สำหรับช่วงนี้ถือเป็นช่วงกลางของฤดูฝน ฝนตกบ่อยมากถึงมากที่สุด ความเซ็งคือฝนตกช่วงเย็นตอนกำลังจะกลับบ้าน และความเซ็งขีดสุดคือฝนตกตลอดทั้งวันตอนเราไปเที่ยว พยากรณ์อากาศก็แม่นบ้างไม่แม่นบ้าง ลองมาดูกันว่าจริงๆ แล้วการณ์พยากรณ์อากาศมันเป็นอย่างไร ต้องดูอย่างไร ช่วงนี้หลายคนมักจะตรวจเช็กการพยากรณ์อากาศ ทั้งดูล่วงหน้าหลายวันเพื่อทำแผนเที่ยว หรือดูล่วงหน้าก่อนออกจากบ้าน 2-3 ชั่วโมง แล้วทำไมถึงแม่นบ้าง ไม่แม่นบ้าง นี่พยากรณ์อากาศบ้านเราห่วยขนาดนั้นเลยเหรอ ช้าก่อนสหาย ลองทำความรู้จักกับการพยากรณ์อากาศกันก่อน ดูพยากรณ์อากาศตอนไหนดีที่สุด? การพยากรณ์อากาศ คือ การคาดหมายสภาวะอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยการพยากรณ์สภาวะอากาศ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามช่วงเวลาของการพยากรณ์ คือ 1. การพยากรณ์อากาศระยะสั้น (Short Range Forecast) เป็นการพยากรณ์อากาศในช่วงเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ใช้ข้อมูลผลการตรวจอากาศ และแผนที่อากาศในปัจจุบันมาวิเคราะห์ตามแนวทางทฤษฎีอุตุนิยมวิทยา เพื่อการพยากรณ์อากาศ สามารถแบ่งช่วงเวลาการพยากรณ์ออกได้ การพยากรณ์อากาศปัจจุบัน (Nowcast) ช่วงเวลาพยากรณ์ไม่เกิน 3 ชั่วโมง การพยากรณ์อากาศสั้นมาก (Very Short Range) ช่วงเวลาพยากรณ์ไม่เกิน 12 ชั่วโมง การพยากรณ์อากาศสั้น (Short – Range) ช่วงเวลาพยากรณ์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ภาพจากเรดาร์ตรวจอากาศสำหรับตรวจวัดเป็นความแรงของฝนแบบ Realtime จาก weather.tmd.go.th วิธีการอ่านค่า >> aeromet.tmd 2. การพยากรณ์อากาศระยะปานกลาง (Medium-range Forecast) การพยากรณ์อากาศในระยะเวลามากกว่า 72 ชั่วโมง จนถึง 10 วัน ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาปัจจุบันร่วมกับข้อมูลจากสถิติภูมิอากาศในการพยากรณ์ 3. การพยากรณ์อากาศระยะนาน (Longe Range Forecast) การพยากรณ์อากาศในช่วงเวลามากกว่า 10 วันขึ้นไป ใช้ข้อมูลสถิติทางอุตุนิยมวิทยาในการพยากรณ์ ดังนั้นแล้ว ปัจจัยในความแม่นยำของการเช็กสภาพอากาศนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเป็นหลัก ยิ่งเราดูพยากรณ์อากาศใกล้เท่าไหร่จะยิ่งแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น นั่นก็คือช่วงระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงที่เค้าสามารถใช้เครื่องมือในการวัดปัจจัยต่างๆ จากสภาพอากาศปัจจุบันได้ โดยเฉพาะช่วง nowcasting ที่พยากรณ์โดยใช้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเรดาร์ สำหรับช่วงเวลาที่ยาวกว่านั้นเค้าจะนำเอาข้อมูลสถิติมาใช้ร่วมในการพยากรณ์อย่างการดูจากแผนที่อากาศที่คล้ายคลึงกันที่สุดในปีก่อนหน้ากับปัจจุบัน ซึ่งความแม่นยำจะลดลงไป ทำไมพยากรณ์อากาศบ้านเราถึงไม่ค่อยแม่น หลายคนมักจะบ่นการพยากรณ์อากาศบ้านทั้งจากกรมอุตุฯ หรือจากเว็บไซต์ต่างๆ ว่าไม่ค่อยแม่นเลย ทำไมห่วยจัง ต่างประเทศเค้าแม่นกว่าอีก สำหรับความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์สภาพอากาศมาจากปัจจัยดังนี้ครับ ช่วงเวลาที่เราดูการพยากรณ์อากาศ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เรามักจะดูพยากรณ์อากาศล่วงหน้าหลายวัน เพราะเว็บไซต์ต่างๆ สามารถเข้าไปดูได้ แต่หลายคนไม่ทราบว่ายิ่งดูออกไปนานความคลาดเคลื่อนยิ่งสูง ถ้าจะเอาให้แม่นสุดๆ ต้องดูล่วงหน้าสัก 2-3 ชั่วโมงครับ สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อย่างที่ทราบกันว่าเราอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เป็นเขตมรสุม มีพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินยาวติดทะเลทั้งสองด้าน และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเราค่อนข้างซับซ้อน ภูเขา ทิวเขา มีหลากหลายลักษณะ ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้มีความซับซ้อนและเกิดความคลาดเคลื่อนในการพยากรณ์ได้สูงมาก เทคโนโลยีและจำนวนสถานีตรวจอากาศ สำหรับเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ของบ้านเราถือว่าพร้อมพอสมควรนะ และสถานีฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาทั่วประเทศ มีจำนวนถึง 1,114 สถานี (สำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2543) ซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียวนะ แต่ถ้าไปเทียบกับประเทศที่เค้าจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรเพื่อพยากรณ์สภาพอากาศอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยมาก เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการพยากรณ์ว่าฝนตกหรือไม่ตก จึงจำเป็นต้องมีความแม่นยำให้ได้มากที่สุด เค้าจึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีสถานีตรวจอากาศกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดูพยากรณ์อากาศจากช่องทางไหนดี สำหรับช่องทางที่แนะนำสำหรับการดูพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนการเดินทาง คือโปรแกรมของ AccuWeather เลยครับ สามารถดูได้ทั้งบนเว็บไซต์และแอพ แม่นยำและดูง่ายสะดวกมาก สามารถดูแบบละเอียดได้ด้วย Website : www.accuweather.com Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.accuweather.android&hl=th iOS : https://itunes.apple.com/th/app/accuweather-weather-for-life/id300048137?mt=8 ที่มา : ถาม-ตอบ ความรู้อุตุนิยมวิทยา ความรู้อุตุนิยมวิทยา : การพยากรณ์อากาศ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน : วิธีการพยากรณ์อากาศ