Heartstopper ซีรีส์ที่อบอวลด้วยความรัก และเต็มไปด้วยความเข้าใจ “เราแค่ตกหลุมรักใครสักคนบนโลกใบนี้ และเป็นเธอที่ทำให้หัวใจฉันหยุดเต้น “ หากใครได้ดูซีรีส์ Heartstopper ซีรีส์ LGBTQ+ ที่ออนบน Netflix แทบจะทุกคนที่พูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ”เป็นซีรีส์ที่ดูแล้วอบอุ่นหัวใจ” โดยซีรีส์เรื่องนี้มีการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งกระแสตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี รวมถึงยังได้คะแนน 100% เต็ม จากเว็บไซต์รีวิวซีรีส์และภาพยนตร์อย่าง Rotten Tomatoes ที่คอหนังจะรู้ได้เลยว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ซีรีส์ Heartstopper ดัดแปลงมาจากนิยายการ์ตูน ที่เล่าเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นภายในรั้วโรงเรียนมัธยมชายล้วน มีตัวละครหลักคือ ‘ชาร์ลี’ เด็กหนุ่มที่มักเก็บตัวจากสังคม เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ กับ ‘นิก’ เพื่อนใหม่ที่เข้ามาเปิดโลกให้กับชาร์ลี แต่แล้วเจ้าตัวก็ได้เกิดความสับสนในตัวเองทั้งความสัมพันธ์และความชอบที่ตัวเองมีต่อชาร์ลี ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่เคมีความน่ารักของคู่เอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้สอดแทรกข้อคิด พร้อมแง่มุมต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา หรือความจริงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ผ่านบทและตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมได้รู้และเข้าใจโลกในหลากหลายมุมมองเพิ่มมากขึ้น Mango Zero เลยอยากชวนทุกคนมาร่วมส่องข้อคิดต่าง ๆ ที่ซีรีส์ Heartstopper แฝงไว้กัน ว่าจะมีข้อคิดอะไรบ้างที่ให้เราได้นำมาปรับใช้ในชีวิตของตัวเองได้ มาลองดูกันเลย Bully “สนุกคนพูด ทำร้ายคนฟัง” ในซีรีส์เราจะเห็นตัวละครอย่าง “ชาร์ลี” ที่เปิดตัวเองว่าเป็นเกย์ ซึ่งถูกบูลลี่ในเรื่องนี้จากคนในโรงเรียน รวมถึงถูกกลั่นแกล้ง จนทำให้ตัวของชาร์ลีถูกลดทอนคุณค่า และทำให้ความมั่นใจในตัวเองก็ลดลงตามเช่นกัน จะเห็นได้เลยว่าชาร์ลีรู้สึกผิด และติดพูดขอโทษอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีครอบครัวและเพื่อนที่น่ารักคอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ แต่ชาร์ลีกลับไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย เพราะผลกระทบจากการโดนบูลลี่อย่างหนัก ขณะเดียวกัน “แอล” สาวข้ามเพศในเรื่องซึ่งตัวซีรีส์ไม่ได้บอกมาตรง ๆ ว่าเธอเป็นเพศอะไร แต่อาศัยการตีความจากคนดูเอาเอง โดยเธอได้ย้ายจากโรงเรียนชายล้วนมาโรงเรียนหญิงล้วนเพราะไม่อยากที่จะต้องทนกับคำบูลลี่ของคนในโรงเรียนอีกต่อไป รวมถึงเป็นการเล่าบทบาทของเธอหลังจาก Come Out มาแล้วไปมีชีวิตที่เธอต้องการ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่ว่าให้เรามองเรื่องของคนข้ามเพศ “เป็นเรื่องปกติ” ไม่จำเป็นจะต้องดราม่าหรือต่อสู้เพื่อชีวิตมากมายขนาดนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าทรานส์หลาย ๆ คนก็อยากจะเห็นเพศสภาพของตัวเองบนสื่อไปในทางบวกมากกว่าการที่จะต้องดราม่า และทำให้ชีวิตของสาวข้ามเพศดูน่าสงสารตลอดเวลา