สำหรับใครหลายคนโดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่กำลังมองหางานประจำ ส่งอีเมลสมัครงานไปกี่ครั้งเค้าก็เรียกสัมภาษณ์ทุกครั้ง ถ้าคุณเกิดเบื่อความสำเร็จในลักษณะนี้ ลองมาดู 10 วิธีการส่งอีเมลสมัครงานอย่างไรให้ “ไม่ได้งาน” กันบ้าง
ในครั้งนี้ทีมงานได้ไปลงพื้นที่พูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีประสบการณ์ทำงานมากว่า 100 ปี รวมไปถึงผ่านการอ่านอีเมลสมัครงานมาแล้วนานกว่า 200 ปี เดี๋ยวเราจะพาทุกท่านไปดูกันว่าการส่งอีเมลสมัครงานแบบไหนที่ไม่ดี
1. ส่งอีเมลผิดบริษัท/ผิดคน
การส่งอีเมลสมัครงานผิดบริษัท โดยเขียนเนื้อหาอีเมลถึงบริษัทหนึ่ง แต่ไปใส่ชื่ออีเมลของอีกบริษัท แสดงถึงความสะเพร่าขั้นรุนแรงจนทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลแทบจะไม่รับพิจารณาคุณเข้ามาเลย
ข้อนี้จะยิ่งได้ผลมาก ถ้าหากคุณส่งอีเมลไปหาบริษัทคู่แข่ง นั่นจะทำให้เขาเข้าใจว่าคุณตั้งใจจะส่งใบสมัครไปหาทั้งสองบริษัท บริษัทไหนให้ข้อเสนอดีก็เอาอันนั้น รับรองว่านอกจากเขาจะไม่รับเราแล้ว เราจะถูกเข้าไปใน Black List อีกด้วย
2. Attach File ให้ผู้รับไม่อยากโหลด
การแนบไฟล์ก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ โดยปกติแล้วเราควรตั้งชื่อไฟล์ให้ชัดเจน เปิดผ่านโทรศัพท์ได้สะดวก รวมไปถึงไม่ควร Compress หรือบีบอัดไฟล์ให้เป็น .zip หรือ .rar และขนาดไฟล์ต้องกระทัดรัด ถ้าจำเป็นต้องแนบไฟล์ใหญ่จริงๆ ให้ใช้บริการที่เป็นมาตรฐานอย่าง wetransfer, Google Drive เป็นต้น
ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำเพื่อไม่ให้เค้ารับเข้าทำงานคือต้องตั้งชื่อไฟล์ประหลาดๆ หรือชื่อไฟล์ที่ไม่สื่อถึงเนื้อหาของไฟล์ อย่าลืม Compress ไฟล์ด้วยนามสกุลที่เปิดยากๆ หน่อย และลองทำให้ไฟล์ใหญ่มากๆ ถ้าจะให้ดีก็แนบหนังเผื่อไปสักเรื่อง
3. ใช้ชื่ออีเมลประหลาดๆ ไปเลย
การสร้างอีเมลด้วยชื่อและนามสกุลของเจ้าของดูจะเป็นเรื่องธรรมดาและออกจะดูเป็นทางการเกินไป การตั้งชื่ออีเมลสำหรับสมัครงานไม่ได้งานนั้นควรจะเป็นอีเมลเกรียนๆ ดูแล้วเหมือนเด็กๆ เอาไว้สมัครเกมออนไลน์ เช่น Arm_GU_INW_ZA@hotmail.com หรือ pikachu_2534@virus.com อะไรอย่างนี้เป็นต้น ชื่อเหล่านี้จะแสดงถึงความไม่ใส่ใจและไม่เป็นมืออาชีพ คุณจะถูกปรับตกอย่างแน่นอน
4. อย่าลืมสะกดคำให้ผิดบ้าง
