category เปิดประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพนี้มีที่มาจากอะไร​ ?

Writer : uss

: 22 กรกฏาคม 2565

ตลอดช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา.. ได้มีอีเวนต์และกิจกรรมมากมายที่มาสร้างความตื่นเต้นให้กับชาวกทม. โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่พูดถึงไม่ได้คงหนีไม่พ้น “กรุงเทพกลางแปลง” ที่ทางกทม.ได้มีจัดฉายหนังกลางแปลงให้เราดูช่วงสุดสัปดาห์ของเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมปลุกกระแสหนังกลางแปลงให้กลับมาอยู่ในกิจกรรมของคนเมืองอีกครั้ง

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่คุ้นเคยกับหนังกลางแปลง เพราะยุคนี้ส่วนใหญ่นิยมซื้อตั๋วดูหนังในโรงภาพยนตร์มากกว่า อีกทั้งหนังกลางแปลงก็ได้ห่างหายจากกรุงเทพฯ ไปอย่างยาวนาน ด้วยมรสุมต่าง ๆ ที่พัดผ่านเข้ามาอย่างมากมาย เลยทำให้หนังกลางแปลงเกือบหายไปจากวงการบันเทิงไทยอยู่หลายครั้ง 

Mango Zero เลยขออาสาพาทุกคนมาร่วมย้อนวันวาน “หนังกลางแปลง” ถึงจุดเริ่มต้นที่มา เบื้องหลังภายใต้ฉากความสุขว่าจะมีเรื่องราวน่าสนใจอะไรบ้าง คนส่วนใหญ่นิยมดูหนังแนวไหน เรามาย้อนเวลากันเลยยย~ 

ในปี พ.ศ.2490

หลังจาก “ยูซิส” ผู้บุกเบิกการฉายภาพยนตร์ในสถานที่กลางแจ้งได้เข้ามาในปี พ.ศ. 2490 จึงเกิดความนิยมการรับชมภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น บวกกับข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ปิด ทำให้คณะหนังเร่ที่เริ่มมีในประเทศไทยเริ่มปรับ และดังแปลงรูปแบบการฉายหนังเพื่อให้คนดูเข้าถึงมากขึ้น เลยนำมาสู่การกำเนิดฉายหนังกลางแปลงมหรสพค่ำคืนกลางแจ้งที่ชาวสยามโปรดปราน 

เครื่องมือตัวแทนทาง “การเมือง”

ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกที่ 2 หนังกลางแปลงก็เริ่มเฟื่องฟูขึ้น สาเหตุมาจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่ถือเป็นประเทศมหาอำนาจในช่วงนั้น แบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย เพราะมีอุดมการณ์ความคิดที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐอเมริกาเป็นทางฝั่งประชาธิปไตย แต่สหภาพโซเวียตมีอุดมการณ์สังคมนิยม

จึงทำให้แต่ละฝ่ายต่างพยายามขยายอิทธิพลอำนาจของฝั่งตนเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและทหาร ส่งผลให้หนังกลางแปลงกลายเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่มีไว้ประชาสัมพันธ์ทางด้านการเมือง

นิยามที่หลากหลาย

ในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีการเรียกชื่อหนังกลางแปลงที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “หนังล้อมผ้า/หนังเร่” คือ เป็นโรงภาพยนตร์ชั่วคราว โดยมีการตั้งจอผ้าสีขาวขนาดยักษ์ ล้อมรั้วด้วยสังกะสี หรือผ้า และเก็บค่าเข้าชมจากคนดู “หนังขายยา” การฉายหนังให้ชมฟรีสลับกับหยุดเพื่อขายสินค้า เช่น บริษัท โอสถสภา เทวกรรมโอสถ ฯลฯ รวมทั้งร้านขายยาในต่างจังหวัด

ต่อมากับ “หนังปิดวิก” เป็นการฉายหนัง 2 เรื่อง หรือมากกว่า โดยเรื่องแรกจะเป็นหนังเต็งที่ถูกเลือกมาเพื่อเป็นไฮไลท์ดึงผู้ชม ตามด้วยเรื่องต่อมาเป็นหนังแถมที่เลือกไว้เผื่อเป็นโบนัสให้ อีกแบบหนึ่งคือ หนังหน่วยงานเป็นการฉายหนังโฆษณา และสารคดี เพื่อโปรโมทจุดเด่น และความน่าสนใจของหน่วยงานนั้น ๆ 

แบบสุดท้ายคือระบบเจ้าภาพ การว่าจ้างจากเจ้าภาพให้ไปฉายตามงานต่าง ๆ เช่น งานวัด, งานศพ, งานประจำปี และงานศาลเจ้า โดยเข้าชมได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย 

3 สิ่งเอกลักษณ์ของหนังกลางแปลง

แน่นอนว่าถึงแม้จะมีหลากหลายชื่อเรียก แต่ก็ย่อมมี 3 สิ่งที่ยังเหมือนกัน และนับว่าเป็นเอกลักษณ์ของหนังกลางแปลงที่ทุกที่ต้องมี ได้แก่

  • หนังกลางแปลงที่ต้องฉายในเวลากลางคืนส่วนใหญ่ โดยอ้างอิงจากวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ๆ 
  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการฉายหนังได้แก่ จอผ้าสีขาวขนาดยักษ์ ลำโพงกระจายเสียง และเครื่องฉายหนัง
  • หนังและนักพากย์ที่เป็นของคู่กันขาดไม่ได้

พื้นที่สีชมพูคืออะไร ?

