ความสำเร็จไม่ได้นำมาซึ่งความมั่นใจในตัวเองเสมอไป หลายคนรู้สึกว่าความสำเร็จนั้นไม่คู่ควรกับเราเสียเลย แถมยังรู้สึกว่ารอบตัวมีแต่คนเก่งๆ เต็มไปหมด แล้วเรามายืนอยู่จุดนี้ได้ยังไงกันนะ ถ้าเคยรู้สึกแบบนี้ก็มีแนวโน้ม Impostor Syndrome เริ่มเข้ามาอยู่ในจิตใจของเราแล้ว
มาดูสัญญาณของการเข้าใกล้ Impostor Syndrome กัน ถ้าตรงกับเราเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องกังวล อาการนี้ไม่ใช่เรื่องแย่ แค่ให้กำลังใจและขอบคุณตัวเองให้มากขึ้น จะไ้ด้มีความมั่นใจ ไม่ปล่อยให้อาการนี้ไปปิดกั้นโอกาสข้างหน้าที่จะเข้ามาหาเรา
Imposter Syndrome คืออาการรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ สงสัยในความสามารถและความสำเร็จของตัวเอง และกลัวจะมีคนจับได้ว่าเราไม่เก่งพอที่จะยืนอยู่ในจุดนี้ แม้เราจะพาตัวเองมายืนอยู่ตรงนี้ได้แล้วก็ตาม
อาการนี้ได้รับการนิยามขึ้นในปี 1978โดย Pauline Clance และ Suzanne Imes นักจิตวิทยาคลินิก พวกเธอให้คำอธิบาย Impostor Syndrome ว่า แม้จะประสบความสำเร็จ มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่คนที่มีอาการนี้ จะยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความสำเร็จเหล่านั้น เพียงแค่พวกเขาโชคดีหรือบังเอิญเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมพอดี
อาการของ Impostor Syndrome
ติดอยู่ในวังวนความกังวล
นอกจากจะกังวลว่าสิ่งที่ทำอยู่จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จ คนเหล่านี้จะกังวลว่าคนอื่นจะจับได้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งพอจะมายืนอยู่จุดนี้ และความสำเร็จนั้นได้มาเพราะโชคช่วยหรือจังหวะเวลาเหมาะสมพอดี
ไม่ค่อยยอมรับคำชื่นชม
คนส่วนใหญ่เวลาได้รับคำชมมักจะกล่าวขอบคุณด้วยความยินดี หรือถ่อมตัวเล็กน้อยพอเป็นพิธี ส่วนคนที่มีอาการ Imposter Syndrome เกินคำว่าถ่อมตัวไปไกล เขาจะไม่ยอมรับคำชื่นชมจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะถ่อมตัว แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่คู่ควรกับคำชมเหล่านั้น
นึกถึงแต่สิ่งที่ตัวเองยังทำไม่สำเร็จ
ไม่ว่าคนที่มีอาการ Impostor Syndrome จะประสบความสำเร็จและสร้างผลงานมากมายแค่ไหน เขาก็จะมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ยังทำไม่ได้ หรือยังไม่สำเร็จ เนื่องจากคนเหล่านี้ตั้งเป้าหมายและคาดหวังกับตัวเองไว้สูง เมื่อสิ่งที่ทำได้ยังไม่มากพอก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ
คิดว่าความสำเร็จมาจากปัจจัยภายนอก
ไม่คิดว่าตัวเองเป็นปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ มักจะคิดว่าความสำเร็จที่ได้มา ไม่ได้เป็นเพราะความสามารถของตัวเอง แต่เป็นเพราะปัจจัยรอบข้าง เช่น เวลาเหมาะสมพอดี มีคนช่วยเหลือ ได้รับโอกาส หรือความโชคดี
ไปไกลกว่าเป้าหมายที่ตั้ง
ด้วยความที่ตั้งเป้าหมายและคาดหวังไว้สูง รวมถึงการกลัวความผิดหวัง คนที่มีอาการ Impostor Syndrome จึงทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาไปกับสิ่งที่ทำมาก เพราะไม่อยากผิดหวัง ซึ่งบางครั้งทำให้ผลงานไปได้ไกลกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เสียอีก แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่มั่นใจในความสำเร็จของตัวเอง จึงไม่มองว่าผลลัพธ์ที่ดีนั้นเป็นเพราะความสามารถของตัวเอง
ผิดหวังอย่างรุนแรง
เมื่อตั้งเป้าหมาย คาดหวังในตัวเองสูง จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับสิ่งที่ทำมาก ถ้าหากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ หรือไม่สามารถทำตามที่ตัวเองตั้งใจได้ ความผิดหวังจึงมากเป็นพิเศษตามไปด้วย
รูปแบบของ Impostor Syndrome
มนุษย์สมบูรณ์แบบ (Perfectionists)
