Mango Zero

5 วิธีปฏิบัติเมื่อคนใกล้ตัวเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ เราควรทำอย่างไรดี

โรคซึมเศร้าเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในบ้านเรา หลายคนบอกว่านี่คือโรคของคนยุคใหม่ ทว่าจริงๆ แล้วโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องใหม่เลย สมัยก่อนก็มีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพียงแต่เราไม่รู้จักโรคนี้ดีพอ ทว่าวันนี้เราเชื่อว่าโรคซึมเศร้าคือหนึ่งในโรคที่หลายคนรู้จักมากขึ้น แต่…ก็ใช่ว่าจะเข้าใจในการปฏิบัติตัวกับคนใกล้ตัวที่ป่วยเป็นโรคนี้ 

โรคซึมเศร้าฟังดูแล้วอาจจะน่ากลัว แต่ถ้าคนใกล้ตัวรู้วิธีดูแลผู้ป่วย และการปฏิบัติตัวกับผู้ป่วย โรคซึมเศร้าก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ แล้วจะควบคุมหรือดูแลคนป่วยอย่างไรให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเป็นมีชีวิตเป็นปกติ เรามีคำแนะนำดีๆ มาบอก

ไม่ควรแนะนำให้ไปเข้าวัด นั่งสมาธิ ฟังธรรม

คนเป็นโรคซึมเศร้านั้นคืออาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมดุลสารเคมีในสมอง โรคภัยไข้เจ็บ ผลค้างเคียงจากยา หรือเหตุการณ์กระทบใจบางอย่าง เลยทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ดังนั้นการเข้าวัดฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรมนั้นไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้องนักเพราะเขาป่วย

การเชื่อว่าปาฏิหารย์จากการนั่งสมาธิ หรือความสงบจิตสงบใจจากการเข้าวัดแล้วจะหายนั้นอาจจะใช้ได้กับแค่ผู้ป่วยบางคน เน้นว่าบางคนเท่านั้น การแนะนำผู้ป่วยด้วยวิธีผิดๆ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยตีตัวออกห่างเพราะนั่นหมายถึงเราไม่ได้เข้าใจเขาเลยสักนิดเดียว

รับฟังอย่างตั้งใจ ให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก

คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าบางครั้งเขาก็ต้องการคนรับฟัง แต่อาจจะไม่ได้ต้องการให้เราแสดงความคิดเห็นในที่ไม่เกิดประโยชน์จำพวกคำว่า “แค่มีชีวิตอยู่ต่อไปเองทำไมทำไม่ได้” “เธอต้องสู้สิ” “ชีวิตก็แบบนี้แหละ” “ดูคนที่เขาลำบากกว่าเธอสิ” “เราเข้าใจเธอนะ” หรือ “ถ้าทำไม่ได้ได้ยังไงแค่นี้เอง” อย่างนี้ไม่ควรพูดออกไป สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือรับฟังคนป่วยอย่างตั้งใจดีที่สุดก็พอแล้ว

อย่าแสดงความสงสาร หรือเห็นใจผู้ป่วย

ไม่มีใครอยากถูกมองว่าน่าสงสาร หรือน่าเห็นใจ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เช่นกัน พวกเขาไม่อยากถูกปฏิบัติจากคนรอบข้างที่ดีเกินปกติ การกระทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่มากขึ้นไปอีกที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ หรือไม่มีคุณค่าจนต้องถูกประคบประหงมเป็นพิเศษ

สิ่งที่ควรทำคือทำตัวเหมือนปกติก่อนที่จะรู้ว่าคนข้างๆ เรามีอาการป่วย นอกจากนี้ก็ไม่ควรไปเร่งรัดชวนผู้ป่วยออกไปทำนั่นนี่โน่นที่ดูแปลกกว่าปกติ ถ้าอยากจะไปเขาก็ไปเอง ไม่ต้องไปเร่งรัดชี้ชวนเกินพอดี

ไม่กดดัน หรือคาดหวังกับอาการป่วยที่หายช้า

อย่าแสดงความกดดัน คาดคั้น ด้วยการไปบอกกับคนป่วยว่ารีบหายเร็วๆ หรือพยายามช่วยหาวิธีรักษาอย่างไรให้หายเร็วๆ เพราะจะยิ่งทำให้คนป่วยรู้สึกกดดันที่ทำให้คนรอบข้างผิดหวังกับอาการป่วยของตัวเองที่ทำอย่างไรก็ไม่หายตามที่คนรอบข้างหวัง วิธีที่ถูกต้องที่ควรปฏิบัติกับผู้ป่วยคืออย่าไปกดดัน คาดหวัง

หรือพยายามทำให้เขารู้สึกว่าหายได้แล้ว โรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่อาการที่กินยาแล้วจะหายได้ทันที ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานับสัปดาห์อาการถึงจะเริ่มดีขึ้น และผู้ป่วยบางคนก็หายขาด แต่บางคนหายไม่ขาด ถ้ามีอะไรมากระทบจิตใจอาจจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

พึงระลึกไว้เสมอว่าเขาป่วย ไม่ใช่จิตใจอ่อนแอ

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนจิตใจอ่อนแอ ยอมแพ้ต่อชีวิต หรือไม่สู้กับปัญหา พวกเขาแค่ป่วยเท่านั้น อาการป่วยที่เป็นสามารถรักษาได้ด้วยยาเหมือนกับอาการป่วยอื่นๆ อาการที่เขาแสดงออกมานั้นก็คือความเจ็บป่วยนั่นเอง ดังนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่า “เขาแค่ป่วย”

ที่มา – โรงพยาบาลมหิดล , พบหมอรู้จักกับโรคซึมเศร้า