การสัมภาษณ์งาน ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการที่จะตัดสินว่าเราจะได้เข้าทำงานที่อยากทำไหม เพราะการสัมภาษณ์งานนั้นคือหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้สมัครมีสิทธิ์ที่จะได้แสดงความเป็นตัวเองออกมามากมายที่สุด น่าเสียดายที่ผู้สมัครหลายคนไม่ว่าจะนักศึกษาจบใหม่ หรือมนุษย์เงินเดือนเลเวลแรก แต่ Resume น่าสนใจ ประวัติการทำงานดี ทว่าตกม้าตายตรงสัมภาษณ์เยอะด้วยหลายเหตุผล
ในฐานะที่เราเคยเป็นนักศึกษาจบใหม่มาก่อน รวมไปถึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์พนักงานใหม่เพื่อรับเข้าทำงานหลายคน ก็พบว่าส่วนใหญ่มีจุดอ่อนที่คล้ายๆ กันในการสัมภาษณ์งานซึ่งพวกเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำพลาดอยู่ และวันนี้เราจะมาแนะแนว พร้อมแนะนำวิธีการสัมภาษณ์งานอย่างไรให้มีโอกาสได้งานมากที่สุด
ศึกษาข้อมูลบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์
เรื่องเบสิคพื้นฐานที่ผู้สมัครทุกคนควรรู้คือการรู้ว่าเรากำลังไปสมัครงานกับบริษัทอะไร ทำธุรกิจแบบไหน และเราเข้าไปทำงานในส่วนของตำแหน่งอะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยในการหาข้อมูล แต่น่าแปลกใจมากที่ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัท หรือหน่วยงานที่ตัวเองยื่นใบสมัครไปทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรทำการบ้านมาตั้งแต่เริ่มต้น
ในวันที่สัมภาษณ์ มีโอกาสสูงมากที่ผู้สัมภาษณ์จะยื่นคำถามง่ายๆ ไปว่า “รู้จักบริษัทเราได้อย่างไร” “เคยอ่านเว็บเรามาก่อนไหม” “รู้ไหมว่าบริษัทเราทำอะไร” หรือ “คุณจะเข้ามาช่วยงานในส่วนไหน” การตอบคำถามเบสิคแบบนี้ไม่ได้ หรือเลี่ยงคำตอบที่ถูกต้อง โอกาสที่ผู้สัมภาษณ์จะประทับใจก็แทบจะไม่เหลือแล้ว
ถ้าไม่รู้ว่าจะเก็บข้อมูลอย่างไรดี ลองจินตนาการว่าบริษัทที่เราสัมภาษณ์คือคนที่เราแอบชอบแอบตามส่องเฟซบุ๊คเก็บข้อมูลเขา นั่นแหละใช้วิธีเดียวกันเลยคือตามส่องเฟซ ตามดูพฤติกรรมของบริษัทนี้ว่าเขาทำงานอะไร ธุรกิจแนวไหน และเราเข้าใจในอุตสาหกรรมนั้นหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจอย่างดี โอกาสที่จะได้โชวืความคิดดีๆ ที่สอดคล้องกับบริษัทนั้นก็มีมากขึ้นกว่าไปด้วยความว่างเปล่ากับความเหงา
อย่าลืมว่าตัวเองสมัครตำแหน่งอะไร
การสมัครงานหลายที่ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราทุกคนสามารถหาโอกาสให้ตัวเอง แต่บางคนสมัครงานไปหลายที่ หลายตำแหน่งเกิน เรียกได้ว่าหว่านไปเรื่อยๆ มันต้องโดนสักที่แหละวะ พอถูกเรียกไปสัมภาษณ์ก็ลืมว่า อ้าว…ที่เขาเรียกไปนี่เราสมัครตำแหน่งอะไรไป ต้องจำให้ได้ ถ้าเจอคำถามเบสิคเกี่ยวกับงานที่คุณสมัครแล้วจำไม่ได้อาจใบ้กินเช่น
ผู้สัมภาษณ์ : มาสมัครงานที่นี่ อยากทำเว็บไหน
ผู้สมัครงาน : …บริษัทพี่ทำเว็บไซต์หรือคะ งั้นหนูทำในส่วนของออกแบบเว็บก็ได้ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : คือ…บริษัทพี่ทำเว็บข่าวครับ ไม่ใช่บริษัทรับทำเว็บไซต์
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริงที่ผม เคยเจอ กรณีที่ผู้สมัครงานยื่นใบสมัครไปหลายที่แล้วจำไม่ได้ว่าสมัครงานมาตำแหน่งอะไร สมัครที่ไหนไป พอถามว่าอยากจะมาทำงานตำแหน่งอะไร ถนัดงานในส่วนไหน น้องทำหน้างง…แล้วตอบตรงๆ ว่าไม่รู้ สมัครไปหลายที่ พี่อยากให้ทำตำแหน่งอะไรบอกมาเลย (มีจริงๆ อันนี้ไม่มุก) ตอบแบบนี้ประทับใจมากๆ ตกรอบไปเลย บัยย
ตอบคำถามด้วยความจริงอย่าโกหก
การตอบคำถามสัมภาษณ์ที่ดีที่สุดไม่ใช่การประดิษฐ์คำตอบให้สวยงามหรือดูอลังการเพราะนี่ไม่ใช่เวที Miss Universe ที่ควรทำคือตอบคำถามจริงๆ อย่างที่เรารู้และเข้าใจ การประดิษ์ฐ์คำตอบนั้นผู้สัมภาษณ์ทุกคนดูออกตัวอย่างเช่น
ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่าตัวเองมีข้อเสียคืออะไร
