เช็กสิทธิคุ้มครองแรงงาน เมื่อเราทำงานหนักเกินไป ร้องเรียนอะไรได้บ้าง ? “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” ประโยคฝังหัวที่จดจำแล้วนำไปใช้ไม่ได้ เมื่อทุกปีมีคนตายจากการทำงานหนักหลายแสนคน และยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน โดย WHO เปิดเผยว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนัก อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกและโรคหัวใจ ซึ่งล่าสุดก็มีข่าวที่น่าเศร้าใจ เมื่อ “งาน” ได้คร่าชีวิตหนึ่งไปอีกครั้ง แม้เราจะรู้ดีกว่าพื้นฐานการทำงานคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน บ้างก็ทำ 5 วัน หรือ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถเลี่ยงการทำงานหนักหรือเกินเวลาได้ ส่งผลไปถึงสภาพร่างกายและจิตใจที่รู้ตัวอีกทีก็ยากจะแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะหมดไฟ เครียด ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย หรือการเสียชีวิตไปโดยไม่ทันร่ำลา แต่การทำงานก็มีขอบเขตโดยกฎหมายเพื่อไม่ให้เราทำงานหนัก(จนเกินไป) ให้รู้ไว้ใช่ว่า หากไม่เป็นไปตามก็สามารถแจ้งเรื่องหรือดำเนินการฟ้องร้องกับกรมแรงงานได้ แล้วตอนนี้เรากำลังทำงานหนักเกินไปไหม ? นายจ้างกำลังละเมิดสิทธิเราหรือไม่ ? มาสำรวจสิทธิคุ้มครองแรงงานไปพร้อมกัน! ปล.เป็นการสรุปบางข้อของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน / กองทุนเงินทดแทน ไม่ใช่ข้อกฎหมายทั้งหมดนะฮะ สำหรับชั่วโมงการทำงาน จะสามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ งานทั่วไป ต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็น 9 ชั่วโมง รวมพักกลางวัน (แล้วแต่บริษัท) ขณะที่ งานที่อันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง จะต้องไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และ 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยถ้าต้องมีการทำงานล่วงเวลา (OT) นายจ้างต้องมีการบอกกล่าว พูดคุยและได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ซึ่งชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม.ต่อสัปดาห์ รวมถึงควรมีค่าล่วงเวลา ดังนี้ ในวันทำงานปกติ >> ต้องได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง หรือจำนวนผลงาน ในวันหยุดนอกเวลางานปกติ >> ต้องได้ 3 เท่าของค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือจำนวนผลงาน ในวันหยุดตามเวลางานปกติ >> ต้องได้จำนวน 1 เท่าของค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือจำนวนผลงาน ทางด้านการลาก็มีหลายประเภทการลาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นลาป่วย ที่กำหนดวันตามนโยบายของแต่ละบริษัท (ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 30 วันไม่เกิน) โดยไม่มีการหักเงิน , ลากิจไม่น้อยกว่า 3 วัน (อาจมีหลักฐานยืนยัน), ลาคลอดรวมตรวจครรภ์ / ฝากครรภ์ นับรวมวันหยุดระหว่างลาต้องไม่เกิน 98 วัน รวมถึงลาพักร้อน ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี สำหรับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี นอกจากนี้ การ “ลาทำหมัน” พนักงานก็ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ โดยอาจมีใบรับรองแพทย์มายืนยันด้วย ทุกปัญหามีลาออก.. แล้วถ้าไม่ต้องการทนอยู่ “ลาออก” ได้ทันทีไหม ? ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและกฏที่ระบุไว้ หากไม่มีกำหนดระยะเวลาล่วงหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุ สามารถแจ้งและออกได้เลย แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะให้แจ้งก่อนหน้าประมาณ 30 วัน ซึ่งถ้าใครไปแจ้งลาออกแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ ขอบอกว่านายจ้างไม่มีสิทธิ์ไม่อนุมัติการลาออกของพนักงาน เราอาจจะกำลังโดนเอาเปรียบอยู่เด้!!! ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พนักงานจะต้องได้รับค่าชดเชยภายใน 3 วัน (หลังจากเลิกจ้าง) ซึ่งเขาก็จะแบ่งค่าชดเชยตามอายุงาน ดังนี้ ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ค่าชดเชย 30 วัน ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ค่าชดเชย 90 วัน ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ค่าชดเชย 180 วัน ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ค่าชดเชย 240 วัน ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี ค่าชดเชย 300 วัน ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ค่าชดเชย 400 วัน และนอกจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ก็ยังมีกรณีอื่นๆ อย่างอุบัติเหตุจากการทำงาน ได้รับบาดเจ็บ หรือพิการ ไปจนถึงเสียชีวิตจากการทำงาน โดยทางบริษัทต้องแสดงความรับผิดชอบตามกฎหมาย อ้างอิงตามพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน ๒๕๖๑ ได้ ดังนี้ หากทุพพลภาพจากการทำงาน ผู้เสียหายจะต้องได้รับค่ารักษาพยาบาล และค่าทดแทนจำนวน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่น้อยกว่า 15 ปี กรณีเสียชีวิตจากการทำงาน ครอบครัวหรือทายาทผู้เสียชีวิตจะต้องได้รับค่าทำศพ และค่าทดแทนในอัตรา 70% ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 10 ปี โดยต้องพิสูจน์ได้จริงว่าเป็นการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก ช่องทางการร้องเรียน เว็บไซต์ของกรมแรงงาน เว็บไซต์อื่นๆ เช่น สำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี, กระทวงมหาดไทย สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ หนังสือหรือจดหมายร้องทุกข์ สายด่วนกรมแรงงาน 1506 ที่มา ปันโปร, HRNOTE asia, JobsDB, Samphaolom