การเขียนเนื้อหาสมัครงานโดยทั่วไปต้องมีความรอบคอบละเอียด ต้องตรวจคำผิดหลายครั้งก่อนกดส่ง แต่การสมัครงานของเราควรยกระดับไปอีกขั้น คือ การใส่คำสะกดผิดลงไปด้วย ยิ่ง คะ/ค่ะ ห้ามพิมพ์ถูกเด็ดขาด และถ้าจะให้ดีก็ใช้ภาษาสก๊อยไปเลย รับรองว่านอกจากจะไม่ได้งานแล้ว ฝ่ายบุคคลจะอารมณ์เสียไปทั้งวัน
5. เนื้อหาอีเมลใช้คำเหมือนคุยกับเพื่อน
การสมัครงานโดยทั่วไปไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร หรือเขียนถึงใคร เนื้อหาในอีเมลจะต้องสุภาพและเป็นทางการ ประหนึ่งว่าเรากำลังคุยกับบุคคลที่อายุมากกว่าเราสิบปี การใช้เนื้อหาในอีเมลด้วยความเป็นกันเองมากเกินไปเหมือนคุยกับเพื่อน เพราะคิดว่าตัวเองน่ารักคิกขุ จึงต้องใช้ความเป็นวัยรุ่นแสดงความแตกต่าง อาจจะถูกปรับตกได้อย่างง่าย
6. ส่งอีเมลทีเดียวให้ครบทุกบริษัท
การสมัครงานแบบตรงไปตรงมาคือการค่อยๆ ส่งอีเมลถึงแต่ละบริษัทแบบ one by one ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้ลดความผิดพลาดในการส่งไปได้แทบ 100% แต่อะไรช้าๆ แบบนั้นเราไม่ชอบ ส่งเมลรวดไปเลยให้ครบทุกบริษัทที่เราต้องการสมัครงาน ถึงแม้บางบริษัทจะเป็นคู่แข่งกันก็ตาม
ซึ่งถ้าเราทำไม่ดีบางทีก็จะทำให้เขียนชื่อบริษัทผิดบ้าง ลืมลบนู่นนี่บ้าง ความโป๊ะทั้งหลายเหล่านี้ฝ่ายบุคคลบอกว่าเจอบ่อยมาก และค่อนข้างทำให้อารมณ์บูดได้อย่างดี
7. ใช้ภาพถ่ายชิคๆ คูลๆ เห็นหน้าไม่ต้องชัด
การส่งภาพตรงชัดเจนเพื่อใช้ในการสมัครงานเป็นเรื่องปกติที่ทำให้ผู้ที่อ่านแฮปปี้ แต่ถ้าจะเอาให้สนุกต้องส่งภาพที่เห็นไม่ครบทั้งหน้า อาจจะหันซ้าย หันขวา ครอปให้ตกเฟรม หรือถ่ายรูปถอดเสื้อโชว์กล้ามก็แล้วแต่ชอบ
ถ้าอยากให้เค้าเห็นว่ามีเพื่อนเยอะก็อาจจะถ่าย Selfie กับเพื่อนสัก 20 คนก็ได้ ทำให้ฝ่ายบุคคลต้องมานั่งเดาว่าไอ้คนที่ส่งมามันอยู่ตรงไหน
8. Portfolio หรือ Resume โง่ๆ ก็พอแล้ว
การทำ Portfolio หรือ Resume ให้สวยงาม รายละเอียดครบถ้วน จัดเลย์เอาท์ดี อ่านง่าย เป็นเรื่องสำหรับคนที่ตั้งใจสมัครงานแล้วถูกเรียกสัมภาษณ์ ดังนั้นเราไม่ต้องแนบอะไรที่มันดูดีไปหรอก เอาแค่ภาพถ่ายง่ายๆ เขียนอธิบายสองบรรทัดก็พอแล้ว
9. ตั้ง Subject ประหลาดๆ แค่เห็นก็ไม่อยากคลิก
Subject หรือหัวเรื่องที่ดีคือองค์ประกอบของประโยคที่อ่านแล้วเข้าใจทันทีว่าต้องการสมัครงานที่บริษัทอะไร ในตำแหน่งไหน ซึ่งการทำอะไรแปลกๆ เพื่อเป็นการท้าทายฝ่ายบุคคลบ้างก็สนุกดี อย่างเช่นใส่ Subject ประมาณว่า “คลิกเข้าไปสิจ๊ะ จะได้รู้”, “สวัสดี รับเราสิ” อะไรประมาณนี้ การครีเอทีฟข้อความประหลาดใน Subject ทำให้เราสอบตกง่ายขึ้นแน่นอน