มาทำความรู้จักกับผ้าอนามัย ทำไมผู้หญิงทุกคนต้องใช้

Writer : Patta.pond

: 19 พฤศจิกายน 2562

เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนต้องเคยผ่านช่วงเวลาของการเป็นประจำเดือน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าเม็น ที่นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังสามารถบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของมดลูก และการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

และทุกๆ ครั้งที่มีประจำเดือน ก็ต้องมีอุปกรณ์ซัพพอร์ตอย่าง “ผ้าอนามัย” แม้จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นกับผู้หญิงทุกคน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาของผ้าอนามัยในทุกวันนี้มีราคาค่อนข้างสูง จึงยังเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมของราคา วันนี้เราจะพาไปดูถึงความแตกต่างของผ้าอนามัยชนิดต่างๆ หากไม่ต้องใช้ผ้าอนามัย จะสามารถใช้อย่างอื่นได้หรือไม่

ผ้าอนามัยในอดีต มาจากผ้าซับเลือดในสนามรบ

ก่อนที่จะมีผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยอย่างทุกวันนี้ ผู้หญิงในสมัยก่อนใช้เศษผ้า ผ้าฝ้าย หรือแม้กระทั่งขนสัตว์และหญ้ามาตลอด จนกระทั่งได้มีพยาบาลคนหนึ่งคิดค้นผ้าพันแผลจากเยื่อกระดาษ ที่สามารถซับเลือดจำนวนมากสำหรับใช้ในสงคราม มีพ่อค้าหัวใสได้ยืมความคิดนี้ไปทำเป็นแผ่นอนามัย ตั้งชื่อว่า “Southball”

ต่อมาจอห์นสัน แอนด์ จอห์สัน บริษัทในสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเป็นรุ่นของตนเอง ตั้งชื่อว่า Lister’s Towel ผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง แต่เหล่าสุภาพสตรีเขินอายเกินกว่าที่จะต้องพูดชื่อขณะซื้อ จึงทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น Nupak และไม่ใส่ข้อมูลใดๆ ลงไปแทน

ถึงแม้จะมีผ้าอนามัยจำหน่ายแล้วในตอนนั้น หลายคนก็ยังเลือกที่จะใช้วิถีดั้งเดิมอยู่ เนื่องจากผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าที่มีราคาสูง และหากมีเงินซื้อ ก็จะใช้วิธีการซื้อโดยการวางเงินลงบนกล่องโดยไม่ได้เอ่ยปากอะไร ใช้เวลานานนับหลายปีกว่าการซื้อผ้าอนามัยจะเป็นเรื่องปกติ

ทำไมถึงต้องใช้ผ้าอนามัย

การเกิดประจำเดือน เป็นหนึ่งในกระบวนการสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในทุกๆเดือน แสดงถึงความพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ซึ่งถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่จะฝ่อไปพร้อมกับเยื่อบุมดลูกที่หลุดลอกออกจากผนังมดลูก และขับออกมาทางช่องคลอดกลายเป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง กินระยะเวลาประมาณ 3-7 วันในแต่ละเดือน

เมื่อมีแผล ก็ต้องแปะพลาสเตอร์ป้องกันเชื้อโรค การทำงานของผ้าอนามัยก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะเป็นการซับเลือดไม่ให้เปื้อนเสื้อผ้าขณะทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เพราะในช่วงรอบเดือน เป็นช่วงที่สามารถติดเชื้อทางช่องคลอดได้ง่าย และบางชนิดยังมีฟังก์ชันดับกลิ่นเลือดได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในประเทศไทย ผ้าอนามัยถือว่าเป็นเครื่องสำอางควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2535

ความแตกต่างของแต่ละแบบ

เพราะสรีระของผู้หญิงนั้นไม่เหมือนกันทั้งภายในและภายนอก จึงต้องมีผ้าอนามัยหลายแบบออกมารองรับความต้องการของทุกๆ คน

  • ขนาด : มีตั้งแต่แผ่นอนามัยขนาดบางและเล็ก เพื่อรองรับประจำเดือนในช่วงวันหลังๆ ที่ใกล้หมดแล้ว ไปจนถึงแบบใหญ่ และยาว สำหรับคนที่ประจำเดือนมามาก หรือมาในวันแรกๆ
  • กลางวันกลางคืน : แบบกลางวัน จะมีขนาดสั้นกว่าแบบกลางคืน เพราะเน้นใหได้การเคลื่นไหวที่คล่องตัว ขณะที่แบบกลางคืนนั้นจะมีขนาดยาวเป็นพิเศษ และซึมซับได้เยอะ ป้องกันการซึมเปื้อนขณะนอน
  • มีปีก ไม่มีปีก : แบบมีปีกจะสามารถป้องกันการซึมเปื้อนได้มากกว่า และยึดเกาะกับกางเกงในได้มากกว่าแบบไม่มีปีก
  • แบบอื่นๆ
    • แบบเย็น : เมื่อใส่แล้วจะให้ความรู้สึกเย็นสบาย หากนึกไม่ออกให้นึกถึงตอนทาแป้งเย็น
    • แบบผสมน้ำหอม : สำหรับคนที่ไม่มั่นใจก็สามารเลือกแบบผสมน้ำหอมได้ แต่ต้องระวังแพ้ เพราะมีความบอบบางไม่แพ้ผิวหน้าเราเลยทีเดียว

ทางเลือกอื่นของผ้าอนามัย

ผ้าอนามัยไม่ได้มีแต่แบบเป็นแผ่นเท่านั้น แต่ยังมีแบบอื่นๆ ตามแต่ความถนัดและกิจกรรมที่ต้องทำในวันนั้นๆ

  • แบบสอด มีลักษณะเป็นแท่งสำลีอัดแข็ง และมีเชือกอยู่ที่ปลาย ใช้สำหรับสอดเข้าไปภายในช่องคลอด จึงสามารถเก็บประจำเดือนได้ดี สามารถว่ายน้ำได้
  • แบบถ้วย กำลังเป็นที่พูดถึงในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นกรวยพลาสติก ใช้พับและใส่ในช่องคลอดได้นานถึง 12 ชั่วโมง ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ตามปกติ
  • แบบผ้า สำหรับซัก เนื่องจากผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่มีบางส่วนทำมาจากพลาสติก จึงมีการผลิตผ้าอนามัยรักษ์โลกด้วยการทำแบบผ้า ที่สามารถซักได้ก่อนนำมาใช้ครั้งต่อไป

เพื่อสุขอนามัยที่ดี ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2- 4 ชั่วโมง และเปลี่ยนยี่ห้อเมื่อพบว่ามีอาการแพ้ ที่สำคัญ ผู้หญิงทุกคนต้องผ่านการมีประจำเดือนทุกคน เพราะประจำเดือนไม่สามารถหยุดมีได้ นอกจากในกรณีของการตั้งครรภ์ หรือการเข้าสู่ช่วงวัยทองเท่านั้น ดังนั้นหากพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนควรพบแพทย์ทันที

ที่มา Femmeinternational 

เลือกผ้าอนามัยที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ ใส่สบายหายห่วง -> ของใช้ส่วนตัวสำหรับสาวๆ 

Writer Profile : Patta.pond
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post
8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ COVID-19

8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ COVID-19


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save