ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ มักเกิดขึ้นอยู่เสมอแบบที่ไม่ตั้งตัว แต่หลายเหตุการณ์หากเรายั้งคิด มีสติสักนิดก็สามารถพาตัวเองออกมาจากเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ใช่ว่าคนเราจะมีโอกาสตกอยู่ในสถาณการณ์ฉุกเฉินได้บ่อยๆ ยกเว้นคุณจะเป็นสายลับ Kingsman หรือตัวซวยในหนังภัยพิบัติ เลยไม่มีวิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินมากนัก
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะมาไลน์มาหาเมื่อไหร่ เรามีแนวทางป้องกัน และปฏิบัติยามเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่คุณจำเป็นต้องรอดออกมาจากเหตุการณ์นั้นให้ได้มาแนะนำ เผื่อวันหนึ่งเราต้องใช้ความรู้นี้จริงๆ
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ก่อการร้าย
การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้จะเป็นที่ที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุดก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งโอกาสที่เราจะโดนลูกหลง หรืออาจจะโดนมุ่งหมายเอาชีวิตนั้นมีพอๆ กัน ถ้าหากคุณตกอยู่ในสถานการณ์นี้จริงๆ สิ่งที่ควรจะทำนอกเหนือจากเสิร์จกูเกิ้ลมาเจอบทความนี้ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อที่จะรอดตายอย่างสมบูรณ์
- วิ่ง : ทันทีที่คุณได้ยินเสียงที่คล้ายกับปืน หรือระเบิด สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือสวมวิญญาณยูเซนต์ โบล ทิ้งทุกอย่างที่เป็นตัวถ่วงความเร็วแล้ววิ่งออกมาจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ตอนวิ่งควรจะมีตั้งสติเพื่อฟังว่าต้นเสียงนั้นมาจากทางไหน แล้วให้เราวิ่งไปตรงข้ามกับต้นเสียงนั้นเพื่อความปลอดภัยจะได้ไม่วิ่งไปเจอกับมือปืน และควรจะมองไปรอบๆ ว่ามีความผิดปกติอะไรไหมระหว่างทางหนี เพื่อป้องกันโดนคนร้ายตลบหลังมาดักยิงคนที่วิ่งหนี
- ซ่อนตัว : กรณีที่วิ่งหนีไม่ทัน และมั่นใจว่าอาคารหรือพื้นที่ที่เราอยู่ไม่ได้เกิดเพลิงไหม้ใกล้ถล่ม หรือไม่น่าจะโดนวางระเบิด ให้เราเปลี่ยนโหมดจากนักวิ่ง 4 X 100 เมตร กลายมาเป็นนินจา พยายามหาพื้นที่ที่สามารถหลบซ่อนตัวได้ ถ้าอยู่ในห้องก็ล็อคประตู อยู่ให้ห่างจากประตูและหน้าต่างกันโดนซุ่มยิงเข้ามา หาทุกอย่างที่มีมาขวางประตูไว้ เงียบ ปิดเสียงมือถือแล้วอยู่นิ่งๆ จนกว่าสถานการณ์จะสงบ
- อย่าสู้ : ต่อให้เราเป็นปรมาจารย์ด้านการต่อสู้ คนที่คู่ควรกับคุณมีแต่บัวขาว บัญชาเมฆ เท่านั้นที่สูสี ก็อย่าไปบวกกับผู้ก่อการร้าย เพราะทางนั้นมีปืน มีระเบิด มีอุปกรณ์ที่พร้อมทำอันตรายคุณได้ตลอดเวลา ทางที่ดีที่สุดคือออกมาจากจุดเกิดเหตุ ยกเว้นจวนตัวจริงๆ จะสวมวิญญาณจา พนม ก็ได้
- โทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน : หาจังหวะเหมาะๆ โทรแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ บอกทุกรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ รวมถึงโทรแจ้งคนที่บ้านว่าสถานะปัจจุบันของเราเป็นอย่างไรปลอดภัยดีไหม หรือกำลังต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ไฟไหม้
ไฟไหม้คืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้เสมอหากมีใครสักคนประมาท หรืออาจจะเกิดจากเหตุยอดนิยมนั่นคือ ‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ เมืองไทยเองก็มีโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับเพลิงไหม้อาคาร บ้านเรือน หรือสถานที่อโคจรให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่เราจะสามารถรับมือเหตุการณ์นั้นได้อย่างไรบ้างถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์ไฟม้ายยย
- มองหาทางหนีไฟเสมอ : สิ่งที่ควรทำเป็นนิสัยอย่างแรกสุดเลยคือหากไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเช่นโรงแรม, โรงหนัง, สถานบันเทิง และอื่นๆ ให้มองหาทางหนีไฟไว้เป็นอันดับแรกเลยว่าอยู่ตรงจุดไหน มีประตูเข้า – ออก กี่ทาง แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็ตาม แต่กรณีที่ถ้ามีเหตุสิ่งที่คุณสังเกตจะเอามาใช้ตอนนี้แหละ
- มีสติ : กรณีที่เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน คอนโด โรงแรม สถานบันเทิง โรงหนัง ฯลฯ ต้องมีสติเพื่อที่จะเตรียมตัวในการหลบหนีจากไฟที่กำลังไหม้ได้ เพราะถ้าขาดสติบางคนทำอะไรไม่ถูกลนลานแผนที่วางไว้พังหมดดังนั้นใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ ทำตามขั้นตอนการหลบหนีที่เคยเห็นหรือได้ยินมาอย่างรอบคอบ
- ใช้ทางหนีไฟเท่านั้น : กรณีที่เราอยู่ในอาคารสูง ควรใช้ทางหนีไฟเพื่อที่จะหนีไฟ อย่าลงบันไดเลื่อน หรือใช้ลิฟต์เป็นอันขาดถ้าไฟไหม้ขึ้นมาลิฟต์จะกลายสภาพเป็นเตาอบดีๆ นี่เอง
- ก้มต่ำ หาผ้าชุบน้ำปิดจมูก : ขั้นตอนการหลบหนีจากเหตุเพลิงไหม้ที่ควรทำคือก้มตัวให้ต่ำที่สุดแล้วคลานออกเนื่องจากอากาศบริสุทธิ์จะอยู่ที่พื้น ส่วนควันไฟจะลอยสูง และหาผ้าชุบน้ำอุดจมูกเอาไว้ในระหว่างหลบหนีเพือป้องกันสำลักควัน ส่วนใหญ่ผู้ประสบภัยที่หนีออกจากกองเพลิงไม่ได้เนื่องจากสลบเพราะลำสักควัน
- อย่าหลบซ่อน : ไฟไหม้ไม่ใช่การก่อการร้าย ดังนั้นหนีได้รีบหนีออกมาให้เร็วที่สุดถ้าสามารถทำได้ อย่าหลบซ่อนอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งเพราะจะทำให้โอกาสที่จะสามารถหลบหนีออกมาได้ลดลงเรื่อยๆ อย่าปิดโอกาสการมีชีวิตรอดของตัวเองด้วยการหลบซ่อน
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม
น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ป้องกันได้ค่อนข้างจะยาก และวิธีเดียวที่ทำได้คือหลบหนีออกมาก่อนที่น้ำจะท่วมจนหมดโอกาสหนี น้ำท่วมเล็กน้อยก็พอทน แต่ถ้าเจอน้ำท่วมเยอะๆ นี่อาจจะทนได้ยาก บ้านเราเองก็มีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมบ่อยมากๆ ดังนั้นมาหาวิธีเตรียมการหนีเมื่อมีโอกาสที่น้ำจะมาเยือนถึงหน้าบ้านกัน
