ถึงประเทศเราจะเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว (อันนี้ที่จริงประเทศเราก็เป็นหน้าร้อนทั้งปีอยู่แล้ว..) แต่ที่ญี่ปุ่นตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิที่อากาศอบอุ่นกำลังดี ส่วนหน้าร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ไปจนถึงเดือนกันยายน ที่อากาศจะเริ่มเย็นลงและกลายเป็นฤดูใบไม้ร่วง แน่นอนเราคุ้นเคยกับกิจกรรมหน้าร้อนแบบไทยๆ มาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นกินข้าวแช่ จกข้าวเหนียวมะม่วง ใส่เสื้อฮาวายออกไปปะแป้งเล่นน้ำกันอย่างเมามัน แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว หน้าร้อนของเขาเป็นยังไงและสนุกกันแค่ไหน จะสู้สงกรานต์ไทยได้ไหมนะ? ฤดูกาลแห่งแมลง หากถามชาวญี่ปุ่นว่าสัญลักษณ์อะไรที่แสดงว่าหน้าร้อนมาถึงแล้ว สิ่งที่พวกเขาจะตอบก็คือ เสียงร้องของเหล่าจักจั่นยังไงล่ะ! (หรือบางคนก็จะตอบว่าร้อนขนาดนี้แล้วแกยังไม่รู้อีกเหรอว่ามันฤดูอะไร) แมลงส่วนใหญ่นั้นมาเดบิวต์เข้าวงการกันในช่วงหน้าร้อน เพราะพวกมันไม่สามารถมีชีวิตอยู่หรือออกมาหากินได้ตลอดฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ ดังนั้นเมื่ออากาศอุ่นลงจึงเป็นสัญญาณเริ่มต้นความสนุกสนานของแมลงนานาพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นจักจั่น ด้วง เต่าทอง หิ่งห้อย ไปจนถึงยุงเองก็ชุกชุมในญี่ปุ่นช่วงหน้าร้อนเช่นเดียวกัน แมลงชุมขนาดนี้ ปิดเทอมฤดูร้อนเลยเป็นฤดูกาลล่าแมลงของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กลับบ้านหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็จะต้องมีไอเท็มคู่กายเป็นสวิงไว้เหวี่ยงจับแมลงที่อยากได้ และกล่องพลาสติกใสไว้ใส่แมลงที่จับได้มาอวดเพื่อน เด็กหลายคนเลือกเอาการจับแมลงมาศึกษาเป็นการบ้านปิดเทอมฤดูร้อน และเด็กญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็หลงใหลการสะสมแมลงจนกลายเป็นงานอดิเรกจริงจัง รวมไปถึงนายทาจิริ ซาโตชิ ผู้เอาแนวคิดของการสะสมแมลงมาสร้างเป็นเกม “โปเกมอน” ส่วนผู้ใหญ่นั้นก็สนุกกับกิจกรรมนี้ได้ไม่ต่างกันเพราะแมลงหายากบางตัวก็มีราคาประมูลกันสูงถึงหกเจ็ดหลักเลยทีเดียว ฤดูกาลแห่งทะเล ประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนกับประเทศไทยตรงมีพื้นฐานภูมิอากาศห่างไกลนรกภูมิกว่าเรามาก ทะเลญี่ปุ่นไม่ใช่สถานที่ที่อกหักมาแล้วจะไปแช่น้ำประชดรักเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะจะหนาวจนแข็งตายเสียก่อน ทะเลและชายหาดหลายๆ ที่จึงถูกปิดไว้โดยปกติ ก่อนจะมีพิธีเปิดหาดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีเมื่อเข้าฤดูร้อน การไปทะเลของชาวญี่ปุ่น (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นประเทศที่มีทะเลล้อมรอบ..) นั้นเป็นเรื่องใหญ่ หลายบ้านขนของไปเป็นคันรถและอยู่ที่นั่นเป็นสัปดาห์ เดือน