ถึงแม้ว่าหนังกลางแปลงยุคก่อนจะได้รับความนิยมสูง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะนิยมดู อาจจะเพราะด้วยเรื่องไลฟ์สไตล์ความชอบที่ต่างกันจึงทำให้หนังกลางแปลงไม่ได้ตอบโจทย์กับทุกพื้นที่ ซึ่งภาคอีสานถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ  เหล่ากลุ่มคณะฉายหนังต่างเรียกพื้นที่สามจังหวัดนี้ว่า “พื้นที่สีชมพู” หมายถึง พื้นที่ที่หนังกลางแปลงได้รับความนิยมมากที่สุด

รองลงมาก็จะเป็นแถบภาคกลางที่ให้ความสนใจจากโฆษกเป็นหลัก ซึ่งยิ่งโฆษกมีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งนิยมมาดูมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงต้องโฆษณาหนังต้องสร้างความตื่นเต้นเพื่อทำให้คนสนใจและอยากดูหนังต่อไปจนจบการฉาย จึงทำให้หนึ่งในจังหวัดภาคกลางอย่างสุพรรณบุรีมีคณะกลางแปลงเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยเหมือนกัน

หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้

หนั่งในบุคคลสำคัญที่เป็นเหมือนกำลังกองหลักในการสร้างสรรค์ และผลิตหนังกลางแปลง นั่นก็คือ นักฉายหนัง มีหน้าที่ในการสร้างหนังกลางแปลงออกมาให้สมบูรณ์ เพื่อสร้างความประทับใจ และประสบการณ์ร่วมให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี

ตั้งแต่การเลือกหนังที่จะต้องอิงไปตามความชอบรสนิยมของคนแต่ละพื้นที่ โดยต้องอาศัยการสังเกต และประสบการณ์ของเราว่าคนจังหวัดนี้ชอบดูหนังแนวไหน ฟังเพลงอะไร ระดับความดังของเสียง อีกทั้งโฆษกก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากกกกกกกกกอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะคือคนที่ทำให้หนังมีชีวิตมากขึ้น 

รวมถึงบางครั้งต้องรู้ลึกในเรื่องของข้อมูลประจำพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้ใหญ่บ้าน สำเนียงการพูด หรือการใช้ชีวิต เพื่อที่จะได้ให้คนรู้สึกว่าเราเหมือนเพื่อนบ้านเขา ไม่ใช่คนอื่นไกลที่มาฉายหนัง ผู้ชมก็จะชื่นชอบ ติดใจ อยากให้มาฉายหนังซ้ำ ๆ อีกหลายครั้ง 

ซึ่งแน่นอนว่า ณ ตอนนั้นก็มีคณะกลางแปลงเพิ่มมากขึ้น การทำการบ้านด้วยข้อมูลที่แน่น และศึกษาผู้ชมในแต่ละพื้นที่นั้นได้อย่างครบถ้วน ก็จะทำให้ไม่เกิดข้อผิดพลาด แน่นอนว่าถ้าเกิดผิดพลาดเพียงครั้งเดียวก็อาจไม่มีการจ้างฉายหนังอีกเป็นครั้งที่สอง เพราะผู้ชมก็จะจ้างตัวเลือกอื่นมาแทนเราได้เหมือนกัน 

นั่งตรงไหนถึงจะคุ้มค่า

หนังกลางแปลงเปรียบเสมือนศูนย์รวมของผู้คนจากระแวกในพื้นที่มาอยู่จุดเดียวกัน โดยผู้ชมจะนัดกันรวมกลุ่มเดินทางไปดูหนัง บางหมู่บ้านก็เช่ารถขนกระบะเพื่อไปดูหนัง ซึ่งสิ่งสำคัญของการดูหนังกลางแปลงอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ การเลือกที่นั่ง เพราะถ้าเราเลือกที่นั่งทำเลไม่ดีก็จะทำให้อรรถรสที่ได้รับจากการดูหนังแตกต่างกันไป

แต่ถ้าเลือกที่นั่งได้ดีเราจะได้รับประสบการณ์การดูหนังกลางแปลงอย่างเต็มที่ โดยที่นั่งที่คุ้มที่สุดคงหนีไม่พ้นบริเวณรอบเครื่องฉายที่จะได้เห็นม้วนฟิล์มกำลังทำงาน เห็นสีหน้าคนพากย์ และเห็นแอคชั่นของโฆษก ที่ผู้ชมหลายคนเรียกที่นั่งระแวกนั้นว่าทำเลทอง 

สุดท้ายแล้วการไปดูหนังกลางแปลง ไม่ได้มีกิจกรรมแค่ดูหนังเท่านั้น แต่ยังมีร้านอาหารที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายให้เราเลือกซื้อกินกันอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งบรรยากาศที่คึกคัก และมีเสน่ห์เฉพาะตัวแบบนี้เอง จึงทำให้หนังกลางแปลงกลับมาฉายในกทม.อีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่โรงภาพยนตร์ไม่สามารถทดแทนความสนุก และให้อรรถรสฉบับหนังกลางแปลงได้ 

 

Writer Profile : uss
ชอบฟังเพลงพอๆ กับชอบนอนหลับ :)
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save