category คิดจะพัก คิดถึง Social Media Detox มาเพิ่มเวลาให้กับโลกออฟไลน์กันเถอะ

Writer : Patta.pond

: 27 พฤษภาคม 2562

การเมืองก็ต้องติดตาม ข่าวสารก็ต้องรับรู้ ชีวิตชาวบ้านก็ต้องตามดู หันไปทางไหนก็เจอแต่คนไถหน้าจอกันไม่หยุด  จนปฎิเสธไม่ได้ว่าถ้าให้เลือกระหว่างโทรศัพท์กับอาหาร หลายคนอาจจะยอมอดอาหาร(บางมื้อ)แน่นอน รู้หรือไม่ว่าผลเสียของการติดโทรศัพท์นั้นมีมากกว่าที่คิด มาแก้ปัญหานี้ด้วย Social Media Detox กันเถอะ

ทำไมคนเราถึงติดโซเชียลมีเดีย

เมื่อการเข้าถึงกันของผู้คนและเรื่องราวต่างๆ ทั่วโลก ใช้เวลาในเพียงไม่กี่วินาที ทำให้การหยุดเล่นแม้ไม่นาน ก็เกิดความรู้สึกว่าตัวเองจะพลาดกระแสหรือเรื่องราวสำคัญ ทำให้รู้สึกกระวนกระวาย ต้องคอยเช็คแจ้งเตือนตลอดเวลา จนอาจถึงขั้นได้ยินเสียงสั่นหรือเสียงแจ้งเตือนทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาการนี้เรียกว่า F.O.M.O (Fear of missing out) นั่นเอง

แค่ติด Social จะสักแค่ไหนกันเชียว

เฮ้ยยยยย ก็แค่ติดโซเชียลป้ะแกร งานการก็ยังทำ เรื่องเรียนก็ยังได้เกรดดีอยู่ อย่าทำเป็นเรื่องใหญ่ จริงอยู่ว่าการติดโซเชียลไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่มันส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของเราอย่างแน่นอน

หลงตัวเองมากขึ้น

เพราะรางวัลที่โซเชียลมีเดียมอบให้เราคือการกดไลค์ เพิ่มเพื่อน หรือคอมเมนท์เพื่อหวังผลทั้งหลายทั้งแหล่ เกิดเป็นการตีค่าคนอื่นๆ ด้วยยอดไลค์ และยังทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับตัวเลขเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

คิดว่าเป็นโลกทั้งใบ แต่ความจริงแค่ซีกเดียว

หลงคิดว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ และคิดว่าโลกทั้งใบมีแต่คนเห็นด้วยกับเราทั้งนั้น ความจริงแล้วอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีอัลกอริธึมจับคู่ให้หน้าไทม์ไลน์มีแต่สิ่งที่อยู่ในความสนใจของเรา หรือความเห็นที่เห็นพ้องกับเรา เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “echo chamber” หรือห้องเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์

ลดรอยต่อคนไกล เพิ่มช่องว่างคนใกล้

รักระยะไกลอาจไม่เป็นปัญหาเพราะติดต่อกันได้ง่ายขึ้น แต่กับคนระยะใกล้นี่สิ อยู่ข้างกันแท้ๆ แต่ไม่ได้คุยกัน กลับง่วงอยู่แต่กับหน้าจอของตัวเองก็มี อย่าลืมว่าการใช้เวลาปัจจุบันกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็สำคัญเหมือนกันนะ

เราไม่ได้รู้จักตัวเองอยู่คนเดียว

เคยลงสตอรี่เช็คอินว่าอยู่ที่ไหนแล้วมีเพื่อนเก่าทักมาเพราะบังเอิญอยู่ที่เดียวกันหรือเปล่า ขอบคุณโซเชียลมีเดียที่ทำให้เจอเพื่อนที่ห่างหาย แล้วจะยังรู้สึกดีอยู่ไหมถ้าคนที่ทักมาไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นใครไม่รู้ที่กำลังติดตามเราอยู่ ยังไม่รวมไปถึงข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่บางแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือแม้แต่บัญชีธนาคาร ครั้งหน้าก่อนลงทะเบียนข้อมูลอะไรก็อย่าลืมใคร่ครวญให้มากขึ้นนะจ้ะ

วิธีการทำ Social Media Detox

การติดโซเชียลมีเดีย ในทางจิตวิทยาถือเป็นการเสพติดเหมือนกับการติดเกมส์ การเริ่มต้นนั้นง่ายมาก ที่ยากกว่าคือความอดทนและความสม่ำเสมอในการทำ จึงควรใช้วิธีการหักดิบ เพื่อเรียกคืนความรู้สึกก่อนติดโซเชียล โดยระยะเวลาในการทำก็มีได้ตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ ครึ่งเดือน หรือมากกว่านั้นตามความจำเป็นในการใช้ของเรา

ปิดบัญชี (ชั่วคราว ก็ยังดี)

การปิดบัญชีนอกจากจะทำให้เราไม่สามารถแอบเข้ามาเช็คแจ้งเตือนได้แล้ว ยังเป็นการบอกแก๊งค์เพื่อนกลายๆ ว่าเรากำลังทำการดีท็อกซ์อยู่ หรือก่อนจะเปลี่ยนก็อาจจะตั้งเป็นสเตตัสทิ้งทวนก่อนว่าเราจะหายไปสักพัก คราวนี้ถ้าเพื่อนติดต่อเรามา ก็แน่ใจได้เลยว่าเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ

ลบแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์

วิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดการเเจ้งเตือนซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้เราเกิดอาการเสพติด และทำให้เราไม่เผลอใจไปเล่นในตอนที่เบื่อๆ ว่างๆ นับหนี่งสองสาม ฮึบแล้วลบ!

ตั้งเป้าที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ

เป็นโอกาสดีที่จะเรียกเวลาที่หายไปกลับคืนมา เปลี่ยนเวลาเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น งานฝีมือ เรียนภาษาที่สาม หรือเรียนคอร์สออนไลน์

กลับไปทำสิ่งที่นานมาแล้วไม่ได้ทำ

ลืมไปแล้วหรือยังว่าเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะทำอะไรบ้าง นอนเพียงพอหรือเปล่า ออกกำลังกายตามที่ตั้งเป้าไว้ไหม ได้พูดคุยกับญาติและเพื่อนผองสม่ำเสมออย่างที่ตั้งใจหรือไม่ กลับไปทำสิ่งเหล่านี้ แล้วจะพบว่าเกิดความสบายใจชนิดที่ว่า รู้แบบนี้คงทำไปนานแล้วล่ะ

โซเชียลมีเดียจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรืออันตรายใดๆ กับเรา ตราบใดที่ยังเป็นแค่ช่องทางในการรับสื่อช่องทางหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มเอาความสำคัญของเจ้าสิ่งนี้เป็นอันดับแรก ก็อาจจะถึงเวลาพักเบรกจากข่าวสารต่างๆ และให้ความสำคัญกับโลกออฟไลน์บ้าง แล้วชีวิตเราจะเบาสบายขึ้นอีกเยอะ : )

ที่มา :  Medicalnewstoday, Makeusof

 

 

 

Writer Profile : Patta.pond
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save