เหรียญมีสองด้าน ความเห็นในเรื่องต่างๆ ก็เช่นกัน แต่เคยสงสัยไหม แต่ทำไมเวลามีความเห็นไม่ตรงกับใครก็ตาม ทั้งเราและอีกฝ่ายต่างก็มั่นใจเสียเหลือเกินว่าตัวเองถูกต้อง พร้อมมีเหตุผลที่หนักแน่นมารองรับ ทั้งที่สุดท้ายแล้วความจริงก็มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่จริงแล้ว อาจมีฝ่ายหนึ่งคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองโดยไม่รู้ตัว นั่นก็เป็นเพราะว่าบางครั้งเรามีอคติในการตัดสินใจ (Cognitive Bias) นั่นเอง มาดูกันว่ารูปแบบของการตัดสินใจแบบลำเอียงมีแบบไหนบ้าง
Cognitive Bias คือการตัดสินใจที่คลาดเคลื่อน หรือผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะเราเกิดความคิดเห็นลำเอียงบางอย่างโดยไม่รู้ตัว มักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องใช้การตัดสินใจแบบเร็วๆ หรือไม่ได้ไตร่ตรองมากนัก เพื่อลดภาระการทำงานหนักของสมองในส่วนที่ต้องใช้ความคิดนั่นเอง ซึ่งอคติในการตัดสินใจนั้นมีได้หลากหลายรูปแบบ ทาง Mango Zero จะขอยกตัวอย่างอันสำคัญผู้คนมักเป็นกัน
Cognitive Dissonance
คือการไม่สอดคล้องด้านความคิด เกิดขึ้นเมื่อเราได้หรือต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ จึงต้องคิดหาเหตุผลต่างๆ มาเพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ เช่น เมื่อเราตัดสินใจสั่งซื้อของออนไลน์ แล้วของหมดก่อนที่จะกดสั่งซื้อได้ทัน Cognitive Dissonance ก็จะเริ่มทำงานด้วยการบอกว่า ของสิ่งนั้นอาจไม่เหมาะกับเรา หรือของจริงอาจไม่สวยอย่างที่คิด เพื่อให้ตัวเองสบายใจนั่นเอง
Confirmation Bias
เมื่อความเห็นเกิดแตกไปสองฝั่ง แน่นอนว่าเราต้องเลือกอยู่ฝั่งที่คิดเหมือนเรา Confirmation Bias เกิดขึ้นเมื่อเราเลือกรับฟังเฉพาะข้อมูลที่ตรงกับความเห็น หรือสิ่งที่เราสนใจเท่านั้น และปิดกั้น ไม่ยอมรับฟังความเห็นของอีกฝ่าย ไม่คิดวิเคราะห์เหตุผลที่แท้จริงว่าฝ่ายไหนที่ถูกหรือผิดนั่นเอง
Halo Effect
เป็นการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก ด้วยการคิดว่าถ้าสิ่งนั้นดูดี อย่างอื่นก็ต้องดีไปด้วย เช่น เมื่อเห็นเค้กที่สวยงาม ก็มั่นใจไปแล้วว่าต้องอร่อยแน่ๆ หรือการเจอคนหน้าตาดี ก็คิดไปแล้วว่าต้องนิสัยดีแน่นอน
Bias blind spot
เรามักเห็นข้อบกพร่องของคนอื่นมากกว่าข้อบกพร่องของตนเอง เมื่อคนอื่นทำผิดก็จะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นและสำคัญเหลือเกิน แต่เมื่อตัวเองเป็นบ้าง ก็จะมองว่าเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ทำให้เรื่องราวผิดพลาดที่อีกฝ่ายทำ แม้เพียงเล็กน้อยก็ดูใหญ่มาก ทำให้ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจที่มีต่ออีกฝ่ายมากกว่าเดิม
Availability heuristic
เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนถึงเชื่อมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหลือเกิน ทั้งที่ตามหลักเหตุผลแล้วมันไม่ถูกต้องเอาเสีย นั่นอาจเป็นเพราะเขาเจอข่าวใดข่าวหนึ่งซ้ำๆ แล้วสมองตัดสินไปว่านั่นคือสิ่งที่ดีหรือควรจะเป็น เรียกได้ว่าเขากำลังเกิด Availability heuristic อยู่นั่นเอง สาเหตุเป็นเพราะสมองอยากลดการทำงานหนัก จึงช่วยตัดสินว่าสิ่งที่เรานึกออกได้ง่าย(เพราะเจอบ่อย) เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
Bandwagon Effect
เป็นผลพวงที่เกิดจากการที่เราตามคิดเห็นของคนส่วนมาก แม้ว่าจริงๆ แล้วเราอาจจะคิดเห็นไม่เหมือนเขาเลยก็ตาม แต่เพราะการอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือเพื่อไม่ให้เป็นที่แปลกแยก ทำให้สมองเริ่มคิดเข้าข้างคนหมู่มากว่าถูกต้องไปเลยโดยอัตโนมัติ
Stereotyping
เป็นการใช้หนึ่งคนเหมารวมกลุ่มคนที่เหลือทั้งหมดในแง่ลบ ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย เช่น การบอกว่าชาวเอเชียทุกคนต้องชอบกินข้าวมากกว่าขนมปัง เป็นต้น
วิธีแก้การมีอคติลำเอียง
หากกลัวว่าตัวเองจะเผลอมีการตัดสินใจที่ลำเอียงโดยไม่รู้ตัว ก็สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพียงใช้ความคิดอย่างไตร่ตรองทุกครั้งก่อนตัดสินใจอะไรแต่ละเรื่อง ลองมองอย่างเป็นกลาง หรือคิดในมุมมองของฝ่ายตรงข้ามว่าเขาคิดอย่างไร อาจทำให้เพิ่มปัจจัยของความเป็นไปได้ต่างๆ ทำให้มีความเห็นที่เข้าใจกันและตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น
อคติในการตัดสินใจ อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและลดภาระในการทำงานของสมอง แต่หากใช้งานบ่อยเข้า อาจทำให้กลายเป็นคนตรรกวิบัติ (Fallacy) ได้ในท้ายที่สุด นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอคติในการตัดสินใจเท่านั้น หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้ใน “The Art Of Thinking Clearly” โดย Rolf Dobelli ที่ร้านหนังสือทุกสาขา
ที่มา Medium,The Art Of Thinking Clearly