BNK48 วงน้องสาวชาวไทยของ AKB48 ไอดอลญี่ปุ่นระดับโลก เปิดตัวสมาชิกมาได้สักพัก และเริ่มเดินทางไปแนะนำตัวกับสื่อมวลชนหลายๆ ที่ จนในที่สุด วันที่ 1 มีนาคมนี้ รายการวาไรตี้แรกของพวกเธออย่าง BNK48 Senpai ซึ่งจะพาคุณไปตามติดชีวิตกว่าพวกเธอจะได้มาเป็นไอดอลก็จะเริ่มออกอากาศแล้ว จริงอยู่ว่าเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษาญี่ปุ่นเพื่อติดตามเหล่าสาวๆ BNK48 แต่ว่าบางทีพอเห็นเหล่า “โอตะ” (แฟนเพลง) รุ่นพี่ในเฟซบุ๊กในทวิตเตอร์เขาคุยกันเนี่ย บางทีเขาก็ใช้ศัพท์แปลกๆ กัน โอชิบ้าง เซมบัตสึบ้าง คำพวกนี้มันหมายความว่าอะไร และมีคำว่าอะไรบ้างที่ถ้ารู้ไว้แล้วเราจะทำความรู้จักพวกเธอได้สนุกยิ่งขึ้น.. (ภาพปก – แฟนเพจ BNK48) เธียเตอร์ ความแตกต่างที่โดดเด่นเห็นชัดเจนที่สุดของวงในเครือ 48 ก็คือการมี เธียเตอร์ หรือสถานที่แสดงประจำเป็นของตัวเองนี่แหละครับ มีการแสดงทุกวัน ผลัดเปลี่ยนกันไประหว่างแต่ละทีม รวมไปถึงเหล่าเด็กฝึกที่ปกติคนไม่รู้จัก ก็จะมีที่ยืนบนเวทีนี้นี่แหละครับ ภาพ – TokyoGirlsUpdate เธียเตอร์ของ AKB48 นั้นตั้งอยู่ที่ชั้น 8 ของห้างสรรพสินค้าดองกี้ หรือดองกิโฮเต้ ในย่านอากิฮาบาระ ค่าเข้าอยู่ที่ 1,000-3,000 เยน และต้องจองล่วงหน้าทางเว็บไซต์ แล้วลุ้นให้เขาสุ่มได้ชื่อเราถึงจะได้เข้าไปดู โดยเพลงที่แสดงในเธียเตอร์นั้นก็จะไม่เหมือนกับซิงเกิลที่เราได้ยินกันทั่วไป แถมบางทีก็จะมีกิจกรรมพิเศษตามเทศกาล หรือวันเกิดสมาชิก ซึ่งสนุกสนานมาก หลายๆ คนยืนยันว่าการดูพวกเธอผ่านจอคอม จอทีวีนั้น เทียบไม่ได้กับการแสดงสดเลยล่ะ เป็นสิ่งที่แฟน AKB48 ต้องลองไปให้ได้สักครั้งก่อนตายเลยก็ว่าได้ ที่เธียเตอร์นี้เราก็สามารถฝากของขวัญ จดหมาย หรือการ์ดอวยพรให้สมาชิกที่เราชอบได้ ระหว่างรอการแสดงเริ่มจะไปจะไปซื้อบรรดาของที่ระลึกที่ช็อปก็ได้ เรียกว่าเป็นแดนสวรรค์ของคนรักสาวๆ เลย ภาพ – pantip.com/topic/31349347 สำหรับวง BNK48 เอง ก็ได้มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่าตัวเธียเตอร์นั้นจะตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ โดยในช่วงแรกนี้จะเปิดในส่วนของดิจิทัลสตูดิโอสำหรับอัดรายการต่างๆ ก่อน ส่วนตัวเธียเตอร์นั้นมีแผนจะเสร็จในช่วงกลางปี และจะมีการแสดงสัปดาห์ละ 3-4 วันกันเลย กัปตัน, เซ็นเตอร์ หลังจากวง BNK48 เปิดเผยตัวสมาชิกขึ้นมา ก็คงจะเริ่มได้เห็นคนตั้งคำถามในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ว่าใครจะได้เป็นกัปตัน