ทุกคนจะเห็นได้เลยว่าการบูลลี่คนอื่นให้กระทบกระเทือนจิตใจสามารถทำได้ง่าย แต่เราจะทำกันทำไม ในเมื่อเราควรจะดีต่อกัน มากกว่าจะมาทำร้ายจิตใจกันหรือเปล่า เพราะการกระทำเล็ก ๆ พวกนี้อาจสร้างบาดแผล และปมในจิตใจให้กับคนอื่น หรืออาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิตจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ Toxic Friend “เมื่อเพื่อนไม่โอเค” สำหรับใครที่ไม่ได้มีบ้านเป็น Safe Zone การมีเพื่อนดี ๆ ก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิตแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เราคงขาดไม่ได้ในชีวิตเพราะสุดท้ายมนุษย์ก็คือสัตว์สังคมที่ต้องการใครสักคนเพื่อไว้พูดคุย ไว้เที่ยว ไว้ระบายปัญหาต่างๆในชีวิต แต่บางคนที่รู้สึกว่าเพื่อนคนนี้แปลก ๆ รู้สึกว่าเป็น Toxic Friends จนอยากจะเลิกคบให้รู้แล้วรู้รอด ในเรื่อง “นิค” ก็คือผู้ประสบปัญหานี้เหมือนกัน เพราะกลุ่มเพื่อนของเขานั้นนิสัยไม่โอเคเลย เรียกได้ว่าแย่ขั้นสุด เพราะเพื่อนของเขานั้นทั้งบูลลี่และกลั่นแกล้งคนในโรงเรียน โดยหัวโจกคือ “แฮร์รี” ที่จะคอยเป็นตัวนำในการกลั่นแกล้งคนอื่น ซึ่งช่วงแรก ๆ นิคก็พยายามปล่อยวาง และไม่ได้ไปสุงสิงหรือใส่ใจเพื่อนมากนัก แต่แล้วเพื่อนของเขาก็ได้บูลลี่ “ชาร์ลี” หวานใจของนิคที่ตอนนั้นทั้งสองคนกำลังแอบคบกันแบบลับ ๆ เลยทำให้นิคเริ่มที่จะไม่โอเค จนเริ่มมีปากเสียงกับเพื่อนของเขา ถึงขั้นใช้กำลังกันเลยเพราะนิคไม่สามารถที่จะอดทนเห็นเพื่อนเขาพูดจาแย่ ๆ แบบนั้นกับคนอื่นได้แล้ว สำหรับเรื่อง “เพื่อน” เพื่อนบางคนเข้ามาแล้วจากไป บางคนเข้ามาเพื่อคบกับเราไปตลอด เวลาและสถานการณ์จะทำให้เห็นชัดขึ้นเอง ยังไงก็ขอให้ดูดีๆ เพื่อตัวของเรา เพราะ Toxic Friends บางทีเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ในชีวิต และอย่าไปเสียดายเวลา เสียสุขภาพจิตเพื่อทนคบกันเลย หรือถ้าใครรู้ตัวว่าเป็น Toxic Friends ซะเอง ก็รีบปรับปรุงตัว เป็นคนที่ดีขึ้น เพื่อรักษาคนรอบข้างให้อยู่กับเราไปได้นาน ๆ นะ Coming out “ยังจำเป็นอยู่ไหม” ในช่วงสุดท้ายของซีรีส์เราจะได้เห็นฉาก “นิค” ได้รวบรวมความกล้าทั้งหมดในการ Come out กับแม่ของเขา ว่าเขาไม่ได้ชอบแค่ผู้หญิง เขาชอบผู้ชายด้วย หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นไบเซ็กชวล ซึ่งฉากนี้สร้างความประทับใจให้กับหลาย ๆ คนเหมือนกัน เพราะแม่ของนิคก็มีท่าทีตอบกลับเขาอย่างดี รวมถึงโอบกอดและปลอบลูกรักด้วยความเข้าใจ พร้อมทั้งขอโทษลูก ที่ตัวเองทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดจนไม่กล้าบอกให้เร็วกว่านี้ สำหรับหลายคนที่ยังสงสัยว่า Coming Out คืออะไร วันนี้เรามาหาคำตอบกัน Coming Out เป็นเสมือนการปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเอง ผ่านการสารภาพ และบอกเล่าเรื่องราวให้แก่คนที่เราไว้ใจ และอยากให้เขารู้ถึง “รสนิยมทางเพศของเรา” โดยมาจากวลี Coming Out Of The Closet หรือ “ออกมาจากตู้ ซึ่งหมายถึง การไม่ได้ปกปิดหรือหลบซ่อนอีกต่อไป ถึงการเปิดตัวกับสังคมหรือกลุ่มคนสนิทจะสำคัญ แต่พอมาคิดดี ๆ ดูแล้วเราก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดตัวเกิดขึ้นมาในสังคมมนุษย์ เพราะในเมื่อคนทั่ว ๆ ไปที่รักเพศตรงข้ามก็ยังไม่เห็นต้องไปสารภาพกับใคร