Mango Zero

ตั้งสติ ! ก่อนเชื่อ-ก่อนแชร์ “6 วิธีเช็คข่าวให้รู้เท่าทันข่าวลวง

ไม่พูดถึงในนาทีนี้ไม่ได้ กับ ข่าวการช่วยเหลือเด็กและโค้ชทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า รวม 13 คนที่อยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งในขณะนี้ผ่านมาแล้ว 5 วันแล้ว ทีมค้นหาช่วยเหลือทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ที่สุด สื่อไทยและสื่อต่างประเทศให้ความสนใจ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ส่งแรงใจให้กำลังใจทีมช่วยเหลือ และ กลุ่มผู้สูญหายดังกล่าว

ซึ่งจากกระแสข่าวทำให้เกิดข่าวเท็จปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ในลักษณะเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ การเรี่ยไรเงิน การขอรับบริจาค หรือ เพื่อให้เกิดความสับสนแก่คนในหมู่มากเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ยิ่งต้องทำให้คนเสพข่าว ต้องติดตามข่าวสารกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น มีสติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเชื่อ ก่อนแชร์ และนี่คือ “6 วิธีเช็คข่าวให้รู้เท่าทันข่าวลวง”

อย่าพึ่งเชื่อในทันที

เมื่อมีข่าวถูกแชร์ หรือ เผยแพร่ในโลกออนไลน์ สิ่งแรกที่อยากจะให้ทำคือ ‘อย่าพึ่งเชื่อในทันที’ เพราะ นั้นอาจจะเป็นข่าวปลอมก็เป็นได้ การที่ข่าวสารถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นทาง LINE / Facebook / Twitter หรือช่องทางไหนๆ ใครก็สามารถเขียน หรือ สร้างข่าวขึ้นมาได้ โอกาสที่ข่าวปลอมจะถูกแชร์หรือส่งต่อมากกว่าข่าวจริงถึง 70% และส่งต่อได้ถึงคน 1,500 คน จากการวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ในเดือนมีนาคม 2018

‘มีสติ ก่อน เชื่อ ก่อนแชร์ อย่าพึ่งรีบ อย่าพึ่งตื่นตระหนก’ เพราะ การแชร์ต่อข้อความ หรือ คำพูดออกไปกับแหล่งข้อมูลที่ไม่เพียงพอทำให้คนหมู่มากเข้าใจผิดได้

เช็คแหล่งที่มา รวมถึงวันที่

เมื่อเรารับทราบข้อมูลข่าวแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล แหล่งที่มามาจากไหน ใครเป็นคนเขียน วันที่ สถานที่อย่างชัดเจน (ต้องชัดเจนจริงๆ ที่สามารถลงรายละเอียดได้) คุณอาจจะหาข้อมูลจาก เว็บสำนักข่าวจริง , หนังสือพิมพ์ , รวมถึง Search engine อย่าง google.com หรือ เว็บที่มีความเชื่อถือได้ ว่าข่าวที่คุณได้รับนั้นข่าวจริงหรือไม่ หากยังไม่พบถึงแหล่งที่มาที่แน่นอน ให้สันนิษฐานก่อนเลยว่า ‘เป็นข่าวปลอม’

รวมถึงเช็คถึงองค์ประกอบร่วมในข่าวนั้น เช่น ตัวสะกด คำผิด ภาพประกอบ เป็นพื้นที่โฆษณารึปล่าว เพราะ จะทำให้ข้อมูลข่าวนั้นความน่าเชื่อถือน้อยลง ต้องดูองค์ประกอบต่างๆ ประกอบกันด้วย

เพจหรือเว็บนั้นนำเสนอล้อเลียนหรือเสียดสีหรือไม่

เนื่องจากอยู่ในยุคที่ ‘ใครก็สามารถเป็นคนสื่อได้’ บางเว็บหรือบางเพจอาจลงข่าวเสียดสี ล้อเลียนตามสไตล์ของเพจ นำเสนอออกมาล้อเลียน ประชดประชัน ให้เกิดความสนุกสนาน ซึ่งบางคนอาจจะตามไม่ทันจุดมุ่งหมายของการนำเสนอในเชิงนี้ จึงต้องทำให้เราต้องใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวมากกว่าเดิม

เป็นกลาง อย่าอคติ

ข้อนี้เป็นพื้นฐานของการเสพข่าวสาร คือ การเป็นกลาง อย่าอคติ เพราะการอคติมีผลต่อความเชื่อของคุณ หากเราเริ่มอิน มีอารมณ์ร่วมต่อข่าวนั้น ไม่ว่าจะ โกรธ ดีใจ เสียใจ ผิดหวัง ขั้นตอนต่อไปคือ การหาข้อเท็จจริง อย่าไปอินตามกระแส หรือ ด่วนสรุปต่อเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เพราะนั้นอาจทำให้คุณตกลงในหลุมพลางของข่าวลวง

ถามผู้รู้จริง

ขั้นตอนนี้เป็นวิธีที่ได้ข้อเท็จจริงที่จริงที่สุด คือ การสอบถามไปยังเว็บไซต์นั้น หรือ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น สายตรงไปถามเลย เพื่อทำให้สิ่งที่เราสงสัยนั้นกระจ่างออกมา อย่างในต่างประเทศมีเว็บไซต์ตรวจสอบข่าวสาร คือ factcheck.org ส่วนในไทย คือ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เปิดตัวโครงการ “ชัวร์แล้วแชร์ได้” ทางเวบไซต์ sonp.or.th เป็นต้น

ข่าวปลอม ควรรีบแจ้งให้ผู้ใช้คนอื่นทราบ

สุดท้ายแล้วถ้าเรารู้ว่า ‘ข่าวที่เราเห็นอยู่นี่เป็นข่าวปลอม’ เราควรกระจายข้อเท็จจริงออกไปว่า ‘นี่เป็นข่าวปลอม อย่าไปเชื่อ’ ให้แก่ผู้คนหมู่มากในโลกออนไลน์ เพื่อไม่ให้เกิดการแชร์ต่อ และ สร้างความเข้าใจผิดแก่คนหมู่มาก

ข่าวลวง ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น และ ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่มันเป็นปัญหาระดับโลก ที่คนเราทุกคนต้องมีสติ และวิจารณญาณในการคิด ไตร่ตรอง และ มีสติ ทุกครั้งก่อนแชร์ออกไป

สำหรับกฏหมายเกี่ยวกับความผิดเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