ใครจะได้เป็นเซนเตอร์ ใช่ไหมครับ แล้วสองตำแหน่งนี้มันต่างกันยังไงนะ กัปตัน เป็นตำแหน่งหัวหน้าของทีม มีหน้าที่คอยควบคุมดูแลเพื่อนๆ ในทีม ในเรื่องการฝึกซ้อม การแสดง การปฏิบัติตัว ฯลฯ นอกจากนั้นกัปตันยังต้องเป็นตัวแทนรับหน้าในสถานการณ์ต่างๆ เสมอ เรียกเป็นตำแหน่งที่ต้องรับแรงกดดันหนักหนาสาหัสมากทีเดียว แต่ละทีมจะมีกัปตัน 1 คน และรองกัปตันอีก 1 คน ภาพ – akb48taimuzu.livedoor.biz/lite/image/3260855 เซนเตอร์ คือตำแหน่งเด่นสุด เจิดจรัสสุดของวง ยืนอยู่ตรงกลางในการแสดงสด หรือในมิวสิควิดีโอ ตำแหน่งนี้จะเลือกกันเป็นเพลงๆ ไป อาจจะเป็นคนที่ได้อันดับสูงสุดในการเลือกตั้งของซิงเกิลนั้นๆ หรือแล้วแต่ความเหมาะสมกับเพลง หรือบางทีก็มีการมอบตำแหน่งเซนเตอร์ให้สมาชิกที่กำลังจะจบการศึกษาเพื่ออำลาเธอด้วย (กลางภาพ) มาเอดะ อัตสึโกะ เซนเตอร์ยุคแรกของ AKB48 นอกจากสองตำแหน่งนี้แล้วก็ยังมีชื่อเรียกตำแหน่งอื่นๆ อีกนะครับ เช่น โซคันโตคุ เป็นตำแหน่งกัปตันของวง คอยดูแลทีมต่างๆ ในวงอีกที เหมือนประธานนักเรียนกับหัวหน้าห้องน่ะครับ, คามิ 7 หมายถึงสมาชิก 7 คนที่โด่งดังที่สุดของวง เป็นคนที่ได้คะแนนท็อป 7 ของการเลือกตั้ง, เค็งคิวเซย์ หมายถึงเด็กฝึก หรือสมาชิกที่ออดิชันเข้าวงมาใหม่ๆ ยังไม่พร้อมจะขึ้นแสดงจริงๆ และอื่นๆ อีกมากมาย โอชิ เราคงจะเห็นหลายคนเริ่มมีการประกาศตัวกันแล้วว่า ฉันโอชิเฌอปราง ฉันโอชิน้องเปี่ยมกุหลาบไฟ ซึ่งเจ้าคำว่าโอชิ (推し) หรือ โอชิเม็ม (推しメン) นี้ ก็ย่อมาจากคำว่า โอชิเตรุ เมมเบอร์ หรือ “เมน” สมาชิกของวงคนที่คุณชื่นชอบ โปรดปราน และอยากจะสนับสนุนเธอมากที่สุดนั่นเอง ภาพ – แฟนเพจ BNK48 แน่นอนครับว่าวงที่มีสมาชิกนับร้อยแบบนี้ อย่าว่าแต่รักทุกคนให้เท่ากันเลย จำชื่อทุกคนให้ครบยังยาก โอตะส่วนใหญ่ก็เลยเน้นสนับสนุนเฉพาะโอชิเม็มของตัวเอง ทั้งด้วยการติดตาม SNS (โซเชียลเน็ตเวิร์ก) เพื่อคอยให้กำลังใจเธอ โหวตให้เธอในการเลือกตั้ง ไปจับมือกับเธอในงานจับมือ อะไรแบบนี้ครับ โอชิเม็มนี่มีกี่คนก็ได้นะครับ แล้วแต่ความกว้างใหญ่ของจิตใจ และก็เปลี่ยนได้ตลอดเช่นกัน แต่ในบรรดาคนที่โอชิหลายคน ก็จะมี คามิโอชิ (神推し โอชิเทพเจ้า) ก็คือโอชิในหมู่โอชิ ฉันรักหลายคนก็จริงนะ แต่คนนี้คือเทพเจ้าที่ฉันเทิดทูนบูชา! เซมบัตสึ แน่นอนว่าสมาชิกเยอะขนาดนี้ คงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ขึ้นแสดง