หากใครชื่นชอบดูโทรทัศน์เมื่อสองสามปีที่แล้ว ก็คงจำโฆษณายาสีฟันยี่ห้อหนึ่งที่มีจุดเด่นเป็นนักข่าวโผล่มาจากไหนสักที่เพื่อสัมภาษณ์คนกำลังแปรงฟันอยู่กันได้ การโผล่เข้ามาจากที่ไหนไม่รู้ของนักข่าวสาวดูเป็นเรื่องตลกขบขันในวันนั้น วันนี้กลับพบว่าเราก็ทำเหมือนนักข่าวแบบนั้นได้ ขอแค่มีอุปกรณ์ อย่างโทรศัพท์มือถือที่มีทั้งกล้องหน้าและหลัง สัญญาณอินเทอร์เน็ตดีๆ สักนิด ติดไมค์อีกสักหน่อย ก็สามารถแปลงร่างเป็นนักข่าวภาคสนามพร้อมลุยได้ทันที การที่ใครๆ ก็สามารถทำข่าวได้ด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเสียง รูปภาพ หรือแม้แต่การไลฟ์สด สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “MOJO” (Mobile Journalism) ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสิ่งทรงพลังถึงขั้นเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำสื่อ หรือเสพย์สื่อกันเลยทีเดียว วิธีการทำข่าวเป็นยังไง อุปกรณ์อะไรบ้างที่จำเป็น วันนี้ Mango Zero จะพาไปดูกัน MOJO คืออะไร MOJO หรือชื่อเต็มคือ “Mobile Journalism” เป็นรูปแบบหนึ่งของการถ่ายทอดเรื่องราวบนโลกออนไลน์ ด้วยการใช้อุปกรณ์พื้นฐานไม่กี่ชิ้นในการสร้างและตัดต่อ มีเครื่องมือหลักๆ คือ “สมาร์ทโฟน” หรืออาจมีในบางกรณีที่ใช้แล็ปท็อป หรือกล้อง DSLRs เพื่อความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อได้เปรียบที่โดดเด่นก็คือการทำข่าวที่คล่องตัวและทันเหตุการณ์ได้เลยทันที และเมื่ออุปกรณ์น้อยลง ก็ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายตามไปด้วย ซึ่งความแตกต่างของ Mobile Journalisms (นักข่าวเคลื่อนที่) กับการทำ Vlog หรือ Youtuber ก็คือ MOJO นั้นมีบริษัทสังกัด และการรายงานยังเป็นรูปแบบการนำเสนอข่าวอยู่ จึงเน้นไปที่ความรวดเร็ว จริงจัง ไม่ได้ใส่เทคนิคแพรวพราวเท่าไหร่นัก ทั้งยังนำเสนอในประเด็นที่มีความเข้มข้นและจริงจังมากกว่าแบบอื่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือยังเป็นการรายงานข่าวที่ลดความทางการลง (เล็กน้อย) นั่นเอง ปัจจุบันหลายสำนักข่าวได้มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ MOJO เช่นเดียวกัน โดยสำนักข่าว BBC ได้พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อว่า Portable News Gathering (PNG) ที่สามารถบันทึกเสียง ตัดต่อ ส่งรูปภาพและคลิปวิดีโอไปยังห้องข่าวได้ทันที สำหรับที่ประเทศไทยยังไม่มีสื่อไหนทำอย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านได้มีการอบรมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็น Mobile Journalist อุปกรณ์เสริมในการทำ MOJO นอกเหนือไปจากสมาร์ทโฟนแล้ว อาจมีอุปกรณ์อื่นที่สามารถพกพาได้ และไม่เหนือบ่ากว่าแรงในการใช้งานขณะเคลื่อนไหว อาทิ กล้อง DSLRs ใช้เมื่อต้องการความคมชัดมากกว่าปกติ ไมค์ หรือไมค์เก็บเสียง หากสถานที่ต้องออกภาคสนามเป็นที่ที่มีลมแรง หรือสภาพอากาศแปรปรวน อุปกรณ์ป้องกันความสั่นขณะถ่าย เช่น ไม้ถ่ายรูปเซลฟี่ หรือ Gimball Stabilizer (ไม้กันสั่น) เพราะภาพที่โคลงเคลงไปมาก็ชวนหงุดหงิดใจขณะดูอยู่ไม่น้อย เลนส์ซูมหรือขยายแบบต่างๆ แล็ปท็อป ทำให้ตัดต่อได้สะดวกมากขึ้น แอปพลิเคชันที่จำเป็น สำหรับตัดต่อ Clips: บันทึกวิดีโอที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย สามารถสร้างคำบรรยายได้ด้วยการพูด รวมถึงใส่เพลงเข้าไปเพื่อเพิ่มสีสันได้ ทั้งยังมีอีโมจิและลูกเล่นอื่นๆ อีกด้วย iMovie: แอปพลิเคชันสำหรับตัดต่อคลิป และส่งออกไปยัง Social Network อื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว Snapseed: อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์ที่หลากหลายในการปรับแต่งรูปภาพ ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่เร่งรีบ Ferrite: ใช้เพื่อบันทึกเสียง สามารถเก็บความคมชัดของเสียงได้ค่อนข้างละเอียด สำหรับเผยแพร่เนื้อหา Facebook แพลตฟอร์มที่ค่อนข้างได้รับความนิยมกับวิธีการรายงานข่าวแบบ LIVE Twiter โดดเด่นเรื่องการบอกต่อที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพิมพ์ข้อความและกดส่งแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขได้ YouTube สามารถ LIVE ได้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นการ LIVE แบบเคลื่อนที่ต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 1,000 คน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของชุมชน การที่ใครๆ ก็สามารถทำข่าวได้ด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกของเราอยู่ไม่น้อย ทั้งข่าวสารต่างๆ ที่จะมีความหลายหลายและทันเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องรอสำนักข่าวรายงานอีกต่อไป หรือแม้แต่เหล่านักข่าวที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เร็วและสร้างภาพจำเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่ความตื่นเต้นหรือการเร่งรีบ อาจทำให้ “จริยธรรมในการทำข่าว” ถูกผลักให้มีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ ได้ ดังนั้นก่อนทำข่าวหรือจะเขียนรายงานอะไรให้ผู้อื่นรับรู้ ต้องคำนึงความถูกต้องและความเหมาะสมเสมอ ที่มา: mojo.org,WNIP