Mango Zero

เธอเป็นเหี้ยไรอ่า มารู้จักกับตระกูลของเหี้ยกัน

“เหี้ย” กิ้งก่าชนิดนึงที่ทุกคนรู้จักกันดี มักนิยมเอามาใช้เมื่อต้องการสบถ หรือเป็นคำหยาบแสดงความรู้สึกในใจ รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วตัวเหี้ยนั้นมีหลายประเภท ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ว่าแล้วก็อย่ารอช้า หลีกไป! วันนี้เราจะชวนนนนนนนนนทุกคนมารู้จักกับเหี้ยแต่ละแบบกัน

ก่อนอื่นต้องเล่าคุณลักษณะก่อน เหี้ยที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า ตัวเงินตัวทอง (และตอนหลังได้มีการพูดว่าวรนุชเพื่อความสุภาพ)  เป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ เห็นตัวใหญ่ๆ อย่างนั้น แต่ความจริงเเล้วกระดูกเล็ก มีเกล็ดที่เชื่อมต่อกันทั้งลำตัว มีต่อมน้ำมันช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำเพื่อให้อยู่บนบกได้นานขึ้น มีลิ้นแยกเป็นสองแฉก ใช้สำหรับรับกลิ่นได้หลายเมตร ดำน้ำได้นาน และปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว

สำหรับอาหารนั้น ชอบกินอาหารเน่าเปื่อย เป็นสัตว์กินซากโดยธรรมชาติ แต่ก็มีบางครั้งที่กินสัตว์เป็นๆ ในกระเพาะมีน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดแรงและแบคทีเรียเพื่อย่อยสลายซากเน่าโดยเฉพาะ ถึงขนาดที่ว่าหากเราบังเอิญโดนตั้วเหี้ยกัด อาจถึงขั้นเสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระเเสเลือดได้  ทีนี้เรามาดูประเภทกัน

ตุ๊ดตู่

มีสีส้มหรือสีแดงเข้มตั้งแต่ปลายปากถึงคอเมื่ออายุยังน้อย และซีดลงเมื่อโตขึ้น ถือว่าเป็นสัตว์ที่ตัวเล็กและเชื่องช้าที่สุดในบรรดาตระกูลเหี้ยทั้งหมด ไม่มีพิษภัย  ในประเทศไทยพบได้ส่วนใหญ่ที่จังหวัดกาญจนบุรีไปจนถึงคอคอดกระที่ภาคใต้ กินสัตว์ตัวเล็กๆ อย่าง ทาก แมลง และปู ชอบนอนในโพรงไม้ วางไข่ครั้งละ 20-30 ฟอง และวางได้ 2-3 ครั้งต่อปี

เหี้ยลายดอก

พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ตัวสีดำ ลิ้นสีม่วง สาเหตุที่ชื่อว่าเหี้ยลายดอกก็เพราะมีลายดอกสีขาวหรือเหลือเป็นแถวพาดตัว จัดว่าดุ ใช้หางฟาดศัตรูแล้วกัด เก่งทั้งบนบกในน้ำ หรือกระทั่งปีนต้นไม้ กินได้ทั้งของสดและซากสัตว์ ไม่มีติดว่าจะเป็นสัตว์บก หรือสัตว์น้ำ วางไข่ครั้งละ 15-30 ฟอง แรงกว่านั้นคือลูกสามารถฟักไข่ออกมาเองได้โดยที่ไม่ต้องกก (เป็นเหี้ยที่เก่งมากจริงๆ ) ถือว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

เห่าช้าง

ดุที่สุดในตระกูล ไม่สามารถเลี้ยงในกรงได้ มีลักษณะปากแหลม เกล็ดสั้นแต่ใหญ่ คล้ายๆ หนามทุเรียน  หากเข้าใกล้จะพองคอขู่ หากินบนบก ปีนต้นไม้เก่ง พบอยู่ในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของไทย กินได้ทั้งของสดและของเน่า ไม่ว่าจเป็น ไก่ นก ปลา หรือกบ วางไข่ตามหลุมที่ขุดเป็นโพรง และลูกฟักไข่ได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องกก(เก่งเหี้ยอีกแล้ว)

ตะกวด

ดูเหมือนจะเป็นญาติห่างๆ กับเหี้ย เพราะโพรงจมูกของตะกวดไม่ได้อยู่ใกล้ปลายปากเท่าไหร่นัก ไม่มีลาย สีดำทั้งตัว รวมถึงมีปลายปากทู่กว่า และไม่ดุร้ายเท่า กินได้ทั้งอาหารสดและซากสัตว์ ชอบนอนผึ่งแดด วางไข่ครั้งละ 20 ฟองในฤดูฝน อาศัยอยู่ในป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เช่นเดียวกัน

มังกรดำ

เรียกอีกอย่างว่าเหี้ยดำ ชื่อบ่งบอกขนาดนี้ แน่นอนว่าต้องมีสีดำด้านสนิททั้งตัว ไม่มีจุดด่างหรือลายเลย(แต่บางตัวก็มีบ้างเล็กน้อย)  แม้แต่ลิ้นยังเป็นสีเทาม่วง! ท้องสีเทาเข้ม มักพบได้ที่ชายทะเลหรือเกาะเล็กๆ ทางภาคใต้ของไทย จัดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อุปนิสัยคล้ายกับเหี้ย กินอาหารได้ทุกรูปแบบทั้งสดและซากสัตว์

ที่มา wikipedia