- ติดตามข่าวสาร : ข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมอพยพเพื่อหนีน้ำท่วม ซึ่งตอนนี้เราสามารถติดตามข้อมูลได้หลายช่องทางโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์อาจไม่ต้องรอถึงขั้นทางการประกาศอะไร หรือถ้าเห็นน้ำมาจ่อหน้าบ้านก็หนีเถอะ
- วางแผนเพื่อหลบหนี : ศึกษาเส้นทางที่ต้องการจะหลบหนีเพื่อดูว่ามีมวลน้ำดักรอเราอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็หนีไปทางอื่นซึ่งต้องรู้ว่าจะอพยพไปที่ไหน นอกจากการศึกษาเส้นทางแล้วก็ต้องดูว่าผู้ร่วมอพยพกับเรานั้นมีสิ่งใดที่ต้องระวังบ้างเช่นเด็ก คนชรา สัตว์เลี้ยง ผู้บาดเจ็บ หรือคนป่วยเพื่อที่จะได้เตรียมการถูก
- เตรียมของที่จำเป็น : อะไรก็ตามที่จำเป็นนำติดตัวออกมาให้หมด โดยเฉพาะเสบียงอาหาร ยารักษาโรค หรือเครื่องนุ่งห่ม ส่วนสัมภาระอื่นๆ ที่คิดว่าเอามาเป็นภาระแน่ๆ ทิ้งไว้ที่บ้านนั่นแหละเอาตัวรอดออกมาก่อนถ้าเอาของออกมาเยอะจะยิ่งลำบาก
- ปิดทุกอย่างในบ้าน : ก่อนจะอพยพออกมาตรวจสอบก่อนว่าบ้านของคุณนั้นปิดไฟ ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดวาวน้ำ ปิดแก๊ส ยกของขึ้นที่สูงแล้วหรือยัง ถ้าทำหมดทุกอย่างแล้วก็รีบออกมาโดยด่วน
- อย่าเดินตามเส้นทางน้ำไหล : การเดินหนีระหว่างน้ำท่วมอย่าเดินตามเส้นทางน้ำไหล เพื่อป้องกันการโดนกระแสน้ำพัดพาไป ต่อให้เห็นน้ำตื้นก็มีโอกาสทำให้คุณเสียหลักได้ และระหว่างที่เดินลุยน้ำควรมีอุปกรณ์ในการค้ำยันเพื่อช่วยในการทรงตัว และในบางครั้งไม้ค้ำยันต่างๆ ก็เอาไว้ช่วยดูว่าตรงที่เราเดินลุยน้ำนั้นมีหลุมบ่อไหม ไปจนถึงไล่จระเข้ก็ทำได้
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์สึนามิถล่ม
คนไทยน่าจะรู้จักกับความน่ากลัวของสึนามิครั้งแรกก็เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ในวันนั้นไทยคือหนึ่งในพื้นที่ประสบเหตุสึนามิ และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลในพื้นที่ประสบเหตุเช่นอำเภอท้ายเหมือง พังงา, หาดป่าตอง ภูเก็ต หรือเกาะพีพี เนื่องจากเราขาดความรู้ความเข้าใจในการหลบหนีจากภัยพิบัติประเภทนี้ วันนี้ผ่านมา 13 ปีแล้วไม่มีใครรู้ว่าสึนามิจะเกิดขึ้นอีกไหม แต่ควรรู้ไ้ว้ว่าถ้าเจอสึนามิ ควรทำอย่างไร
- ตื่นตัวตลอดเวลา : โอกาสที่สึนามิจะเกิดนั้นคือแผ่นดินไหวใต้ทะเล ซึ่งหากเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดสึนามิ ไม่ว่าจะอยู่ชั่วคราว หรืออยู่ประจำควรตื่นตัวตลอดเวลาโดยเฉพาะหากมีข่าวแผ่นดินไหวใต้ทะเล ให้เฝ้าระวังการประกาศเตือนสึนามิอย่างเร่งด่วน หลังจากเหตุการณ์เมื่อปี 2547 ก็มีการแจ้งเตือนภัยให้อพยพขึ้นที่สึนามิในภาคใต้เช่นกัน แต่โชคดีที่ไม่เกิดเหตุร้ายขึ้นซ้ำ