ขึ้นชื่อว่าสมบูรณ์แบบ คนประเภทนี้จึงคาดหวังในตัวเองสูงมาก Perfectionists มักจะไม่ค่อยพอใจในผลงานของตัวเอง และคิดว่าทำได้ดีกว่าที่ทำอยู่ เพียงแค่ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับความสามารถของตัวเองแล้ว ยิ่งถ้าผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้แม้แต่นิดเดียว มนุษย์สมบูรณ์แบบจะถือว่าเป็นความล้มเหลว และรู้สึกผิดหวังในตัวเอง
ทำเองสบายใจกว่า (Soloists)
ที่คนประเภทนี้ไม่ขอความช่วยเหลือไม่ใช่เพราะไม่มั่นใจในความสามารถของคนอื่น แต่เขาสบายใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง ถ้าต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่ คนฉายเดี่ยวจะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวและไม่เก่งจริง
ผู้รอบรู้ (Experts)
ถ้าไม่มั่นใจ คนประเภทนี้จะไม่พูดหรือทำแน่นอน เพราะเขาต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและครบถ้วนก่อนจะลงมือทำอะไรสักอย่าง ผู้รอบรู้มักจะเข้าร่วมอบรม เทรนนิ่ง เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก่อนจะสมัครงานสักตำแหน่ง พวกเขาจะต้องมั่นใจว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่ตำแหน่งนั้นต้องการอย่างครบถ้วนก่อนจะยื่นใบสมัคร
ยอดมนุษย์ (Supermen/ Superwomen)
แม้จะไม่ได้มีพลังเหนือคนอื่น แต่พวกเขาทำงานหนักกว่าคนรอบข้างเสมอ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง เพราะต้องการประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต ถ้าหากทำอะไรล้มเหลวเมื่อไหร่ คนเหล่านี้จะรู้สึกเครียดได้ง่าย
ฉลาดโดยธรรมชาติ (natural genius)
คนประเภทนี้จะสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ฝึกฝนสกิลต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าต้องใช้ความพยายามหรือรู้สึกว่ายากลำบากในการทำให้สำเร็จ คนเรียนรู้ไวจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอจะทำสิ่งนั้นได้
Impostor Syndrome แก้ได้อย่างไรบ้าง
บันทึกและฉลองให้กับความสำเร็จ
ลองบันทึกและจดจำความสำเร็จของตัวเอง เพื่อเพิ่มความภูมิใจและคุณค่าในตัวเอง ฉลองให้กับความสำเร็จบ้าง จะเป็นการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ตัวเอง
พูดคุยกับคนที่เข้าใจ
หาคนที่ไว้ใจได้สักคนเพื่อบอกเล่าสิ่งที่เรากำลังรู้สึก จะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือนักจิตวิทยาก็ได้ แม้จะไม่ได้ทำให้อาการนี้หายไปทันที แต่การมีใครสักคนที่เข้าใจ ก็ทำให้เรารู้สึกดีและมีกำลังใจขึ้นได้ นอกจากนี้ยังเป็นการให้คนอื่นสะท้อนภาพตัวเราเองตามความเป็นจริง
ยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง
สิ่งสำคัญในการก้าวข้ามความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ คือทำความเข้าใจว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง เราต่างมีด้านที่ทำได้ดี และด้านที่ไม่ถนัด ความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแค่ใช้มันเป็นบทเรียน และเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในตัวเอง
คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะผิดหวัง
นอกจากคาดหวังให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย อย่าลืมคิดไว้เสมอว่าความผิดหวังก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ให้โอกาสตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว จะผิดหวังบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะล้มแล้วก็เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
เก็บ Impostor Syndrome ไว้ในส่วนลึกของตัวเอง
การมี Impostor Syndrome อยู่ในตัวไม่ใช่เรื่องแย่ Impostor Syndrome ก็มีข้อดีในตัวเอง คือทำให้เราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่ต้องรักษาสมดุลไม่ให้อาการนี้มีบทบาทกับการตัดสินใจและใช้ชีวิตมากเกินไป ภูมิใจในความสำเร็จและเข้าใจความไม่สมบูรณ์แบบของคนเราให้มากขึ้น
ที่มา
time, bustle, medicalnewstoday, psychologytoday, psychologytoday