แค่อยากจะขอเก็บไว้ที่เดิม~~ เดี๋ยวก่อนน!! ถ้าเป็นสิ่งของยังพอเก็บได้ แต่ ‘ขยะติดเชื้อ’ เนี่ยเก็บไม่ได้เด็ดขาดเลยนะ! ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ติดเชื้อบางคนก็ต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อรอเตียง รอโรงพยาบาล รวมถึงผู้ที่ไม่ติดเชื้อก็ต้องกักตัวด้วยเช่นกัน
การใช้ชีวิตอยู่ในบ้านก็ทำให้เกิดขยะติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ใครหลายคนคงจะสงสัยกันว่าแล้วเราจะกำจัด ‘ขยะติดเชื้อ’ ยังไงดี?ต้องเอาขยะไปทิ้งที่ไหนล่ะเนี่ย? จะปลอดภัยกับตัวเองไหม? เพื่อให้หายสงสัยกัน เราตามไปดู “ฮาวทูทิ้ง ‘ขยะติดเชื้อ’ ทิ้งอย่างไร ให้ห่างไกลโควิด” กันเลยดีกว่า!!
‘ขยะติดเชื้อ’ คืออะไร?
ขยะติดเชื้อ คือ ขยะหรือมูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณเข้มข้น โดยถ้าเราได้มีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับขยะนั้น ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งขยะในที่นี้ ก็รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกระบวนการตรวจของแพทย์และการรักษาพยาบาล การทดลองและการตรวจชันสูตรศพหรือซากสัตว์ต่างๆ นั่นเอง
มาดูวิธีการแยก ‘ขยะติดเชื้อ’ กัน
รู้ไหมว่าขยะติดเชื้อก็มีหลากหลายรูปแบบ และแต่ละแบบก็มีวิธีการกำจัดที่แตกต่างกันออกไป โดยเราจะขอแบ่งขยะติดเชื้อออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน
1. ขยะปนเปื้อนจากสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่ต่างๆ วิธีแยกขยะก็คือ
- ใส่ขยะในถุงพลาสติกซ้อน 2 ชั้น
- สเปรย์ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- ทำสัญลักษณ์ว่าเป็นขยะติดเชื้อด้วยการติดป้ายบอกตัวใหญ่ๆ หรือทิ้งในถังขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) ก็ได้เช่นกัน
2. เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าห่มและอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วทิ้งนะ! ยังสามารถเอากลับมาใช้ใหม่ได้
- ซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกชนิดเข้มข้น หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น Dettol รุ่นมงกุฎสีฟ้า เป็นต้น ในอัตราส่วน 1:10 หรืออาจจะซักด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียสร่วมด้วยก็ได้นะ แล้วก็เอาไปตากแดดให้แห้ง แค่นี้ก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้วล่ะ
3. ขยะทั่วไปที่พบผู้ติดเชื้อ ในสถานที่ทำงาน บ้าน ร้านค้าต่างๆ วิธีกำจัดขยะในส่วนนี้ก็คล้ายกับขยะปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งเลย นั่นก็คือ
- นำสเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป มาพ่นใส่
- ใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด แล้วทำป้ายบอกไว้ที่ถุงว่าขยะติดเชื้อ หรือทำสัญลักษณ์สีแดงไว้ เพื่อเซฟคนที่มาเก็บ
- ทิ้งลงในถังขยะทั่วไปได้เลย
แหล่งทิ้ง ‘ขยะติดเชื้อ’ ในกทม.
หลังจากรู้วิธีการแยกขยะติดเชื้อกันให้ถูกแล้ว ก็ต้องรู้แหล่งที่จะทิ้งกันให้ถูกด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป และร่วมกันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 โดยพิกัดการทิ้งขยะติดเชื้อมีถึง 1,000 จุด ตามสถานที่สำคัญดังต่อไปนี้
- สำนักงานเขต 50 จุด
- โรงเรียนสังกัดกทม.
- ศูนย์บริการสาธารณสุข
- ศูนย์กีฬากทม.
- โรงพยาบาลสังกัดกทม.
- ศูนย์เยาวชนกทม.
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้าและดินแดง)
- สถานีดับเพลิง
- สวนสาธารณะ
- สถานที่สาธารณะที่เหมาะสม
การกำจัด ‘ขยะติดเชื้อ’
สำหรับการทิ้งขยะติดเชื้อที่ทิ้งลงถังขยะทั่วไปและถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) ทางกทม. ก็จะรวบรวมและส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดต่อไป ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องที่เชื้อโรคจะแพร่ระบาดไปในอากาศอีกได้เลย!
ที่มา