ผู้สมัครงาน : ข้อเสียของผมคือมีความทุ่มเทกับการทำงานมากจนเกินไปครับ จนทำให้ไม่โฟกัสกับเรื่องของตัวเองมากนัก ผมเป็นคนที่มุ่งมั่นกับการทำงานมากๆ เพราะงานทุกชิ้นที่ทำออกมา ต้องกลั่นออกมาจากความตั้งใจจริงๆ ผมรู้สึกมันเป็นข้อเสียมากๆ ครับ แต่พอทำงานออกมาได้ดี ผมเลยไม่อยากเลิกข้อเสียตรงนี้ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : …น้องเอาตำแหน่งแมนออฟเดอะเยียร์ไปเลย! ขอบคุณมากฮะ บัยยย
ถ้าเป็นบนเวทีเอาตำแหน่งชนะเลิศไปเลย แต่นี่ไม่ใช่! ประดิษฐ์มากๆ บางทีเขาต้องการแค่คำตอบว่า เอ็งเป็นคนตื่นสาย ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ หรือชอบคิดถึงบ้านตอนบ่ายสามก็ได้ เอาความจริง ขอความจริงจะดูน่ารักกว่ามากๆ
อย่าพูดในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ
มีผู้สมัครงานหลายคนที่โชว์ว่าสามารถทำงานได้หลากหลาย และนำเสนอพอร์ตงานให้ดูระหว่างที่สัมภาษณ์ ซึ่งผู้สัมภาษณ์ประทับใจมากๆ ในความเก่ง แต่พอถามรายละเอียดลงไปลึกๆ กลับพบว่าที่พูดมาทั้งหมดนั้นไม่สามารถทำได้เลย พอร์ตที่นำมาโชว์ ก็ไม่ได้ทำคนเดียวทั้งหมด แต่แค่มีส่วนรวมอยู่เล็กน้อยเท่านั้น
หรือบางคนไม่ได้ทำงานในพอร์ตนั้นเลยแค่มีชื่ออยู่ในงานเฉยๆ แต่ก็เนียนเอามาใส่เป็นพอร์ตของตัวเองเพราะคิดว่าคงไม่มีใครดูออก เขาคงไม่สนใจมั้ง…คำตอบคือ สนใจเซ้! ดังนั้นถ้าเราทำงานไม่ได้ หรือพอร์ตที่นำมาให้ดูไม่ใช่งานที่เราทำเองจริงๆ
แนะนำเลยว่าอย่าทำ ถ้าโดนสัมภาษณ์ซักไซ้ไล่เลียงไปเรื่อยๆ รับรองว่าดูออกแน่นอนว่าคำตอบที่พูดออกไปนั้นของจริงหรือจ้อจี้ เจอผู้สมัครที่ทำแบบนี้ คำตอบเดียวที่พูดได้เลยคือ บัยยยย
คุมจังหวะการพูด พูดให้ช้าๆ และชัดๆ ฟังง่าย
บางคนมีจังหวะการพูดที่เร็วมาตั้งแต่เกิด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เวลาไปสัมภาษณ์งานนั้นควรจะตั้งสติก่อนพูด และคุมสติให้อยู่ท่องไว้ในใจว่าเราต้องพูดช้าๆ พูดให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราพูดด้วย เพราะบางคนนี่พูดรัวเป็นปืน M4A1 เปิดโหมด Auto ยิงใส่รัวๆๆๆๆๆๆๆ จนคนสัมภาษณ์ฟังไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ! เมื่อกี้น้องเขาตอบว่าอะไรวะ
น้องพูดเร็วครั้งสองครั้งก็ยังพอไหว แต่ถ้ารัวๆๆๆ เป็น The Toys ตลอดการสัมภาษณ์ อาจโดนปรับตกในเรื่องทักษะทางการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมก็ได้ ถ้ารัวขนาดนี้ไปเป็นแร็ปเปอร์อาจจะรุ่งกว่า ดังนั้นท่องไว้ว่าก่อนจะตอบคำถาม ตั้งสติ และค่อยๆ ไปช้าๆ ชัดๆ ใจเย็นๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง
ตอบคำถามให้ตรงประเด็น อย่าออกทะเลตั้งสติก่อน
การตอบคำถามที่ดี ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะตอบคำถามได้คม ได้เท่ ได้สวย ได้โชว์ทัศนคติที่ดีต่อองค์กรหรือเปล่า แต่อยู่ที่ว่าคำถามที่เราตอบออกมานั้น ตรงประเด็นที่ผู้สัมภาษณ์ถามมาหรือเปล่า บางคนฟังคำถามอีกอย่างตอบไปอีกอย่าง บางคนตอบคำถามด้วยคำถามกลับมาเฉย ซึ่งเรามีตัวอย่างมาให้ดู
ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่าความสามารถที่น้องมีจะมาช่วยเราพัฒนางานตรงจุดไหน
ผู้สมัครงาน : แล้วพี่คิดว่าไงล่ะคะ
ผู้สัมภาษณ์ : …เดี๋ยวนะ
หรือตอบคำถามแบบเลี่ยงๆ และทิ้งไว้ให้คิดต่อ
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงลาออกจากบริษัทเดิม
ผู้สมัครงาน : ผมอยากหาความมั่นคงของชีวิต และคิดว่าเป็นความมั่นคงที่ใครๆ ต่างก็หาคำตอบอยู่ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : …เดี๋ยวนะ ยังไงนะ
คือ…น้องลืมไปหรือเปล่าครับว่านี่เรากำลังสัมภาษณ์งานกันอยู่ ไม่ใช่การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหนังอาร์ตที่ทุกการสนทนาต้องมีการยอกย้อนหยั่งเชิงประลองความคิดกัน ไม่ช้ายยยยย พี่ต้องการความชัดเจนน้องงงงงงง