ในช่วงที่ทุกคนต้องทำงานหนักในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คงไม่แปลกหากทำงานหนักจนรู้สึกตื้อหรือปวดหัว แต่หากเป็นบ่อยครั้งเข้าหรือเรื้อรังชนิดที่ว่าผ่านไปหลายวันแล้วก็ยังไม่หาย อาจแปลว่าคุณกำลังเข้าข่าย “Brain Fog” หรือภาวะสมองล้า ที่ส่งผลให้เกิดโรคอันตรายอย่างอื่นตามมาได้ วันนี้ Mango Zero จะพาทุกคนมารู้จักวิธีการป้องกันเจ้าหมอกร้ายในสมองนี้กัน สภาวะสมองล้า ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Brain Fog” หรือ ” cloudy-headed” หากแปลตามตัวก็คืออาการทำงานหนักจนมึนหัว รู้สึกตื้อ หรือฟุ้งๆ ไม่สามารถโฟกัสกับอะไรได้ ความจำสั้น รวมไปถึงอาการนึกคำไม่ออก ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว ไปจนถึงเป็นตัวเริ่มต้นของโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างโรคเครียด หรืออาจถึงขั้นเกิดสภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้ล่ะ กำจัดความยุ่งเหยิงใกล้ตัว เป็นธรรมดาที่มนุษย์จะสะสางงานที่ได้รับมอบให้เรียบร้อยด้วยความรับผิดชอบส่วนบุคคล แต่ก็มีไม่น้อยที่ลืมแก้ความยุ่งเหยิงสิ่งอื่นที่ไม่ได้โดนสั่ง อย่างสภาพแวดล้อมที่ใช้ทำงาน เช่น โต๊ะทำงาน ห้อง หรือแม้แต่กองเอกสารในที่ต่างๆ ก็ตาม การหันมองไปทางไหนก็เจอแต่ความไร้ระเบียบ ทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ลดพื้นที่หมอกมัวในสมอง ด้วยการลดของที่ไม่จำเป็นบนโต๊ะ ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ให้เสร็จในวันเดียว อาจจะเริ่มจากสัดส่วนเล็กๆ แล้วค่อยขยายเป็นมุม หรือเป็นห้องได้ เมื่อพื้นที่กว้าง ก็สร้างสเปซให้หายใจได้มากขึ้นอีกเยอะ ทำทีละงาน ทำได้นานกว่า สมัยนี้คำว่างานที่มีคุณภาพ มักมาคู่กับคำว่างานที่เสร็จเร็ว นั่นทำให้ใครหลายคนต้องเร่งสปีดทำหลายอย่างพร้อมกันในคราวเดียว กลายเป็นมนุษย์ Multi Tasking ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันแล้ว ยิ่งทำให้สมาธิถูกแยกส่วนตามไปด้วย จนสุดท้ายแล้ว อาจได้งานที่ไม่เต็มร้อยเลยสักงานนั่นเอง เพื่อลดการทำงานหนักของสมอง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทุกๆ งาน ต้องลดการทำงานแบบ Multi Tasking ลง ระหว่างที่ทำแต่ละงาน ก็ปิดการแจ้งเตือนของอุปกรณ์สื่อสาร รวมไปถึงการเขียนกฎอย่างชัดเจนว่าจะทำงานนี้ภายในกี่ชั่วโมง หรือลองใช้วิธี 3 ถึง 1 คือการเขียนสามสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จในวันนี้ จากนั้นเลือกงานที่สำคัญที่สุดหนึ่งงาน แล้วทำก่อนงานอื่นๆ ระหว่างนั้นอาจสลับไปทำงานอย่างอื่นได้ (แต่ต้องไม่ใช่การทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน) ไม่รีบโต้ตอบกับงานแทรก งานแทรกส่งผลกระทบกับเรามากกว่าที่คิด นอกจากจะทำให้แผนงานที่วางมาทั้งวันรวนแล้ว การใช้ชีวิตโดยโต้ตอบกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาตลอด ทำให้สมาธิที่เราตั้งอกตั้งใจปั้นขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับตัวเองต้องพังลงได้อย่างง่ายดาย และที่สำคัญทำให้สมองที่เบลออยู่แล้วต้องร้อนรนทำงานเร่ง เกิดอาการเบลอมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ลองแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเวลาในการเช็คเมลล์ หรือตอบการแจ้งเตือนต่างๆ อย่าลืมว่างานที่สำคัญที่สุด คืองานที่อยู่ตรงหน้าและคุณกำลังทำมันอยู่นั่นเอง ซึ่งหากเราวางแผน และทำงานแต่ละงานออกมาได้ดี งานเร่งก็คงไม่ได้มีเข้ามาบ่อยๆ จริงไหม อยู่นิ่งบ่อยๆ ค่อยๆ ซึม อ่านไปอ่านมาชักจะงง ไหนบอกว่าสภาวะสมองล้าเกิดจากการทำงานหนักมากเกินไป ถ้าอย่างนั้นก็ควรพักผ่อนไม่ใช่หรือ? การพักนั้นดีต่อสุขภาพก็จริง แต่ถ้าพักนานมากๆ อย่างการนอนโดยไม่ทำอะไรเลย ก็จะยิ่งทำให้สมองไม่เกิดการเรียนรู้ มากขึ้นกว่าเดิม จากที่เครียดอยู่แล้วก็ยิ่งเครียดไปกันใหญ่ ดังนั้น วิธีการแก้ความเครียดที่แท้จริง จึงไม่ใช่การอยู่นิ่งๆ นานๆ แต่เป็นการขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ หรือเดินออกไปสูดอากาศ ทิ้งความคิดไว้ข้างหลัง ทำแบบนี้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้สภาพจิตใจและร่างกายดีขึ้นได้ หยุดเสพย์คอนเทนต์บั่นทอน เมื่อเครียดก็ต้องผ่อนคลายด้วยการพักเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไถเท่าไหร่ๆ ก็เจอแต่ชีวิตดีของเพื่อนๆ แทนที่จะรู้สึกว่าได้พัก ยิ่งเครียดหนักไปกันใหญ่ ลองเพิ่มเวลาอีกสักนิดเพื่อคัดกรองคอนเทนต์ที่จรรโลงใจจริงๆ อาจเป็นการพัฒนาตัวเองอย่างพวก How to ทั้งหลาย หรือเหล่าหมาแมวเพื่อชะโลมจิตใจให้สดใสขึ้นได้บ้าง และลดคอนเทนต์เรื่องราวของคนอื่น ที่มักโชว์แต่ด้านชีวิตดีให้เราเห็น จนพาลน้อยใจชีวิตตัวเองเอาเปล่าๆ แม้งานจะสำคัญเพียงใด แต่เมื่อทำเสร็จลงไป ยังไงก็มีงานใหม่ๆ มาให้ทำอยู่ดี (และแน่นอนว่าหากคุณทำไม่ได้ ก็จะมีคนอื่นมาทำแทนคุณอีกด้วย) สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือสุขภาพของตัวเอง เพราะคนไม่ใช่เครื่องจักร และการพักก็เป็นเรื่องที่จำเป็น หากยังฝืนทำงานหนักต่อไปเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบมากกว่าสมองล้าแน่นอน ที่มา: Getpocket