สำหรับคนที่เล่นโซเชียลมีเดีย คงได้ยินคำว่าอินฟลูเอนเซอร์กันมาบ้าง บางคนอาจจะกดติดตาม หรือบางคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์เองเลยก็มี แต่ยังมีอีกคำ นั่นคือ KOL ที่หลายคนอาจจะยังสับสน ว่าแท้จริงแล้วใครที่จะได้ชื่อว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือ KOL มาดูกันว่าผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์สองแบบนี้มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง
ลักษณะของ Influencer และ KOL
- Influencer คือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ สามารถโน้มน้าวให้คนสนใจหรือซื้อสินค้าและบริการได้ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ
- KOL หรือ Key Opinion Leader แปลตรงตัวคือผู้นำทางความคิด เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ติดตาม
คอนเทนต์ที่นำเสนอ
- อินฟลูเอนเซอร์มักจะไม่ได้นำเสนอคอนเทต์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการแชร์ไลฟ์สไตล์ บอกเล่าประสบการณ์ หรือให้ข้อมูลบางอย่าง รูปแบบของคอนเทนต์ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น อินสตาแกรมมักจะเป็นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ผ่านรูปภาพ วิดีโอสั้นๆ ในยูทูปจะเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
- KOL จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน น่าเชื่อถือ มีความรู้และโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ แล้วเรานึกถึงใครคนแรกๆ นั่นแสดงว่าคนนั้นเป็น KOL ในเรื่องนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญอาจมาจากการศึกษา ประสบการณ์ หรือผลงานที่นำเสนอออกมาจนได้รับการยอมรับ โดยคอนเทนต์ที่ KOL นำเสนอมักไม่ได้มีแต่การแสดงความคิดเห็น แต่ยังเป็นการให้ความรู้ไปในตัว
ผู้ติดตาม
- Influencer มีผู้ติดตามในช่องทางออนไลน์จำนวนมาก ถ้าถามว่ามากแค่ไหน จริงๆ แล้วไม่มีตัวเลขตายตัว แต่ต้องมากพอที่จะสร้างผลกระทบทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้ เช่น เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ รีวิวสินค้าชิ้นหนึ่ง ผู้ติดตามที่เห็นสินค้าชิ้นนั้นอาจจะไม่ได้ซื้อตามทุกคน แต่ก็มีผู้ติดตามที่ซื้อสินค้าชนิดนั้นๆ หรือทำให้สินค้านั้นเป็นที่นิยมขึ้นมาได้ โดยส่วนมากหากแบรนด์จะจ้างอินฟลูเอนเซอร์ มักจะกำหนดยอด Follower ขั้นต่ำของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น มีตั้งแต่ 1,000 Follower ขึ้นไป
- KOL เองก็มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงจากโซเชียลมีเดียเท่านั้น สามารถมีชื่อเสียงมาจากความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางนำเสนอคอนเทนต์ โดยมีผู้ติดตามที่สนใจ ชื่นชอบคอนเทนต์ในเรื่องนั้นๆ
การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
- ด้วยความที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย กว้างขวาง
- เมื่อ KOL มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คอนเทนต์ที่นำเสนอจึงมีความเฉพาะเจาะจง ลงลึกและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ คนที่สนใจหรือชื่นชอบเรื่องไหน ก็จะติดตาม KOL ที่โดดเด่นและเชี่ยวชาญเรื่องนั้น หากแบรนด์จ้าง KOL ที่ตรงกับสินค้าของแบรนด์ ก็จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและเฉพาะเจาะจง
ประเภทของ Influencer และ KOL
- อินฟลูเอนเซอร์บางคนจะมีความโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามไลฟ์สไตล์ เช่น ความสวยความงาม ร้านอาหารและคาเฟ่ การแต่งตัว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ในหลายๆ ด้าน เช่น เริ่มต้นจากการแต่งหน้า เมื่อมีชื่อเสียงคนก็จะเริ่มสนใจไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆ และอยากให้อินฟลูเอนเซอร์แนะนำ บอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ ผ่านการสื่อสารกันบนโซเชียลมีเดีย
- KOL แต่ละคนจะมีความโดดเด่นเฉพาะด้านตามความเชี่ยวชาญ เช่น การถ่ายรูป การทำอาหาร การเงิน ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย และไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง KOL
อิทธิพลต่อผู้ติดตาม
- อินฟลูเอนเซอร์มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ติดตาม เนื่องจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่อยู่ในกลุ่ม Millennial (อายุ 24-35 ปี) และ Gen Z (อายุ 16-23 ปี) มักติดตาม อินฟลูเอนเซอร์ เนื่องจากชื่นชอบไลฟ์สไตล์ หรือคอนเทนต์ที่คนเหล่านั้นนำเสนอ และจะรู้สึกว่า Influencer มีความใกล้ชิด เข้าถึงง่ายและมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับเรามากกว่าดารา อินฟลูเอนเซอร์บางคนอาจจะเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก คำแนะนำหรือการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ จึงดูจริงใจ เชื่อถือได้
- ในขณะที่ KOL มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ การแนะนำ หรือการแบ่งปันประสบการณ์ของ KOL จึงมีอิทธิต่อผู้ติดตาม ไปจนถึงอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นๆ เลยก็ว่าได้