เพราะเวทีคงจะไม่เหลือที่เต้น ฉะนั้นก็จะมีเหล่าผู้ถูกเลือก หรือ เซมบัตสึ (選抜) ก็คือสมาชิกที่ได้รับเลือกให้มีส่วนร่วมในซิงเกิลนั้นๆ โดยแต่ละซิงเกิลก็จะมีจำนวนสมาชิกเซมบัตสึต่างกันไป 7 คนบ้าง 16 คนบ้าง 21 คนบ้างแล้วแต่เพลง ซึ่งเซมบัตสึนี้ก็ได้มาจากหลายทาง ทั้งจากการเลือกตั้ง หรือโปรดิวเซอร์ หรือกัปตันทีมเป็นคนเลือกเองตามความเหมาะสมของแต่ละซิงเกิล อีกคำที่น่ารู้คือ มีเดียเซมบัตสึ ซึ่งหมายถึงสมาชิกที่ได้รับเลือกไปโชว์ออกรายการโทรทัศน์ เพราะแน่นอนว่าการแห่เอาคน 16 คนไปออกโทรทัศน์ทุกรายการนั้นคงไม่ได้ ทั้งกินแอร์ไทม์กันเอง แถมห้องส่งจะแตกเอาเสียก่อน จึงต้องมีการเลือกเอาแค่สมาชิกที่โดดเด่น หรือมีอันดับต้นๆ ของผลการเลือกตั้งไปออกเท่านั้น เลือกตั้ง เลือกตั้ง (選抜総選挙 เซมบัตสึ โซเชนเคียว) คือกิจกรรมที่ให้แฟนๆ ได้ร่วมโหวตให้สมาชิกที่ตนชื่นชอบได้เป็นหนึ่งในเซมบัตสึ วิธีการโหวตก็ไม่ยากไม่เย็นครับ ในซีดีซิงเกิลแต่ละแผ่นจะมีรหัสสำหรับโหวต เราก็สามารถเอารหัสนั้นเข้าไปโหวตให้สมาชิกที่คุณชอบทั้งจาก AKB48 และวงอื่นๆ ได้แบบออนไลน์เลย ภาพ – FightingforNippon โอตะระดับแฟนพันธุ์แท้บางคนก็ทุ่มซื้อมาโหวตทีละหลายร้อยแผ่น ทำให้เวลามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทีไร ยอดขายซิงเกิลก็อาจจะพุ่งพรวดไปถึงหลักล้านแผ่นเลยทีเดียว ถ้าถามว่าคนที่ซื้อแผ่นนับร้อยเขาเอาไปทำอะไรกัน ส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะเอามาแจกฟรีตามอีเวนต์หรือคอนเสิร์ต เพื่อให้คนที่ไม่เคยฟังได้ลองฟัง เป็นการช่วยแนะนำวงไปอีกทางหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ของเหล่าโอตะญี่ปุ่นเลยครับ นอกจากสมาชิก 16 คนแรกที่ได้เป็นเซมบัตสึแล้ว สมาชิกที่ได้ลำดับอื่นๆ ก็มีชื่อเรียกเหมือนกันนะครับ อันดับ 17-32 เรียกว่าอันเดอร์เกิร์ล, อันดับ 33-48 เรียกว่าเน็กซ์เกิร์ล, อันดับ 49-64 เรียกว่าฟิวเจอร์เกิร์ล และอันดับ 65-80 ก็จะเป็นอัพคัมมิ่งเกิร์ล สาวๆ พวกนี้ก็จะได้ร้องเพลงรองๆ ของซิงเกิลนั้นๆ ครับ นอกจากการเลือกตั้งแบบปกติแล้ว ก็ยังมีการเลือกตั้งด้วยวิธีเป่ายิ้งฉุบ (じゃんけん大会 จังเค็นไทไค) ซึ่งเอาสมาชิกมาเป่ายิ้งฉุบแข่งกันหาผู้ชนะเพื่อไปเป็นเซมบัตสึด้วยนะครับ การเลือกแบบนี้ก็สร้างความแปลกใหม่ดี เพราะทำให้สมาชิกหลายคนที่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ไม่มีคนโหวต แต่ดวงดี