แล้วทำไมถึงมีแค่ชาว LGBTQ+ ถึงต้องมาเสียเวลาเปิดตัว และอธิบายการเป็นตัวตนรวมถึงรสนิยมทางเพศกับคนอื่นด้วยล่ะ ? ซึ่งในยุคนี้เชื่อว่าประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนถกเถียงกันอยู่ แต่ด้วยโลกที่เปิดกว้างขึ้นหวังว่าในอนาคตการเปิดตัวจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป และทุกคนควรจะอยู่กันอย่างมีความสุขโดยไม่ก้าวก่ายกัน Talking “ยิ่งพูดคุย ยิ่งรู้จักกัน” เมื่อ “ชาร์ลี” พบเจอปัญหาอะไรเข้ามาในชีวิต เขาก็จะมีเพื่อนและครอบครัวซัพพอร์ตอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในซัพพอร์ตเตอร์ดีเด่นก็ต้องยกให้กับ “คุณครูอาจยี” คุณครูสอนศิลปะที่ให้การสนับสนุน และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาร์ลีมาตลอดในช่วงเวลาเรียน ทั้งให้คำแนะนำและพื้นที่ห้องศิลปะกับชาร์ลีในการหลบตัวซ่อนอยู่คนเดียวจากปัญหาที่เขาเจอ โดยหนึ่งในคำแนะนำของครูสอนศิลปะท่านนี้ที่เรียกได้ว่าทัชใจใครหลาย ๆ คนนั่นก็คือ “ลองไปคุยกับเขาดู การพูดกันตรง ๆ จะดีกว่าในระยะยาว” เป็นคำแนะนำที่ให้กับชาร์ลีที่ตอนนั้นเจ้าตัวกำลังมีปัญหากับนิค แต่ว่าชาร์ลีไม่ยอมที่จะพูดคุย แต่เลือกที่จะหลบหน้าแทน ซึ่งคำแนะนำนี้อาจจะดูเรียบง่าย แต่มันแฝงไปด้วยความหมายลึกซึ้งในประโยค เพราะการที่เราจะคบกับใครสักคนนึงไม่ว่าจะสถานะเพื่อน หรือแฟน ความสัมพันธ์กับการพูดคุยนั้นจะอยู่ควบคู่กันไปตลอด ยิ่งเราพูดคุยกันเราก็ยิ่งรู้จักกันมากขึ้น ได้รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ได้สนิทกันลึกซึ้งมากขึ้น แต่..แน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหาระหว่างความสัมพันธ์ขึ้น เชื่อว่าหลายคนเลือกที่จะเงียบและไม่พูดอะไรออกไป เพื่อให้ปัญหามันจบ ๆ ไป “คำถามคือ แล้วปัญหามันจบจริงหรือเปล่า ? “ ถ้าเราอยากให้ความสัมพันธ์ของเรานั้นมีระยะยาว และเป็นไปได้ด้วยดี เราควรที่จะเปิดใจพูดคุยกันแบบตรงไปตรงมานี่แหละ เพราะอย่างน้อยต่างฝ่ายก็รับรู้ความคิดของอีกคน อาจจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่ก็รับรู้ และพยายามที่จะทำความเข้าใจและปรับไปด้วยกัน เพราะหลายครั้งเลยการเลือกที่จะเงียบ และเก็บเรื่องเหล่านั้นเอาไว้ในใจ พอวันหนึ่งมันระเบิดออกมา บางทีมันอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ให้ความสัมพันธ์กลับมาดีเหมือนเดิมแล้วก็ได้ Understanding “เพราะทุกความสัมพันธ์อาศัยความเข้าใจ” ท้ายที่สุดทุก ๆ ความสัมพันธ์ ทุกตัวละครในซีรีส์ ต่างมีความสุขตามเส้นทางของตัวเอง รากฐานของความสุขนี้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเกิดจากความเข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อเรามีคนรอบข้างที่เข้าใจเรา เราสามารถที่จะแชร์ความสุข และระบายความทุกข์ให้กับพวกเขาได้อยู่เสมอ และถ้าวันนี้ทุกคนมีคนรอบข้างที่เข้าใจในตัวเราอยู่ข้างกายแล้วล่ะก็… รักษาพวกเขาไว้ให้ดี ๆ นะ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีแบบนี้ไม่ได้หาได้ง่าย ๆ เมื่อในทุก ๆ ความสัมพันธ์มันต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าใจกัน สำหรับใครที่ยังไม่เคยดูเรื่องนี้ สามารถดูซีรีส์ Heartstopper ได้ทาง Netflix เล้ยยย!