ใครเคยเห็นงานออกแบบกราฟิกบางงาน แล้วรู้สึกกำหมัดกันบ้าง?? หลายคนอาจจะเห็นงานการออกแบบผ่านหน้า ไทม์ไลน์ในโซเชียลมีเดียที่มีคนแชร์ๆต่อกัน แล้วเกิดความรู้สึก เอ๊ะ ขึ้นมาในใจ การออกแบบกราฟิกของราชการปกติเค้าใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์กันนะ ควรจะต้องออกแบบยังไงและมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง? ในวันนี้ทีมงาน Mango Zero จึงได้รวบรวม How to ออกแบบกราฟิก ‘ราชการ’ ต้องทำยังไงบ้างนะ? มาให้ดูกันว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย สัดส่วนภาพที่ไม่ธรรมดา เคยสังเกตกันไหม? ว่าทำไมภาพบางภาพถึงมีความเอียง ความสัดส่วนที่ไม่เท่ากันได้ขนาดนั้นนะ เห็นแล้วอยากเข้าไปแก้ซะจริงๆ!! ท้ังที่เป็นเรื่องสำคัญแท้ ๆ ซึ่งโดยส่วนมากการจัดสัดส่วนภาพที่ดีจะต้องกำหนดขนาดที่ต้องการหรือย่อภาพให้ถูกวิธี ทางที่ดีเราควรกำหนดขนาดเอาไว้ให้แน่นอนจะดีกว่าว่าใช้ขนาดเท่าไหร่กันแน่ จะได้ไม่ผิดสัดส่วนน้าาา งาน Gradient ก็ต้องมา ทุกคนอาจจะเคยได้ยินนักออกแบบกราฟิกพูดกันว่า การไล่ระดับสีจะช่วยเพิ่มมิติ เพิ่มความหรูหราให้กับงานออกแบบได้ แต่ๆๆๆๆๆก็ใช่ว่าทุกงานออกแบบที่ไล่สีแล้วจะดีเสมอไปนะ ขอย้ำอีกที ไม่เสมอไป!! การไล่ระดับสีเป็นการเอาเฉดสี 2 สีหรือมากกว่านั้น ผสมเข้าด้วยกันในรูปภาพ รูปทรงต่าง ๆ เราจึงต้องดูถึงความเหมาะสมของตัวงานในแต่ละชิ้น ออกแบบให้ออกมาสวยงาม ไม่ดูโดดกลบจุดเด่นของชิ้นงานจนเกินไป คู่สีนั้นสำคัญไฉน การเลือกสีก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการออกแบบ หลายครั้งที่เราจะเห็นงานออกแบบที่สีตัดกันมากกกกก ที่ถึงกับต้องหยีตากันเลยทีเดียว สีจึงเป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าเราเลือกสีที่ดีและเหมาะสม ก็จะทำให้งานของเราดูดีมีราคาขึ้นมาในทันที แต่ถ้าหากเลือกพลาดล่ะก็มันอาจจะพังงานที่เราสร้างขึ้นมาเลยก็ได้นะ ระวังเอาไว้! ฟอนต์อะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก? นอกจากเรื่องสี ภาพต่าง ๆ แล้ว การเลือกฟอนต์ก็มีผลเหมือนกันนะ รูปแบบฟอนต์สามารถบ่งบอกถึงลักษณะหรือตัวตนของงานชิ้นนั้นและส่งผลต่อการสื่อสารได้ด้วย เช่น การออกแบบกราฟิกเชิญชวนคนเข้าฟังบรรยาย ถ้าเราใช้ฟอนต์ที่เป็นลายมือ ก็อาจทำให้งานนั้นดูไม่เป็นทางการขึ้นมา หรือการใช้ฟ้อนต์หลายประเภทในการออกแบบงานชิ้นหนึ่ง อาจส่งผลให้งานดูไม่เป็นระเบียบ ดูรกขึ้นมาได้ ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้คนอ่านปวดหัวเนี่ย ไม่ควรละเลยการเลือกใช้ฟอนต์เด็ดขาดเลย อย่าหาว่าไม่เตือน! ไดคัทแบบ (ไม่) ลาลาลอย ฉันจะพาเธอลอยยย~~~ เอ๊ะ ทำไมไดคัทรูปแล้วมันลอยเบอร์นั้นนนน อันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าปกติการไดคัทภาพเป็นการตัดวัตถุหรือสิ่งของที่เราต้องการออกจากพื้นหลังของภาพ จุดประสงค์ก็เพื่อเอาภาพที่ไดคัทไปใช้งานต่อได้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่คนทำกราฟิกหลายคนควรจะทำได้เลยนะ โดยวิธีไดคัทภาพเนี่ยก็มีให้เลือกมากมายแล้วแต่ความถนัดของตัวบุคคล แต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานก็สามารถเรียนรู้ได้ตามวิดีโอการสอนทำในยูทูปทั่วไปหรือจะไปลงเรียนคอร์สแบบมืออาชีพยังได้เลย ถือเป็นการเพิ่มสกิลการไดคัทภาพแบบไม่โป๊ะ ไม่ลอยได้อย่างแน่นอน ภาพมัน ‘เบลอ’ หรือคุณภาพรูปไม่ชัดเจน? มีวิจัยหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า “บทความที่มีรูปภาพจะมีผู้ชมมากกว่าถึง 94% และผู้ชมจะสามารถจดจำรูปภาพได้ถึง 80% แต่จดจำการอ่านได้แค่ 20%เท่านั้น” แล้วถ้าภาพที่อยู่ในความทรงจำเรามันไม่น่าประทับใจล่ะ เราจะยังอยากจำไหม? ต้องบอกเลยว่าทุกวันนี้เวลาเราเจอรูปที่คุณภาพไม่ดีหรือรูปที่ ‘ภาพแตก’ เนี่ย จะมีความรู้สึกที่หงุดหงิดมากถึงมากที่สุด เหมือนเป็นการขัดอารมณ์ในการเสพข้อมูล ดังนั้น นักออกแบบจึงควรที่จะใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยนี้ เลือกความละเอียดของภาพให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ภาพที่คมชัดให้ฟินกันถ้วนหน้าไปเลยยย