สามารถก้าวขึ้นมาอยู่เบื้องหน้าได้เป็นครั้งแรก งานจับมือ นอกจากการไปชมการแสดงของพวกเธอในเธียเตอร์ คอนเสิร์ตใหญ่ หรือติดตามชีวิตพวกเธอผ่านรายการวาไรตี้แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้วงในเครือ 48 ได้รับความนิยม ก็คือกิจกรรมที่เรียกว่า งานจับมือ (握手会 อาคุชูไค) ซึ่งก็ตามชื่อครับ เป็นกิจกรรมที่ให้เราได้จับมือกับสาวๆ ไอดอลโดยตรงเลยนั่นแหละ ภาพ – http://2chcn.com/30616/ ในรายการวาไรตี้ตอนหนึ่งพวกเธอเล่าว่างานจับมือนั้นเกิดจากการที่วันหนึ่ง เธียเตอร์มีเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถทำการแสดงได้ และพวกเธอก็ไม่อยากจะให้แฟนๆ ที่อุตส่าห์ถ่อมาดูต้องกลับไปมือเปล่า จึงให้แฟนๆ ได้เข้ามาจับมือทักทาย ให้กำลังใจกับเหล่าสมาชิกได้ ก่อนที่จะกลายเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ไปแล้วสำหรับแฟนๆ สาวๆ 48 ภาพ – http://2chcn.com/30616/ งานจับมือมีด้วยกัน 2 แบบ คืองานจับมือทั่วประเทศ และงานจับมือเดี่ยว โดยงานจับมือทั่วประเทศนี้ก็จะเข้าร่วมได้หากมีตั๋วที่ได้จากการซื้อซีดีรุ่นลิมิตเต็ด ซึ่งก็มีคนเข้าร่วมนับหมื่นเลยนะครับ หลังจากได้เรียกคิวไปต่อแถวแล้วเราก็จะได้จับมือกับสมาชิกที่เราชอบพร้อมกับพูดคุยให้กำลังใจกับเธอเล็กๆ น้อยๆ ประมาณ 3 วินาที แล้วแต่ความเหมาะสม ก่อนจะถูกเชิญออกไปเพื่อให้คนอื่นได้สัมผัสบ้าง ส่วนงานจับมือเดี่ยวนี่จะพรีเมียมกว่ามากครับ ตั๋วงานนี้จะแถมมากับซีดีรุ่นเธียเตอร์ซึ่งต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ถึงจะได้ ในขั้นตอนสั่งจองก็จะต้องระบุเลยว่าอยากจะจับมือกับสมาชิกคนไหน เลือกจับได้แม้แต่เด็กฝึกเลยนะครับถ้าชอบจริงๆ โดยจะได้จับและพูดคุยกันนานประมาณ 10 วินาทีเลย จริงๆ ยังมีคำศัพท์น่ารู้ที่เกี่ยวกับสาวๆ 48 อีกมากมายเลยนะครับ เพราะเรียกได้ว่าเป็นวงที่ริเริ่มระบบและกิจกรรมต่างๆ ไว้เยอะมากทีเดียว ขอบอกเลยว่ายิ่งรู้จักพวกเธอมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งสนุกมากขึ้นเท่านั้น แต่วันนี้เราแค่ให้อ่านพี่ๆ เขาคุยกันรู้เรื่องพอหอมปากหอมคอก่อนก็พอ อย่าลืมติดตามรายการ BNK48 Senpai และสนับสนุนน้องๆ BNK48 กันต่อไปยาวๆ ด้วยนะครับผม ปล. คนเขียนโอชิซัทจัง ที่มา – Stage48, [AKB48] การแสดงที่เธียเตอร์ คือ ?, เที่ยวญี่ปุ่น : ชมการแสดงสดๆ ของสาว AKB48 ที่ AKB48 Theater ก่อนกลับบ้าน, [AKB48] งานจับมือของAKBนี่มันเป็นยังไงกันนะ?