สำหรับคนที่เล่นโซเชียลมีเดีย คงได้ยินคำว่าอินฟลูเอนเซอร์กันมาบ้าง บางคนอาจจะกดติดตาม หรือบางคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์เองเลยก็มี แต่ยังมีอีกคำ นั่นคือ KOL ที่หลายคนอาจจะยังสับสน ว่าแท้จริงแล้วใครที่จะได้ชื่อว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือ KOL มาดูกันว่าผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์สองแบบนี้มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง ลักษณะของ Influencer และ KOL Influencer คือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ สามารถโน้มน้าวให้คนสนใจหรือซื้อสินค้าและบริการได้ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ KOL หรือ Key Opinion Leader แปลตรงตัวคือผู้นำทางความคิด เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ติดตาม คอนเทนต์ที่นำเสนอ อินฟลูเอนเซอร์มักจะไม่ได้นำเสนอคอนเทต์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการแชร์ไลฟ์สไตล์ บอกเล่าประสบการณ์ หรือให้ข้อมูลบางอย่าง รูปแบบของคอนเทนต์ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น อินสตาแกรมมักจะเป็นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ผ่านรูปภาพ วิดีโอสั้นๆ ในยูทูปจะเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง KOL จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน น่าเชื่อถือ มีความรู้และโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ แล้วเรานึกถึงใครคนแรกๆ นั่นแสดงว่าคนนั้นเป็น KOL ในเรื่องนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญอาจมาจากการศึกษา ประสบการณ์ หรือผลงานที่นำเสนอออกมาจนได้รับการยอมรับ โดยคอนเทนต์ที่ KOL นำเสนอมักไม่ได้มีแต่การแสดงความคิดเห็น แต่ยังเป็นการให้ความรู้ไปในตัว ผู้ติดตาม Influencer มีผู้ติดตามในช่องทางออนไลน์จำนวนมาก ถ้าถามว่ามากแค่ไหน จริงๆ แล้วไม่มีตัวเลขตายตัว แต่ต้องมากพอที่จะสร้างผลกระทบทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้ เช่น เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ รีวิวสินค้าชิ้นหนึ่ง ผู้ติดตามที่เห็นสินค้าชิ้นนั้นอาจจะไม่ได้ซื้อตามทุกคน แต่ก็มีผู้ติดตามที่ซื้อสินค้าชนิดนั้นๆ หรือทำให้สินค้านั้นเป็นที่นิยมขึ้นมาได้ โดยส่วนมากหากแบรนด์จะจ้างอินฟลูเอนเซอร์ มักจะกำหนดยอด Follower ขั้นต่ำของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น มีตั้งแต่ 1,000 Follower ขึ้นไป KOL เองก็มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงจากโซเชียลมีเดียเท่านั้น สามารถมีชื่อเสียงมาจากความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางนำเสนอคอนเทนต์ โดยมีผู้ติดตามที่สนใจ ชื่นชอบคอนเทนต์ในเรื่องนั้นๆ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ด้วยความที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย กว้างขวาง เมื่อ KOL มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คอนเทนต์ที่นำเสนอจึงมีความเฉพาะเจาะจง ลงลึกและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ คนที่สนใจหรือชื่นชอบเรื่องไหน ก็จะติดตาม KOL ที่โดดเด่นและเชี่ยวชาญเรื่องนั้น หากแบรนด์จ้าง KOL ที่ตรงกับสินค้าของแบรนด์ ก็จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและเฉพาะเจาะจง ประเภทของ Influencer และ KOL อินฟลูเอนเซอร์บางคนจะมีความโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามไลฟ์สไตล์ เช่น ความสวยความงาม ร้านอาหารและคาเฟ่ การแต่งตัว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ในหลายๆ ด้าน เช่น เริ่มต้นจากการแต่งหน้า เมื่อมีชื่อเสียงคนก็จะเริ่มสนใจไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆ และอยากให้อินฟลูเอนเซอร์แนะนำ บอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ ผ่านการสื่อสารกันบนโซเชียลมีเดีย KOL แต่ละคนจะมีความโดดเด่นเฉพาะด้านตามความเชี่ยวชาญ เช่น การถ่ายรูป การทำอาหาร การเงิน ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย และไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง KOL อิทธิพลต่อผู้ติดตาม อินฟลูเอนเซอร์มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ติดตาม เนื่องจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่อยู่ในกลุ่ม Millennial (อายุ 24-35 ปี) และ Gen Z (อายุ 16-23 ปี) มักติดตาม อินฟลูเอนเซอร์ เนื่องจากชื่นชอบไลฟ์สไตล์ หรือคอนเทนต์ที่คนเหล่านั้นนำเสนอ และจะรู้สึกว่า Influencer มีความใกล้ชิด เข้าถึงง่ายและมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับเรามากกว่าดารา อินฟลูเอนเซอร์บางคนอาจจะเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก คำแนะนำหรือการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ จึงดูจริงใจ เชื่อถือได้ ในขณะที่ KOL มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ การแนะนำ หรือการแบ่งปันประสบการณ์ของ KOL จึงมีอิทธิต่อผู้ติดตาม ไปจนถึงอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นๆ เลยก็ว่าได้ ที่มา thaibusinesssearch brandinside