“พี่เป้งสอนผมว่าถ้าชีพจรหยุดเต้น ชีวิตมันเป็น 0% แต่ถ้าพี่ช่วยยังมีโอกาสรอดเป็น 1% ไม่มีติดลบนะพี่”
นี่คือสิ่งที่ หมอฉลาม(สกาย วงศ์รวี) ขอร้องกับทานตะวัน(ใหม่ ดาวิกา) ในตอนที่ตัวเองสติแตกไม่สามารถช่วยเพื่อนหมอที่จู่ๆก็หมดสติไป เลยขอให้ทานตะวันทำ CPR แทนจนในที่สุดเธอก็ช่วยชีวิตเพื่อนหมอคนนี้เอาไว้ได้
ดูเผินๆก็เหมือนจะเป็นแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในซีรี่ส์ แต่เอาเข้าจริงถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในชีวิตจริงบ้างล่ะ เราจะต้องเตรียมตัวยังไง ถ้าไม่มีหมออยู่ใกล้ตัว?
วันนี้ Mangozero เลยขอแนะนำวิธีการทำ CPR เบื้องต้นจากฉากในซีรี่ส์เรื่องรักฉุดใจนายฉุกเฉิน My Ambulance มาให้เตรียมความรู้ อุ่นเครื่องก่อนดูตอนต่อไปในคืนวันศุกร์นี้…
สำหรับวิธี CPR ที่พูดถึงกันอยู่นี้ คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ชีพจรหยุดเต้น หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจและมีการไหลเวียนของออกซิเจน รวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพปกติ เรียกเต็มๆว่า “Cardio Pulmonary Resuscitation” ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เราพบคนสลบ เป็นลม หมดสติ หัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ขอให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1.ประเมินอาการ / ลองปลุกเรียก
ก่อนอื่นเราต้องประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยก่อน ดูการเคลื่อนไหวของทรวงอกและหน้าท้องว่ามีการเคลื่อนไหวไหม ยังหายใจอยู่หรือเปล่า ชีพจรยังเต้นปกติหรือไม่ และลองปลุกเรียกผู้ป่วย โดยใช้มือ 2 ข้างตบที่ไหล่ พร้อมกับเรียกเขาด้วยเสียงดังๆ
2.โทรเรียกบริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669
หากลองปลุกเรียกแล้วผู้ป่วยไม่ตอบสนอง ให้รีบโทร 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉินทันที เพื่อให้มารับตัวผู้ป่วย หมายเลขนี้สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง และในระหว่างที่รอทีมแพทย์มาถึงให้คุณเริ่มทำ CPR ทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้ให้ไม่มีออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองนานเกิน 4 นาที ผู้ป่วยอาจมีสิทธิสมองตายได้
3.วางมือประสานบนกลางหน้าอก
ก่อนจะเริ่มการทำ CPR ให้คุณนั่งคุกเข่าข้างลำตัวผู้ป่วย จัดท่านอนผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็งก่อน ศีรษะและคอจะต้องอยู่ระนาบเดียวกับหัวใจ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป จากนั้นให้หาตำแหน่งทำ CPR โดยวัดกึ่งกลางหน้าอกระหว่างราวนม 2 ข้าง วางส้นมือข้างที่ไม่ถนัดลงไปที่ตำแหน่งนั้น จากนั้นนำมืออีกข้างวางประกบ เหยียดแขนตึง หลังตรง 90 องศาตั้งฉากกับทรวงอก โน้มตัวไปข้างหน้า
4.เริ่มทำ CPR
หลังจากหาตำแหน่งกด CPR ได้แล้ว ให้เริ่มกดลงไปที่หน้าอก ด้วยความลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร อัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที หรือราว 2 ครั้งต่อ 1 วินาที ถ้าหากนึกภาพความเร็วไม่ออก สามารถร้องเพลงเร็วในใจตามไปด้วยได้แบบในซีรี่ส์ได้ เพื่อช่วยสร้างจังหวะให้คุ้นชินและลดอาการแพนิคของผู้ทำ CPR ได้
ตัวอย่างเช่น เพลง “Love Message” อย่างในฉากซีรี่ส์เลย หรือถ้าร้องเพลงนี้ไม่ได้ อีกเพลงที่แนะนำคือเพลง “คุ้กกี้เสี่ยงทาย” ของ BNK48 ก็ได้ ให้คุณทำ CPR ไปเรื่อยๆ จนกว่ารถทีมแพทย์จะมาถึงหรือจนผู้ป่วยได้สติแล้ว
สำหรับการทำ CPR อาจกดหน้าอกสลับกับเป่าปากร่วมด้วยได้ เพื่อช่วยเติมออกซิเจนอีกทาง โดยกดหน้าอก 30 ครั้งสลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง แต่ถ้าใครไม่สะดวก mouth to mouth จริงๆ คุณหมอบอกว่าก็ไม่เป็นไรนะ เพียงแต่ต้องทำ CPR ให้ต่อเนื่อง และเนื่องจากการทำ CPR แต่ละครั้งจะต้องใช้แรงเยอะมาก จึงควรมีเพื่อนช่วยสลับกันทำ CPR อีกคนเพื่อให้ไม่ขาดระยะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก We Mahidol , honestdocs, thaihealth, Chulalongkorn University, Center of University Risk Management