หรืออาจจะตลอดปิดเทอม เรียกว่าเปิดเทอมกลับมาก็เกรียมแดดกันไปเป็นแถบๆ ทะเลยอดฮิตก็หนีไม่พ้นโอกินาวะ และบรรดาเกาะทางใต้อื่นๆ ซึ่งจะคึกคัก เต็มไปด้วยห้างร้านและกิจกรรมมากเป็นพิเศษ บ้านไหนทุนหนาหน่อยก็อาจจะเลือกไปถึงฮาวาย ส่วนหลายบ้านที่ทุนไม่มากแต่ก็อยากสัมผัสน้ำบ้างก็อาจจะเลือกไปเที่ยวบรรดาทะเลเทียม หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ ซึ่งก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนไม่แพ้ทะเลจริงเลยทีเดียว ฤดูกาลแห่งเทศกาล ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยงานเทศกาล (มัตสึริ) โดยตัวกิจกรรมและวันเวลาที่จัดก็จะแตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ เช่นในจังหวัดที่ติดทะเลบางที่ก็จะมีการล่องเรือที่ประดับประดาไปด้วยโคมไฟ บางสถานที่ก็มีเทศกาลแห่ศาลเจ้า เทศกาลระบำอาวะในโทคุชิมะ เทศกาลระบำเอสะที่โอกินาวะ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าศึกษาและจัดตารางไว้ดีๆ คุณอาจได้เที่ยวชมทุกเทศกาลตลอดหน้าร้อนเลยล่ะ ถึงตัวกิจกรรมจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่เทศกาลญี่ปุ่นก็จะเหมือนๆ กันตรงที่ชาวญี่ปุ่นจะสวมชุดยูกาตะ หรือชุดจินเบย์มาร่วมงาน โดยในงานก็จะมีพ่อค้าแม่ขายมาออกร้านกันขวักไขว่ ทั้งร้านขนม อาหาร ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ ไปจนถึงซุ้มเกมชิงรางวัลสนุกๆ ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวมัตสึริที่ญี่ปุ่นก็อย่าพลาดการกินยากิโซบะหรือทาโกะยากิอร่อยๆ ลองชิมบรรดาผลไม้เสียบไม้เคลือบน้ำตาล ลองเล่มเกมงานวัดญี่ปุ่นแบบเกมตกลูกบอลหรือช้อนปลาทองกลับบ้านสักสองสามตัว และอย่าลืมซื้อหน้ากากลายตัวการ์ตูนมาใส่สนุกๆ ด้วยล่ะ ฤดูกาลแห่งดอกไม้ไฟ ดอกไม้ไฟ (ฮานาบิ) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แทบจะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับเทศกาลต่างๆ ในญี่ปุ่น การได้นั่งชมดอกไม้ไฟในตำแหน่งดีๆ ในหน้าร้อนนั้นเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะพลาดไปไม่ได้ เหมือนการนั่งชมดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิเลย นอกจากดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่มีจุดบนฟากฟ้าในงานเทศกาลแล้ว พวกเด็กๆ ก็ยังนิยมซื้อดอกไม้ไฟเล็กๆ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ไฟหนู ซึ่งจุดแล้วจะหมุนปั่นอยู่บนพื้น, วี้ดบึ้ม, ดอกไม้ไฟจรวด, ดอกไม้ไฟเชือก, ประทัด หรือไฟเย็นมาเล่นกันอย่างสนุกสนานด้วย งานดอกไม้ไฟที่จะพลาดไม่ได้ก็คืองานเทนจินที่โอซากะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสุดยอดเทศกาลของญี่ปุ่นเคียงคู่มากับเทศกาลคันดะในโตเกียว และเทศกาลกิองที่เกียวโต ส่วนงานดอกไม้ไฟที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็คือเทศกาลดอกไม้ไฟแม่น้ำสุมิดะในโตเกียว