- เห็นน้ำทะเลลดลงผิดปกติให้หนี : ก่อนสึนามิ จะมาสัญญาณเตือนที่บอกให้เราระวังตัวก็คือน้ำทะเลที่ลดลงอย่างผิดปกติ เพราะนี่สัญญาณอันตรายว่าสึนามิกำลังจะขึ้นฝั่งในไม่ช้า เหตุการณ์เมื่อปี 2547 จะเห็นชัดเจนว่าน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว และมีคนที่ไม่รู้ว่านี่คือสัญญาณให้หนี วิ่งลงไปดูด้วยความตื่นเต้น กว่าจะรู้ตัวน้ำทะเลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและหนีไม่ทัน
- ขึ้นที่สูงเท่านั้น : โดยปกพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดสึนามิจะมีป้ายอพยพขึ้นที่สูงในกรณีฉุกเฉินอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อจำเป็นที่ต้องอพยพขึ้นที่สูงให้มองหาเส้นทางหลบหนีอาจจะหนีไปตามป้ายอพยพ หรือไปหลบอยู่บนอาคารสูงที่มั่นใจว่าสามารถป้องกันแรงดันน้ำได้ อย่าหยุดหลบอยู่ในพื้นที่โล่ง อย่าขับรถหนียกเว้นว่าคุณจะเป็นวิน ดีเซล ที่มีสกิลขับรถบนน้ำได้ ทางรอดมีวิธีเดียวคือวิ่งขึ้นที่สูงเท่านั้น
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวสำหรับเมืองไทยอาจไม่นับเป็นภัยพิบัติ แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะไม่นานมาหนีเมืองไทยก็เพิ่งประสบเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงราย เมื่อพฤษภาคม 2557 ส่งผลให้สิ่งก่อสร้างหลายแห่งได้รับความเสียหายถนนมีรอยแยกอย่างน่ากลัว ดังนั้นโอกาสที่เราจะถูกหวยเจอแผ่นดินไหวก็ยังมี เนื่องจากในไทยมีรอยเลื่อนที่ยังพลังอยู่ถึง 14 จุด หรือถ้าไปยังประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ เรายิ่งควรจะรู้เอาไว้เพื่อจะได้เอาตัวรอดยามคับขัน
- มีสติ : เมื่อรู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างแรกสุดต้องมีสติอย่าเพิ่งลนลาน และมองหาทางออกให้เร็วที่สุด หรือถ้าไม่มีทางออกใกล้ๆ ให้มองหาที่ที่สามารถหลบซ่อนได้จากการโดนของแข็งหล่นใส่
- เอามือประสานไว้ท้ายทอย : สิ่งที่แรกที่ควรทำก่อนหลบหนีคือประสานมือไว้ที่ท้ายทอยระหว่างวิ่งหนีเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากของแข็งที่ร่วงหล่นใส่ระหว่างอพยพ อย่างน้อยก็ป้องกันการสลบได้
- หาที่หลบ : วิ่งไปหาที่ที่เราสามารถหลบได้เช่นโต๊ะ หรือมุมตู้ แล้ววิ่งไปหลบใต้นั้นก่อนเพื่อประมวลสถานการณ์เพราะอาจจะมีของแข็งหล่นมาใส่เราได้ถ้ามัวแต่ยืนวางแผนอึ้งๆ อยู่ที่โล่งไร้ซึ่งสิ่งปกป้องเจอฝ้าหล่นใส่หัวจะร่วงได้ ระหว่างที่หลบอยูใต้โต๊ะก็ต้องคุกเขาก้มตัวต่ำแล้วเอามือประสานไว้ที่ท้ายทอยด้วย อย่าอยู่ใกล้กระจกหรือสิ่งที่แตกได้ จากนั้นรอจนการสั่นไหวสงบค่อยออกไปยังกลางแจ้ง
- อยู่ที่โล่ง : กรณีที่คุณอยู่ด้านนอกอาคารแล้วแผ่นดินไหว ให้วิ่งหนีห่างออกจากตัวอาคารเพื่อป้องกันสิ่งต่างๆ จากตึกสูงตกใส่ และอย่าอยู่ใกล้เสาไฟฟ้า พยายามมองหาที่โล่งที่ไม่มีมีอะไรทำอันตรายเราได้
ข้อมูลจาก – wikihow, telegraph, รู้สู้ Flood, popsci, theorganicprepper