ช่วงนี้เราคงเห็นข่าวเกี่ยวกับการหลอกลวง โดนล้วงข้อมูล ถูกโกงกินกันอยู่บ่อยๆ จากมิจฉาชีพ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็มักเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทันระวังต่อเทคโนโลยี หรือวิธีการใช้เครื่องมือสื่อสารให้ถูกต้อง
แม้กระทั่งการใช้ไวไฟฟรีที่เป็นเรื่องรอบตัว หลายคนใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าหากประมาทไม่ระมัดระวังขณะใช้ ก็อาจส่งผลเสียที่ไม่คาดคิดได้ เช่น เงินในบัญชีถูกขโมย การแอบปล่อยไวรัส หรือนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่จนสร้างความเสียหายให้แก่เราไปจนถึงคนอื่นๆ ได้
ชาวแมงโก้เลยขอแนะเกร็ดเคล็บลับ วิธีใช้ไวไฟฟรีให้ปลอดภัย! หลบหลีกมิจฉาชีพได้เท่าทัน เพราะจะใช้ของฟรีทั้งที..ก็ต้องเอาให้ดีที่สุดไปเลยเนอะ
อะๆๆ ก่อนจะไปอ่าน เปิดใช้ไวไฟฟรีกันอยู่หรือเปล่า ถ้าใครเปิดใช้ก็โปรดระวัง 9 สิ่งนี้ด้วย
⚠️ การเชื่อมต่อไวไฟอัตโนมัติ
เริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ ที่ควรระวัง อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวไว้ว่า “การเชื่อมต่อ และใช้เครือข่ายไวไฟแบบอัตโนมัติ” ถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะเราจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีการเชื่อมต่อหรือใช้ไวไฟฟรีอยู่ เปรียบเสมือนเป็นการเปิดโอกาสง่ายๆ ให้แฮกเกอร์ลวงหลอกได้ทุกที่ที่เราไป
⚠️ การทำธุรกรรมออนไลน์
สำหรับใครที่ชอบใช้ไวไฟฟรีในการทำธุรกรรม ถือเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสู๊งงงง เนื่องจากธนาคารใช้ระบบการกดรหัสเพื่อรักษาความปลอกภัยของข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันไวไฟฟรีบางเครือข่ายก็ไม่ปลอดภัย จึงมีโอกาสมากขึ้นที่แฮกเกอร์จะดักฟังข้อมูลจากมือถือของเราได้ ตั้งแต่รายละเอียดการทำธุรกรรม การเข้าสู่ระบบ ยอดเงินในบัญชี ไปจนถึงการโอนเงินให้ใคร หรือรายละเอียดยิบย่อยอื่นๆ
⚠️ การซื้อสินค้าออนไลน์
อย่างที่เรารู้กันคนไทยรักการช็อปปิ้งออนไลน์มาก แต่จะดีกว่าไหมถ้าอดใจรออีกนิดเพื่อใช้ไวไฟที่บ้านในการเลือกซื้อสินค้าแทน จากที่ Lance Thompson นักยุทธศาสตร์ด้านการเติบโตเคยบอกไว้ว่า “เมื่อคุณชำระเงินสำหรับการซื้อของคุณ ข้อมูลลับ ข้อมูลติดต่อ ไปจนถึงข้อมูลบัตรเครดิตจะถูกส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตเช่นกัน” ซึ่งแฮกเกอร์ก็สามารถสร้างกับดักซอฟต์แวร์ ดึงข้อมูลส่วนตัวผ่านไวไฟเครือข่ายนี้ได้ แล้วใช้ข้อมูลนั้นเพื่อโจรกรรม หรือทำการซื้อผ่านบัตรเครดิตของเรา
⚠️ การใช้ทำงานสำคัญ
แน่นอนว่า Work from Anywhere คือ สิ่งที่หลายคนชื่นชอบโปรดปราน ซึ่งเรามักจะใช้ไวไฟฟรีจากที่สาธารณะหรือที่นั่งทำงานต่างๆ สำหรับการทำงานระดับง่ายที่ความสำคัญไม่มากก็สามารถใช้ไวไฟฟรีทำได้ แต่ถ้าหากเป็นงานสำคัญต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ในด้านเทคนิคขอไม่แนะนำให้ใช้ เช่น การส่งอีเมล การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ เพราะแฮกเกอร์สามารถสร้างความเสียหายให้กับเรา และบริษัทได้อย่างมหาศาล
⚠️ ไม่เช็กชื่อไวไฟก่อนเชื่อมต่อ
ถึงแม้ว่าเราจะปิดการเชื่อมต่อไวไฟแบบอัตโนมัติ แต่บางครั้งก็ยังคงต้องเข้าถึงไวไฟฟรีเป็นครั้งคราว เพราะฉะนั้นควรตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะเชื่อมต่อ เนื่องจากแฮ็กเกอร์สามารถตั้งค่าฮอตสปอตไวไฟเพื่อหลอกล่อให้เราใช้งานได้ ยกตัวอย่างแฮกเกอร์อาจตั้งค่าไวไฟชื่อ Starbucks-guest-wifi-1 พอเราเห็นก็จะรู้สึกว่าปลอดภัย เชื่อถือได้ เลยเลือกที่จะกดเชื่อมต่อทันที แต่ที่ไหนได้อาจจะใช้เครือข่ายของโจรโดยไม่รู้ตัว
⚠️ เข้าเว็บไซต์โดยไม่เช็กลิงก์
การเข้าใช้งานเว็บไซต์เป็นสิ่งที่ต้องระวังเหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่สังเกตเลยเผลอก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกดเข้าเว็บที่ไม่ได้ขึ้นต้นว่า ‘https’ เพราะเราอาจจะหลงเข้าไปในเว็บอันตรายที่สร้างความเสียหายหรือไวรัสต่อมือถือได้
⚠️ อย่าดู อย่าเข้า อย่าอ่านอะไรที่จะทำให้รู้สึกอาย
อย่างที่เขาว่ากันเราเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราดู หรือเราอ่าน เพราะเวลาท่องเว็บไซต์ผ่านไวไฟฟรีก็อยากให้รับรู้ไว้ว่ามันคือ การเปิดเรื่องราวความชอบของเราสู่พื้นที่สาธารณะเช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ถูกดักฟังเท่านั้น แต่ผู้ให้บริการไวไฟอาจเก็บบันทึกของเว็บไซต์ที่เยี่ยมชมได้
⚠️ ห้ามใช้ VPN เด็ดขาด
อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำคือ การใช้ VPN ขณะกำลังเชื่อมต่อไวไฟฟรี เพราะ VPN จะสามารถเข้าถึงรหัสข้อมูลทั้งหมดของเราได้ ซึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมใช้ข้อมูลตรงนี้มาหลอกล่อให้เรากรอกข้อมูลเรื่องอื่นเพิ่มเติม หรือส่งเงินให้พวกเขาได้
⚠️ การติดตั้ง หรืออัปเดตซอต์แวร์
สุดท้ายการใช้ไวไฟสาธารณะติดตั้งซอฟต์แวร์อาจทำให้โทรศัพท์เราติดมัลแวร์ได้ (โปรแกรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำร้ายเรา) โดยจะมาในรูปแบบการแจ้งเตือนให้ติดตั้ง หรืออย่าลืมกดอัปเดตซอฟต์แวร์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของเรา
ที่มา : computing.which, rd, Kaspersky