนัดในร่างกาย โดยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ (ตามกฎใหม่ของ IPC-Shooting แบ่งเป็น 3 ระดับ) SH 1 นักกีฬายิงปืนที่แขนแข็งแรงพอที่จะยกปืนได้เอง ขณะยิงไม่ต้องใช้ที่วางปืนช่วย (กลุ่มความพิการแขนขา และ/หรือกลุ่มพิการทางไขสันหลัง และโปลิโอ) SH 2 นักกีฬายิงปืนที่แขนอ่อนแรงไม่สามารถยกปืนได้เอง ขณะยิงจำเป็นต้องใช้ที่วางปืนช่วย (กลุ่มความพิการแขนขา และ/หรือกลุ่มพิการทางไขสันหลัง และโปลิโอที่มีความพิการอัมพาตครึ่งซีก ร่วมด้วย) SH3 นักกีฬายิงปืนพิการทางสายตา กว่าจะเป็นนักกีฬาแบดมินตันคนพิการหญิง ชนิดา ศรีนวกุล นักกีฬาแบดมินตัน ที่เรียกว่าเป็นมือหนึ่งในวงการแบดมินตันหญิงพิการของไทย เธอบอกว่า ตอนเด็กๆ ฝึกเล่นกีฬาหลายประเภทมาก จนมาเจอแบดมินตัน ซึ่งเป็นกีฬาที่เธอรู้สึกมีความสุขทุกอย่างที่ได้จับไม้แบด จนมีโอกาสได้ไปคัดตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติ และลงแข่งในฐานะนักกีฬาทีมชาติครั้งแรกในวัยเพียง 16 ปี “ความรู้สึกของเด็กอายุ 16 ปีที่ติดทีมชาติ แล้วแข่งแพ้คือตอนนั้นร้องไห้มาก จนโทรต้องโทรไปหาพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นได้เหรียญทองแดง ด้วยความรู้สึกที่ยังเด็ก เลยยังแยกแพ้ชนะไม่ออก” จนมาถึงตอนที่ได้เหรียญทองแรก เรียกว่าเป็นช่วงที่เราอึดอัดมากที่สุด “เวลาที่จะได้ชิงเหรียญทอง เหมือนคนเหยียบมาครึ่งขาแล้ว แต่ปรากฎว่าเวลาตีมันจะไม่เท่ากัน ความรีแลกซ์มันจะไม่เท่ากับการตีแมทช์ทั่วๆ ไป คือเราต้องตั้งสติทุกอย่าง แต่พอเล่นเสร็จแล้วเราจะรู้สึกโล่ง น้ำตาไหล เหมือนเอาความกดดันที่มีอยู่ออกไป เราหันไปมีโค้ช มีทีม เราได้ เพราะผลงานไม่ได้อยู่แค่เราคนเดียว มีโค้ช มีทีมที่เชื่อมต่อกับเรา รวมถึงความเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย” ปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากการเป็นนักกีฬาแบดมินตันแล้ว เธอยังทำงานเป็นพนักงานอยู่กลุ่มประชาสัมพันธ์ ที่บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัดด้วย ซึ่งหลังเลิกงาน กิจวัตรของเธอที่ทำเปนประจำคือการไปสนามซ้อม ดังนั้นแล้วไม่ว่าเราจะเป็นนักกีฬาประเภทใด การซ้อมคือสิ่งสำคัญ และถ้าอยากติดทีมชาติ ยิ่งต้องซ้อมให้หนัก อยากเป็นนักกีฬาแบดมินตันทำอย่างไร แบดมินตัน เปิดสอนให้กับนักกีฬาคนพิการที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถขอเข้าไปฝึกซ้อมได้ และหลายครั้งจะมีการเปิดคัดตัวนักกีฬาแบดมินตันคนพิการ ไปลงแข่งกีฬาแบดมินตันในรายการต่างๆ หรือสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแวดวงแบดมินตันคนพิการได้จาก ‘สมาคมแบดมินตันคนพิการไทย’ อีกหนึ่งแห่งที่แนะนำคือ ‘ศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการแห่งชาติ’ จ.สุพรรณบุรี อีกหนึ่งสถาบันที่รองรับหลากหลายประเภทกีฬาให้กับผู้พิการ รวมถึงความพร้อมด้านอุปกรณ์และผู้ฝึกสอน ซึ่งภายในสถาบันจะมีโรงฝึกกีฬาในร่มและหอพักนักกีฬาที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่มีความจำเป็นต่อคนพิการโดยเฉพาะโดยผู้เข้าเรียนไม่เสียค่าใช้จ่าย สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี กว่าจะเป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งคนพิการ พงศกร ชุมชัย นักกีฬาโบว์ลิ่ง (อดีตนักกีฬายกน้ำหนัก) ก่อนจะเป็นนักกีฬาโบวลิ่งเขาเคยเป็นช่างเชื่อมเหล็ก และนักกีฬายกน้ำหนักด้วยความที่เขาเล่นฟิตเนสเป็นประจำจนมีคนเห็นแววเลยได้ไปคัดตัวเป็นนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติ โดยเขาเป็นนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติมาได้ราว 6 ปีเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบทำให้ต้องยุติการเล่นกีฬาชนิดนี้แต่ไม่ยุติความฝันที่จะเป็นนักกีฬาทีมชาติจึงหันมาเลือกเล่นกีฬาโบว์ลิ่งแทนจนมั่นฝึกซ้อมและได้กลับมาเป็นนักกีฬาทีมชาติอีกครั้ง “ตอนแรกผมคิดว่า คนพิการถูกปิดกั้นจากสังคม แต่พอผมได้เข้ามาในวงการกีฬา ที่นี่ทำให้เห็นได้ว่า สังคมเปิดกว้างให้กับคนพิการมาก” ปัจจุบันเขาเป็นทั้งพนักงานออฟฟิศและเทรนเนอร์ฟรีสำหรับคนที่สนใจ โดยเขาจะใช้ลานโบว์ลิ่งที่ ม.เกษมบัณฑิตร่มเกล้าเป็นสถานที่ฝึกซ้อม อยากเป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งทำอย่างไร ตอนนี้พงศกร บอกว่าในประเทศไทยยังไม่มีสมาคม หรือโรงเรียนที่เปิดสอนนักกีฬาโบว์ลิ่งคนพิการทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการ แต่สามารถติดต่อไปได้ที่ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสอบถามเรื่องการแข่งขัน หรือเปิดคัดเลือกนักกีฬาคนพิการ เพื่อรวมตัวกันฝึกซ้อม หรือเรียนกับนักกีฬาคนอื่นๆ ก่อนจะไต่เต้าไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพในโอกาสต่อไป พวกเขาบอกเหมือนกันว่า…แม้การจะเข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติมันไม่ได้ง่าย แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง หมดฝัน หมดกำลังใจ เพียงเลือกทำในสิ่งที่รัก เลือกทำในสิ่งที่เรามีความสุข และสู้กับสิ่งนั้นไปด้วยกำลังและแรงใจที่ไม่ย่อท้อ แล้วฝันที่คิดไว้ จะกลายเป็นจริงในแบบที่เราไม่ต้องเอาแต่โทษโชคชะตา…