การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ นับว่าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายตัวรวดเร็ว แถมผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มไม่แสดงอาการชัดเจนเท่าเมื่อก่อน ทำให้ยิ่งมีโอกาสขยายตัวของเชื้อได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ยอดผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษาจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน แม้ว่าตอนนี้ไทยจะยังไม่มีมาตรการให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองได้ที่บ้าน (Home Isolation) อย่างในประเทศอื่น ๆ เพราะอาจยากต่อการควบคุมและติดตามอาการ แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรอเตียงหลายวัน กว่าจะได้เข้ารับการรักษา ถ้างั้นหากเราเป็นคนหนึ่งที่รู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว จะสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง ระหว่างที่ยังต้องรอเตียงอยู่ที่บ้าน รวมถึงสมาชิกในบ้านจะดูแลช่วยเหลือเราได้อย่างไร วันนี้ mangozero จะสรุปมาให้ฟังกัน Q1 : หลังรู้ผลติดเชื้อโควิด-19 ควรทำอย่างไร ? ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะได้รับแจ้งผลจากทางโรงพยาบาลที่ไปตรวจ เพื่อติดต่อให้รถพยาบาลมารับตัวไปรักษาในขั้นตอนต่อไป แต่ระหว่างที่รอเตียงว่างอยู่ที่บ้าน เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเบื้องต้นบ้างล่ะ มาดูกัน 1. เตรียมเอกสารที่ต้องใช้สำหรับยืนยันตัวตน ได้แก่ บัตรประชาชน, ผลตรวจโควิด-19 2. ขอเบอร์ฉุกเฉินจากทางโรงพยาบาล หากมีอาการน่าสงสัยจะได้ติดต่อได้ทันที ติดต่อหน่วยงานที่ประสานรับเรื่องเตียงรักษาสำรองไว้ด้วย ตามหมายเลขที่กรมควบคุมโรคประกาศ โทร 1330, 1669, 1668 3. งดออกจากที่พัก กักตัวเองในบ้าน 4. แยกห้องนอนและของใช้ส่วนตัว แยกห้องนอนกับครอบครัว รับส่งอาหารผ่านหน้าประตูเท่านั้น เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท (หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้ใช้แผ่นกันห้องแบบพลาสติก แบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้มีระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร) รวมถึงแยกของใช้ส่วนตัว กับผู้อื่นในบ้าน เช่น โทรศัพท์, เสื้อผ้า, เครื่องนอน, จานชาม, แก้วน้ำ และถังขยะติดเชื้อแยกเฉพาะแบบมีฝาปิด (หากไม่มีให้ใช้ถุงพลาสติกมัดปากถุงทุกครั้ง) 5. แยกห้องน้ำ หากสามารถทำได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้เข้าห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกด และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังใช้ทันที Q2 : ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรดูแลตัวเองอย่างไร ? แม้จะได้รับเชื้อโควิด-19 มาแล้วก็อย่าเพิ่งกังวลใจมากไป เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง เพียงรีบตั้งสติลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ให้แข็งแรงทั้งกายและใจ เพราะเมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้แล้ว ก็จะสามารถสู้กับโควิด-19 ได้ไม่ยากเลย ฉะนั้นระหว่างที่อยู่ที่บ้านก็สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้ 1.นอนให้เพียงพอ ในห้องที่ไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก 2.รับประทานวิตามินซีสูง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเต็มที่ รับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอในทุกมื้อ 3.ดื่มน้ำสะอาด งดดื่มน้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็งที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน 4.ออกกำลังกายเบา ๆ หากิจกรรม ทำให้จิตใจแจ่มใส เพื่อลดความเครียดระหว่างที่ต้องกักตัวในห้อง 5.บันทึกอาการตัวเองทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคุณหมอ หรืออัปเดตอาการกับคนใกล้ชิดเสมอ หากเริ่มมีไข้ เบื้องต้นให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ, ยาลดน้ำมูก, ยาแก้ไอ ตามคำแนะนำของแพทย์ วิธีเช็ดตัวเพื่อลดไข้ : ควรเช็ดด้วยน้ำสะอาด เช็ดย้อนจากแขนขาเข้าหาลำตัว เน้นบริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกระหว่างเช็ดแขนขา เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดอาการปอดบวม หากมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้าให้อบอุ่นทันที **หากมีอาการ เช่น ไอหนัก, ท้องเสีย, ไข้ขึ้นสูงมากกว่า 38 องศาเซลเชียส, หอบเหนื่อยหายใจลำบากมากขึ้น (หายใจมากกว่า 28 ครั้งต่อนาที) ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลทันที Q3 : ทุกคนในบ้านควรปฏิบัติตัวอย่างไร ? หากคุณเป็นผู้ป่วยที่อยู่บ้านคนเดียว ก็อาจจะจำกัดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่า แต่หากต้องอยู่อาศัยในบ้านกับครอบครัวล่ะ คนอื่น ๆ ภายในบ้าน ที่นับว่าก็เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง จะต้องทำตัวอย่างไรกันบ้าง มาดูกัน 1. ควรล้างมือให้บ่อยครั้งที่สุดด้วยน้ำและสบู่ เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ 2. สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอแม้อยู่ในบ้าน 3. อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร หรือ 1-2 ช่วงแขน 4. งดรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว ให้ตักแบ่งมารับประทานทุกครั้ง หากสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่ ควรกำหนดจุดรับเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง 5. ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือเสมอ เมื่อเสร็จภารกิจต้องถอดหน้ากากอนามัยและถุงมือทิ้งลงถังขยะ ทำความสะอาดมือด้วยน้ำสบู่ทันที Q4 : ทำความสะอาดอย่างไร เพื่อลดการแพร่เชื้อในบ้าน ? นอกจากผู้ป่วยที่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ คนในบ้านเอง แม้จะไม่พบเชื้อก็ยังต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงด้วยนะ รวมถึงการดูแลความสะอาดภายในบ้านด้วยเช่นกัน เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่คนในบ้านเองด้วย ซึ่งก็มีวิธีง่าย ๆ ที่สามารถป้องกันได้ตามนี้เลย 1. ของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ หรือรีโมททีวี : ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90% 2. เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ : ควรแยกซักด้วยผงซักฟอก ตากในแดดจัดจนแห้ง หากเป็นไปได้ให้ซักด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60 – 90 องศาเซลเซียสจะสามารถล้างเชื้อโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น 3. พื้นและเครื่องใช้ผู้ป่วยหรือพื้นที่ที่มีการสัมผัสร่วมกันในบ้าน เช่น ลูกบิดประตู, สวิทซ์ไฟ, เตียง, โต๊ะ : ให้เช็ดล้างด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรท์หรือน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% ที่สามารถหาได้ในบ้าน รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ ในซุปเปอร์มาร์เก็ต สูตรน้ำยาฆ่าเชื้อ : ผสมน้ำยาฟอกผ้าขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน เช็ดบริเวณที่ต้องการทิ้งไว้ 2 นาที จากนั้นเช็ดออกด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด 4. ห้องน้ำ : หมั่นทำความสะอาดหลังใช้ โดยเฉพาะบริเวณโถส้วม, อ่างล้างมือ ด้วยน้ำยาที่มีโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น หรือน้ำยาฟอกขาว 5% หรือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ ในซุปเปอร์มาร์เก็ต สูตรน้ำยาฆ่าเชื้อในห้องน้ำ : ผสมน้ำยาฟอกผ้าขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน ฉีดบริเวณที่ต้องการทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด 5. การจัดการขยะในบ้าน : ให้แยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป และขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ในแต่ละวัน ให้รวมใส่ถุงขยะ 2 ชั้นก่อนนำไปทิ้ง และล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาว เพื่อทำลายเชื้อ ที่มา : สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, ไทยรู้สู้โควิด