เซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกซื้อที่บรรดาเอสเอ็มอีหลายราย หวังที่จะพาสินค้าของตัวเองไปวางขายบนชั้นวางของเซเว่นกับเขาบ้าง ด้วยจำนวนมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงหวังว่าจะช่วยขยายตลาดให้พวกเขาได้แน่แต่หลายคนก็อาจถอดใจ เพราะอาจจะแอบได้ยินแว่วๆ มาว่า จะเอาของไปขายในเซเว่นหน่ะหรอ? เป็นไปได้ยากแน่ๆ ทีมงาน Mango Zero มีโอกาสเข้าไปคุยกับเอสเอ็มอีไทยที่ได้นำสินค้าตัวเองไปวางขายในเซเว่น และการคอนเฟิร์มจากทางเซเว่นเอง ว่าจะขายของเข้าเซเว่นยากจริงไหม? ในบทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ จะฝ่าด่านเข้า 7-11 ต้องเตรียมตัวกันยังไงบ้าง? บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า สินค้าที่จะเข้าเซเว่นยากจริง เพราะต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน ที่เน้นทั้งคุณภาพและความอร่อย ไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดมาก่อน แต่ต้องมั่นใจว่าสินค้าดีมีคุณภาพ รสชาติต้องอร่อย ถูกจริตคนไทย ความปลอดภัยของวัตถุดิบและการผลิต ราคาต้องเหมาะสมกับเซเว่น ขั้นตอนการนำสินค้าขายในเซเว่น บัญญัติ เปิดเผยว่า ขั้นตอนการนำสินค้าเข้ามาขายในเซเว่นมี 2 แบบ คือ มีทีมงานของเซเว่นออกไปตระเวนหาสินค้าทั่วประเทศ เน้นตรงตามความต้องการของลูกค้า เจ้าของธุรกิจเป็นผู้นำสินค้าเข้ามาเสนอที่เซเว่นเอง แต่ทั้ง 2 แบบต้องผ่านกระบวนการตามนี้ด้วยนะ ส่งสินค้าให้คณะกรรมการของเซเว่นชิมก่อน นำสินค้าไปทดสอบความสะอาด ดูว่ามีสารพิษหรือสารตกค้างไหม ดูวัตถุดิบส่วนผสม ข้อมูลทางโภชนาการ ตรวจสอบโรงงานที่ผลิตทั้งสุขลักษณะและความน่าเชื่อถือ ตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข,สำนักงานอาหารและยา (อย.),มาตรฐาน HACCP และมาตรฐานของเซเว่นอีเลฟเว่น ดูบรรจุภัฑณ์หรือซอง ห่อที่ใส่ด้วย ทั้งขนาดที่เหมาะสมกับเซเว่นและความสวยงาม หยิบง่ายพร้อมทาน ราคาต้องเหมาะสมกับเซเว่น (ไม่เน้นแพงนะ) ทั้งหมดนี้ถ้าข้อไหนไม่ผ่านก็ต้องไปปรับปรุง หรือมีทีมงานของเซเว่นมาคอยให้คำแนะนำด้วยค่ะ ส่วนระยะเวลากว่าจะเข้าไปขายได้นั้นใช้เวลาประมาณ 2 เดือน – 1 ปีค่ะ คางกุ้ง by Okusno กับการเข้าสู่ 7-11 คางกุ้ง by Okusnoเป็น 1 ในธุรกิจเอสเอ็มอีที่มาแรงและเป็นสินค้าที่แปลกใหม่มาก เพราะเริ่มต้นธุรกิจมาได้เพียง 2 ปีก็สามารถสร้างยอดขายทะลุหลักล้านต่อเดือน ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายในเซเว่นด้วยนะ พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ เจ้าของธุรกิจคางกุ้งทอดกรอบ โอคุสโน่ เล่าว่า ขนมคางกุ้งเกิดจากความช่างสงสัยของเธอและน้องชายว่า บริเวณส่วนคางของกุ้งน่าจะนำไปกินได้ มากกว่าดึงทิ้งแล้วกินแค่เนื้อ เขาทั้งสองจึงนำไปทดสอง ปิ้ง นึ่ง ทอด จนปรากฎกว่านำไปทอดนี่แหละเวิร์คสุด จนพัฒนามาเป็นขนมคางกุ้งออกขายภายใน 2 เดือนแรก ซึ่งเธอบอกว่า สิ่งที่เธอทำไม่ได้เริ่มจากเป้าหมาย แต่เริ่มจากมองเห็นโอกาส แล้วมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มได้ เน้นขายเฉพาะออนไลน์ก่อน และก็พยายามนำไปขายตามร้านต่างๆ แต่ยอดขายก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เพราะความยากคือ ขนมมีความแปลกใหม่ คนจึงไม่ค่อยรู้จัก เธอจึงคิดว่า ควรทำขนมคางกุ้งให้เป็นที่รู้จักด้วยการเข้าถึงปากผู้บริโภคนั่นก็คือการชิม เธอทั้งไปแจกตามที่ต่างๆ รวมถึงนำไปออกบูท จนคนสนใจรวมไปถึงเซเว่นด้วย เธอบอกว่า ณ ตอนนั้นที่ทีมงานเซเว่นสนใจอยากให้นำไปขายที่ร้านนับว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะทางเซเว่นจะตรวจสอบอย่างระเอียด ทั้งคุณภาพสินค้า แพ็คเกจสินค้า รวมไปถึงเข้าไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตด้วย ซึ่งเธอใช้เวลาปรับปรุงมาตรฐานต่างๆ ในเวลา 2 เดือนถึงจะผ่านเข้าเซเว่นได้ แม่ละมาย วุ้นมะพร้าว วัตถุดิบดีคือหัวใจหลัก ขณะที่แม่ละมาย วุ้นมะพร้าว ของนายวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ ที่เริ่มต้นธุรกิจจากความล้มเหลวจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ของเขาตอนนั้นต้องปิดกิจการ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อพยายามหาธุรกิจอย่างทำเพื่อเลี้ยงชีพ จนมาผลิตวุ้นมะพร้าวพร้อมทาน และเห็นเซเว่นเป็นช่องทางขยายตลาด เขานำสินค้าไปเสนอเซเว่น จากไม่มีความรู้ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จนได้คำแนะนำจากเซเว่น และปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของเซเว่น จนนำมาขายและขยายตลาดได้สำเร็จ ช่วงแรกๆ เขาทำขายวันละ 200 – 300 ถ้วย แต่ปัจจุบันทำขายวันละ 30,000 – 40,000 ถ้วย ซึ่งเขาเน้นวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ พิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุมาก ชนิดที่ว่า ให้พนักงานนั่งคัดเม็ดแมงลักทีละเม็ดเพื่อให้ได้เม็ดที่สุดถึงลูกค้า และไม่ใส่วัตถุกันเสียด้วยค่ะ เพราะเขามองว่า ถ้าเราทำธุรกิจอะไร ให้เราทำอย่างมีความสุข การเลือกวัตถุดิบที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อส่งต่อความสุขถึงลูกค้าด้วย เซเว่นอีเลฟเว่นถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีไทยได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ^_^