ในวันหนึ่งวัน เราพูดคุยกับคนอื่นกี่ครั้ง? จำได้ไหมว่าในเเต่ละเรื่อง เราตอบคู่สนทนากลับไปว่าอะไรบ้าง แล้วเราตั้งใจฟังหรือแทรกเพื่อนทุกครั้งที่มีจังหวะ เฮ้ย! ฉันเข้าใจแก ส่วนตอนฉันเจอนะ เรื่องเป็นแบบนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าคุณกำลังแชร์ประสบการณ์ให้อีกฝ่าย แต่แปลว่าคุณกำลังรับฟังอย่างผิดวิธี ถ้าอย่างนั้นวิธีการที่ถูกต้องทำยังไงล่ะ?
“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการสื่อสารคือ เรารับฟังเพื่อโต้ตอบ ไม่ใช่เพื่อเข้าใจ”
เป็นคำพูดเมื่อนานมาแล้วของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เจ้าของรางวัลออสการ์และรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซึ่งยังคงใช้ได้ในปัจจุบัน ยิ่งเมื่อเราอยู่ในยุคที่ทุกคนมีโลกออนไลน์อยู่ในมือ คนส่วนใหญ่เคยอ่านรีเสิชเรื่องต่างๆ และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกับอีกฝ่ายอย่างกระตือรือร้น หรือโต้เถียงทันทีที่เห็นว่าอีกฝ่ายผิด จนบางครั้งอาจลืมไปว่า สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการไม่ใช่คำแนะนำ แต่เป็นการรับฟัง
ลองคิดถึงสถานการณ์ว่าเรากำลังมีปัญหาถกเถียงกับคนรัก ถ้าฟังว่าอีกฝ่ายพูดอะไรมาและตอบกลับไปทันที อาจเผลอพูดสิ่งที่ทำร้ายจิตใจกัน จนบทสนทนาบานปลายและรุนแรงขึ้น แต่ถ้าเรารับฟังเพื่อทำความเข้าใจ เพราะอะไรอีกฝ่ายถึงพูดแบบนั้นออกมา เขากำลังรู้สึกหรือคิดอะไรอยู่ จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น และจบปัญหานั้นได้ด้วยดีในที่สุด
เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการรับฟังที่ถูกต้องแล้วใช่ไหมล่ะ มาดูกันดีกว่าว่าวิธีการเป็นผู้ฟังที่ดีในยุคนี้ต้องทำอย่างไร
ไม่เล่นสมาร์ทโฟนหรือทำสิ่งอื่นไปควบคู่กับการฟัง
หลายคนเคยชินกับการ Multi-tasking หรือการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทำให้สุดท้ายแล้วไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถจับประเด็นที่คู่สนทนาพยายามจะสื่อได้ ทริคที่สำคัญในการบอกว่าเรากำลังตั้งใจฟังอยู่นะ คือการมองหน้าอีกฝ่าย (ไม่ต้องถึงขั้นจ้องไม่วางตานะ) เป็นอีกหนึ่งภาษาทางร่างกายที่แสดงถึงความใส่ใจ
ไม่พูดแทรกประโยค
ไม่ว่าเรื่องที่อีกฝ่ายพูด เป็นเรื่องที่เรารู้มาก่อน หรือเป็นเรื่องที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่อีกฝ่ายต้องการคือการรับฟังแบบจริงๆ และการพยายามทำความเข้าใจ หรือถ้าหากอยากให้คำแนะนำ ควรรอให้อีกฝ่ายพูดให้จบก่อน บางทีเมื่อจบประโยค คำแนะนำที่ควรให้อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้นะ
ไม่รีบสรุปด้วยตัวเอง
รอให้อีกฝ่ายพูดจบประโยคด้วยตัวเอง แล้วจึงพูดทวนเรื่องเล่าเพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ อย่าเดาอารมณ์ไปเรื่อยๆ เพราะจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดว่าเราฟังไปอย่างนั้น ไม่ได้ใส่ใจจริงๆ
เห็นต่างอย่างเข้าใจ
ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมา แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเรื่องที่อีกฝ่ายพูด ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเขา จะรู้สึกอย่างไร หรือถ้าไม่เข้าใจจริงๆลองถามย้อนกลับ เพราะเหตุการณ์เป็นแบบนี้ เธอเลยรู้สึกแบบนี้และทำแบบนี้ ใช่ไหม เมื่ออีกฝ่ายรับรู้ว่าคุณสนใจ ก็จะอยากเล่าเรื่องต่ออีกเรื่อยๆ หรือบางทีเราอาจจะเปลี่ยนเป็นเห็นด้วยกับเขาก็ได้นะ
แน่นอนว่าเราไม่เคยถูกสอนวิธีการเป็นผู้ฟัง เพราะการฟังเป็นสิ่งที่เราทำเป็นด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก วิธีการรับฟังที่ถูกต้องจึงต้องผ่านการฝึกฝนและเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือการฟังด้วยทัศนคติที่ดี และแสดงถึงความตั้งใจฟังคู่สนทนาอย่างแท้จริง และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการตั้งใจรับฟังคนอื่นคือ เมื่อถึงตาเราบ้าง ก็มั่นใจได้เลยว่าอีกฝ่ายยินดีที่จะรับฟังเราเหมือนกัน
ที่มา : Lifehack