ฤดูกาลแห่งเรื่องผี หนึ่งในเทศกาลใหญ่ที่สุดในฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นก็คือ โอบ้ง หรือวันพระใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่เชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมเยียนลูกหลาน แต่ละบ้านก็จะมีการจุดธูปจุดโคมจัดอาหารไว้ต้อนรับ ส่วนในเมืองก็จะมีงานรื่นเริงและการแสดงต่างๆ มากมาย เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่วงที่ผีจะชุกชุม บวกกับเป็นช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ มักจะนัดกันไปเที่ยวค้างแรมตามที่ต่างๆ ซึ่ง.. เด็กญี่ปุ่นก็เหมือนเด็กไทยครับ ถ้านอนด้วยกันหลายๆ คนแล้วไม่รู้จะคุยอะไรกัน ก็ต้องคุยเรื่องผี แชร์ประสบการณ์ขนหัวลุกกับพี่ป๋องกันอย่างช่วยไม่ได้ เป็นวิธีแก้ร้อนโดยการทำให้หนาวสันหลังจนอาจถึงกับจับไข้หัวโกร๋น ถ้าจะเล่ากันอย่างจริงจัง ชาวญี่ปุ่นก็มีการละเล่นชื่อ “เฮียคุโมโนกาตาริ” ซึ่งเป็นการล้อมวงรอบเทียนแล้วผลัดกันเล่าเรื่องผีคนละเรื่องตลอดคืนไปจนครบ 100 เรื่อง โดยเชื่อว่าเมื่อครบ วิญญาณก็จะออกมาจริงๆ แต่ก็ไม่เคยมีใครออกมารีวิวนะว่าเล่นจบแล้วมีผีจริงไหม หรือแม้แต่เคยเล่นจบโดยไม่หลับไปก่อนไหม นอกจากการเล่าเรื่องผี เด็กบางกลุ่มที่ใจกล้า (หรือมีคนที่ใจกล้าโดยไม่ถามเพื่อนๆ ว่าแกกล้าด้วยไหม) ก็จะทำการ “ทดสอบความกล้า” (คิโมดะเมชิ) กัน โดยก็มีหลายรูปแบบตามความเชื่อแต่ละที่ เช่นจับคู่กันเดินผ่านป่า สุสาน หรือบ้านร้าง ซึ่งบางสถานที่ก็มีการจัดกิจกรรมทัวร์ทดสอบความกล้าไว้ให้แบบสำเร็จรูปเลย สนุกกันเข้าไป! ฤดูกาลแห่งแตงโม หากพูดถึงผลไม้หน้าร้อนสำหรับประเทศไทยก็ต้องเป็นมะม่วง แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นก็ต้องเป็น “แตงโม” (ซุยกะ) เย็นฉ่ำผลใหญ่ๆ หั่นเป็นซีกพอดีมือ โรยเกลือนิดหน่อย ก็ทำให้วันที่ร้อนอบอ้าวกลายเป็นชื่นใจได้แล้ว ซึ่งนอกจากแตงโมที่เป็นผลๆ แล้ว ในช่วงนี้ของปี แบรนด์อาหารต่างๆ ก็จะเข็นผลิตภัณฑ์รสแตงโมออกมาขายกันเพียบ นอกจากจะเอาไว้กินแล้ว แตงโมยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของกิจกรรมฮิตที่คนญี่ปุ่นต้องทำเมื่อไปทะเลในหน้าร้อน นั่นคือเกมปิดตาตีแตงโม หรือ “ซุยกะวะริ” ซึ่งจะเอาแตงโมวางไว้ที่ชายหาด แล้วให้ผู้เล่นที่ถูกปิดตาหมุนตัว 3 รอบถือไม้เดินไปฟาดแตงโมให้แตก โดยอาศัยเสียงบอกใบ้ของเพื่อนๆ การละเล่นสนุกๆ นี้ฮิตกันถึงขั้นสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นต้องก่อตั้งสมาคมตีแตงโมญี่ปุ่นขึ้นมาเพื่อบัญญัติกฎกติกาในการเล่นตีแตงโม อย่างผู้ตีต้องอยู่ห่างจากแตงโม 5-7 เมตร ไม้ตีต้องหนาไม่เกิน 5 ซม. ยาวไม่เกิน 1.2 เมตร แตงโมต้องเป็นแตงโมในประเทศที่สุกได้ที่ ผู้ที่จะมาเป็นกรรมการต้องกินแตงโมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ลูกในปีนั้นๆ (กฎบ้าอะไรเนี่ย!) ไปจนถึงให้ตรวจสอบว่าผู้แข่งขันปิดตาสนิทดีหรือยังโดยแกล้งทำแบงก์หมื่นเยนตกตรงหน้า.. และอื่นๆ อีกมากมาย ฤดูกาลแห่งการ์ตูน ถ้าคุณเป็นคอการ์ตูน หน้าร้อนของทุกปีก็คือสังเวียนที่คุณจะต้องไปสู้รบกับคนอีกนับแสนที่มารวมตัวกันเพื่อซื้อขายการ์ตูนทำมือ “โดจินชิ” หรือ “คอสเพลย์” เป็นตัวการ์ตูนที่คุณรักกันในอีเวนต์โดจินชิที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากงาน คอมิก มาร์เก็ต หรือที่รู้จักกันย่อๆ ว่า “คอมิเกะ” เทศกาลนี้จัดปีละสองครั้ง คือคอมิเกะฤดูร้อน (นัตสึโคมิ) ในช่วงเดือนสิงหาคม และคอมิเกะฤดูหนาว (ฟุยุโคมิ) ในช่วงเดือนธันวาคม ณ โตเกียวบิ๊กไซต์ ศูนย์จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ครั้งละสามวันเท่ากัน แต่ว่าในฤดูร้อนจะได้ความนิยมกว่าด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง แฟนการ์ตูนชาวไทยที่อยากลองไปสัมผัสบรรยากาศคอมิเกะของแท้ถึงญี่ปุ่นสักครั้งก็ต้องเตรียมตัว ทั้งเพราะมีกฎข้อบังคับต่างๆ มากมาย คนมหาศาลภายในงานทั้งผู้เข้าชม เซอร์เคิล คอสเพลเยอร์ ตากล้องและอื่นๆ และที่สำคัญที่สุดก็คืออากาศร้อนๆ ที่อาจทำให้คุณเป็นลมได้ถ้าไม่เตรียมตัวไปอย่างดี นอกจากอีเวนต์การ์ตูนใหญ่ๆ แล้ว ฤดูร้อนยังเป็นฤดูกาลที่อนิเมะชั้นเยี่ยมมาจ่อออกอากาศมากที่สุด เพราะเป็นช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ ดูการ์ตูนได้เยอะ ในโรงภาพยนตร์เองก็เต็มไปด้วยภาพยนตร์อนิเมะฟอร์มยักษ์ที่พร้อมมารีดเงินในกระเป๋าเราไม่ให้เหลือไปถึงเปิดเทอม ฤดูกาลแห่งอะไรอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบออกไปเผชิญคนมหาศาลที่ทะเลหรืองานเทศกาล และก็ไม่ได้รู้สึกสนุกไปกับการล่าแมลง แต่ถึงกระนั้นฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นก็ยังมีเรื่องสนุกๆ รออยู่อีกมากมาย ทั้งเทศกาลดนตรี การเข้าค่ายฝึกของชมรม และการรวมกลุ่มติวหนังสือกับเพื่อน ถึงจะอยู่บ้านคุณก็ยังสัมผัสบรรยากาศของหน้าร้อนได้ เพียงแขวนกระดิ่งลม (ฟุริน) เอาไว้เหนือคานบ้านแล้วฟังเสียงกรุ๊งกริ๊งๆ ของมัน หรือสำหรับสายกิน ก็มีเมนูอาหารที่จะพลาดไม่ได้อย่างโซบะเย็น หรือน้ำแข็งไสคาคิโกริ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนๆ หน้าร้อนก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสรรหาความสุขสนุกสนานมาบรรเทาความทุกข์ทรมานจากแสงแดดจ้าและอากาศที่อบอ้าวกันทั้งนั้น ใครปกติเอาแต่เก็บตัวในบ้าน ปีนี้ลองออกไปสนุกสนานซึมซับบรรยากาศหน้าร้อนกันนิดหน่อยก็เป็นความคิดที่ไม่เลวนะ แต่ก็ต้องระวังอย่าสนุกเกินพอดี ระวังอันตรายที่เกิดจากความร้อนและแสงแดดไว้ด้วยนะ จะได้มีชีวิตอยู่รออากาศหนาวในคราวต่อๆ ไป อ้างอิง — Beaches in Japan, A Starter’s Guide to enjoying Summer Festivals in Japan, Fireworks in Japan, Hyakumonogatari Kaidankai, Suikawari – Wikipedia, Comiket – Wikipedia